READING

ความเห็นอกเห็นใจในโลกออนไลน์ (digital empathy) ทัก...

ความเห็นอกเห็นใจในโลกออนไลน์ (digital empathy) ทักษะสำคัญที่ควรสอนลูก gen Z

ความเห็นอกเห็นใจในโลกออนไลน์

ปัจจุบันสังคมออนไลน์มีบทบาทและความสำคัญในชีวิตของคนเราแทบจะไม่น้อยไปกว่าชีวิตจริง เพราะไม่ว่าจะเป็นการเรียน การสอน การติดต่อสื่อสาร หาข้อมูลความรู้ ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม ล้วนจำเป็นที่จะต้องมีสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญทั้งสิ้น

ในขณะที่ผู้คนติดต่อสื่อสารกันง่ายดาย แต่สังคมออนไลน์ก็ยังเต็มไปด้วยการสื่อสารที่ขาดน้ำเสียง สีหน้า แววตา และท่าทาง บ่อยครั้งจึงทำให้หลงลืมไปว่าตัวเองกำลังส่งสารหรือข้อความไปถึงคนที่มีชีวิต จิตใจ และความรู้สึกไม่ต่างกัน

การคิดว่าไม่ใช่คนรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า ไม่มีตัวตน อาจทำให้คนเรากล้าแสดงความคิดเห็นที่ขาดความยั้งคิดและความเห็นอกเห็นใจ จนกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม

ผลสำรวจจาก child online safety index (COSI) ในปี 2020 พบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุ 8-12 ปี กำลังเผชิญกับความรุนแรงในโลกออนไลน์

การเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจึงไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะในชีวิตจริงเท่านั้น เพราะสำหรับโลกออนไลน์ Digital Empathy ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญที่พ่อแม่รุ่นใหม่ควรสอนให้ลูกเข้าใจและนำไปใช้อย่างเหมาะสมนะคะ

Digital Empathy สำคัญอย่างไร

digitalempathy_web_1

ความเห็นอกเห็นใจในโลกออนไลน์ หมายถึง การใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ด้วยพื้นฐานของคนที่มีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น ไม่ต่างจากการใช้ชีวิตในโลกความจริง เช่น ไม่แสดงความเห็นที่รุนแรง คุกคาม หยาบคาย วิพากษ์วิจารณ์ หรือใส่ร้ายให้เสียหาย

การขาด Digital Empathy พบได้ในกลุ่มคนทุกเพศทุกวัยที่ใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย โดยพบมากในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่คิดเร็ว ทำเร็ว พูดเร็ว คึกคะนอง และเนื่องจากยังมีวุฒิภาวะไม่เพียงพอ จึงมักขาดการคิดทบทวนให้รอบคอบ เป็นเหตุให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จและข่าวปลอม โพสต์เสียดสี ล้อเลียนผู้อื่น ใช้คำพูดคุกคาม หรือกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง

แม้ว่าอาจเกิดขึ้นโดยที่เจ้าตัวไม่เจตนา แต่ก็สามารถกระทบกระเทือนจิตใจ ขัดแย้ง หรือความเสียหายในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนอื่นได้

ดังนั้น การสื่อสารอย่างมีมารยาทและความเห็นอกเห็นใจ ปฏิบัติต่อกันในโลกออนไลน์ด้วยความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน จึงเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้เด็กๆ ของเราเติบโตและทำให้พื้นที่ในสังคมออนไลน์น่าอยู่มากยิ่งขึ้น

ฝึกลูกให้มี ความเห็นอกเห็นใจในโลกออนไลน์ ได้อย่างไร

1. สอนลูกให้มีมารยาท ไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรงและหยาบคาย (hate speech) ในอินเทอร์เน็ต

digitalempathy_web_2

สิ่งที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นข้อความ คอมเมนต์ รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มีเนื้อหาเชิงยุยงให้เกิดความเกลียดชัง แบ่งแยก หรือคุกคามผู้อื่น ล้วนจัดเป็นการสร้างความรุนแรงในโลกออนไลน์ได้ทั้งสิ้น

ดังนั้นนอกจากคุณพ่อคุณแม่ควรจะช่วยคัดกรองการเสพสื่อให้กับลูกแล้ว ยังควรสอนให้ลูกรู้ถึงผลลัพธ์ของการสร้าง hate speech หรือข้อความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อผู้อื่น เช่น หากลูกเอาข้อเสียหรือเรื่องผิดพลาดของเพื่อนมาโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย อาจทำให้คนอื่นที่ไม่รู้ความจริงและไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เข้ามาต่อว่าเพื่อนในทางเสียหาย ทำให้เพื่อนเสียใจ และสร้างความแตกแยกระหว่างกลุ่มเพื่อนที่เห็นต่างกันได้

2. สอนลูกให้รู้เท่าทันสื่อ

digitalempathy_web_3

บางครั้งการขาดความเห็นอกเห็นใจในโลกออนไลน์ ก็เกิดจากการได้รับข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง จากการนำเสนอของสื่อ เช่น ข่าวที่ยังไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง สร้างความเข้าใจผิด ทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีจนต้องระบายหรือแสดงความคิดเห็นที่ไม่ดีลงในโซเชียลมีเดีย

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนให้ลูกตรวจสอบข้อเท็จจริง คิด และวิเคราะห์ด้วยตัวเองก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ลงในที่สาธารณะ ไม่ส่งต่อข้อมูลที่ไม่ทราบที่มาชัดเจน และคุณพ่อคุณแม่เองก็ไม่ควรเป็นคนที่เผยแพร่ข่าวหรือข้อมูลที่ไม่มีที่มาหรือไม่สามารถตรวจสอบได้ให้ลูกฟังเช่นกัน

3. สอนลูกให้เคารพความแตกต่าง

digitalempathy_web_4

หากคุณพ่อคุณแม่เห็นความสำคัญของการสอนให้ลูกเคารพความแตกต่างของผู้คนในชีวิตจริงแล้วละก็ ขอให้ไม่ลืมว่า สังคมในโลกออนไลน์นั้นกว้างใหญ่และเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายมากกว่านั้นหลายเท่า ดังนั้น ลูกควรปฏิบัติต่อคนในโลกอินเทอร์เน็ตด้วยความเคารพ ให้เกียรติ และเห็นอกเห็นใจไม่ต่างจากคนในโลกความจริงเช่นกัน

4. สอนให้ลูกเอาใจเขามาใส่ใจเรา

digitalempathy_web_5

หลักการเดียวกับการใช้ชีวิตทั่วไปคือลูกควรได้รับการปลูกฝังให้รู้จักความเห็นอกเห็นใจและเอาใจเขามาใส่ใจเรา เช่น ลองคิดว่าถ้าลูกถูกคนที่ไม่รู้จักกันมาพูดหรือต่อว่าด้วยถ้อยคำเสียหาย ลูกต้องไม่พอใจ เสียใจ และอาจเก็บมาทำร้ายจิตใจตัวเองอยู่นาน ดังนั้น หากลูกเป็นฝ่ายทำกับคนอื่น เขาก็ย่อมรู้สึกเช่นเดียวกัน

5. เมื่อลูกเป็นฝ่ายถูกกลั่นแกล้ง ก็ไม่ควรตอบโต้ด้วยวิธีเดียวกัน

digitalempathy_web_6

หากลูกเป็นฝ่ายถูกกลั่นแกล้ง ทำให้เสียหาย หรือได้รับความอับอายในโลกออนไลน์ เช่น ถูกวิจารณ์หยาบคาย ข่มขู่คุกคาม รวมถึงการถูกแอบอ้างตัวตน สิ่งที่ควรทำไม่ใช้การตอบโต้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกัน แต่ควรรีบบอกคุณพ่อคุณแม่เพื่อขอคำแนะนำและความช่วยเหลือ หากจำเป็นอาจต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำไปแจ้งความและดำเนินคดีเพื่อปกป้องตัวเองต่อไป

อ้างอิง
dqinstitute
Nemours KidsHealth
Common Sense Media
CNN
pobpad

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST