ไม่นานมานี้ เราหลายคนอาจเคยเห็นภาพภาพเด็กผู้หญิงสองคน หน้าตาจิ้มลิ้ม มีส่วนผสมของความเป็นไทยและชาติตะวันตก มองได้จากสีของตา เด็กน้อยทั้งสองถือกระดาษที่มีข้อความเขียนว่า ‘พูดภาษาไทยกับพวกเรานะคะ’ พร้อมด้วยเรื่องเล่าประสบการณ์ ความคิด และมุมมองของคุณแม่เด็กลูกครึ่งไทย-เยอรมันที่โตไกลบ้าน กับความสำคัญของภาษาไทย ที่ถือเป็นภาษาแม่อ่านสนุก จนได้รับการแชร์ในโซเชียลมีเดียไปมากกว่าสองพันครั้ง
และในโพสต์นั้นเองก็มีคุณแม่คนไทยจากหลากหลายประเทศเข้าไปแสดงความคิดเห็น จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้คนได้รู้จักกับเพจเล็กๆ ที่ชื่อ เรื่องเล่าจากหย่งศรี ของ คุณหย่ง—โสภาพร ควร์ซ อดีตนักข่าวสายต่างประเทศ นักแปล ล่าม และคุณแม่ของน้อง เอมม่า-อันนา สองเด็กหญิงลูกครึ่งที่แม้จะเติบโตอยู่ที่อีกซีกโลก แต่เด็กหญิงทั้งสองก็ได้รับการปลูกฝังความเป็นไทย ผ่านการเลี้ยงดูของคุณแม่ที่บอกใครต่อใครได้ว่า “ฉันเป็นคุณแม่ที่พูดภาษาไทยกับลูก” ได้เต็มปากเต็มคำ
โดยทั่วไปธรรมชาติการใช้ภาษาของเด็กที่เติบโตที่ต่างประเทศ หรือเด็กที่มีพ่อแม่พูดต่างภาษากัน
ธรรมชาติของเด็กที่โตเมืองนอกก็จะพูดภาษาของประเทศที่ตัวเองเติบโตได้ดีเป็นอันดับหนึ่งค่ะ เพราะว่าเขาพบเจอ ได้ยิน และได้ใช้ทุกวัน ยกเว้นในกรณีที่พ่อแม่เป็นคนชาติอื่นที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ภาษาในบ้านจะเป็นอีกภาษาหนึ่ง เด็กก็จะพูดภาษาของพ่อแม่ในบ้าน และพูดภาษาท้องถิ่นนอกบ้าน (เช่น คนญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในเยอรมนี เด็กก็จะพูดญี่ปุ่นในบ้าน และพูดเยอรมันเมื่ออยู่นอกบ้าน)
ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน มีความยาก-ง่าย แตกต่างกันอย่างไร
ภาษาอังกฤษกับเยอรมัน ใกล้เคียงกันมากพอสมควร เพราะมาจากตระกูลเดียวกัน โครงสร้างประโยคหลักๆ คล้ายกัน แต่เยอรมัน ยากกว่าหลายเท่า เพราะละเอียดกว่ามาก เยอรมันเป็นภาษาของคนช่างผัน (ล้อเล่นค่ะ)
คำศัพท์ภาษาอังกฤษไม่มีเพศ แต่ภาษาเยอรมันไม่ใช่แค่เพศชาย เพศหญิงเท่านั้น ยังมีเพศกลางอีก ส่งผลให้คำว่า a, an, the ต้องผันตามเพศไปด้วย แค่นั้นยังไม่พอ เมื่อตำแหน่งของคำนั้นๆ ในประโยคเปลี่ยนไป เช่น เปลี่ยนจากประธาน เป็น กรรม กรรมรอง ฯลฯ ก็ต้องผันอีก คือ เรียกว่าจะเขียนภาษาเยอรมันให้ถูกไวยากรณ์เป๊ะ สำหรับคนต่างชาติเป็นเรื่องยากมาก
นี่ยกตัวอย่างเรื่องเดียว ความยาก ซับซ้อน ยังมีอีกมาก เช่นต้องผันตามเวลา (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) ผันตามประธาน (เอกพจน์ พหูพจน์) การใช้บุพบท ฯลฯ แต่ข้อดีของภาษาเยอรมันคือ คำทุกคำออกเสียงตรงตัว ไม่เหมือนภาษาอังกฤษ เช่น sand (ทราย) กับ wand (ไม้กายสิทธิ์) สะกดเหมือนกัน แต่ออกเสียงไม่เหมือนกัน
ส่วนภาษาไทยนั้น แตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะมาจากคนละตระกูลกัน ภาษาไทยเป็นภาษาเสียง การออกเสียงของคำเดียวกันให้ความหมายที่ต่างกัน ดังนั้น การออกเสียงวรรณยุกต์ให้ถูกต้อง จึงสำคัญมาก และนี่ก็คือ ความยากลำบากของคนที่โตมากับภาษาตะวันตก เพราะเขาจะไม่ได้ตระหนักถึงเสียงวรรณยุกต์ ทั้งที่พวกเขาเองก็พูดได้อยุ่แล้ว
ดังนั้นเด็กที่โตมาสองภาษา และเป็นภาษาคนละตระกูลอย่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทยกับภาษาเยอรมัน จะได้เปรียบสูงมาก เด็กที่พูดภาษาไทยได้จะรู้เรื่องการออกเสียงวรรณยุกต์ ถ้าจะไปเรียนภาษาจีนต่อ ก็สบายเลย เพราะภาษาจีนกลางมีวรรณยุกต์แค่ ๔ เสียง น้อยกว่าไทยด้วยซ้ำไป
เด็กที่โตมาสองภาษา และเป็นภาษาคนละตระกูลอย่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทยกับภาษาเยอรมัน จะได้เปรียบสูงมาก
คนเยอรมัน เรียนภาษาที่สองกันอย่างไร
ที่เยอรมนี ภาษาทางการมีภาษาเดียวคือ ภาษาเยอรมัน เอกสารทางการทุกอย่าง ออกเป็นภาษาเยอรมัน ส่วนภาษาอังกฤษ จะเริ่มเรียนในระดับประถม เป็นภาษาต่างประเทศอันดับแรกที่ได้เรียน พอเรียนชั้นสูงต่อไปเรื่อยๆ ก็จะมีภาษาต่างประเทศอันดับที่สองให้เลือกเรียน เช่น ฝรั่งเศส สเปน จีน ญี่ปุ่น ละติน ฯลฯ แล้วแต่ว่าโรงเรียนจะมีอะไรให้เลือก
ส่วนผู้ปกครองก็มีความตื่นตัวด้านภาษาอังกฤษเหมือนกัน มีคอร์สฝึกภาษาอังกฤษให้เด็กๆ เหมือนกัน แต่ว่าไม่บูมเท่าที่เมืองไทยค่ะ
หลายคนบอกว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่ยาก ถ้าจะเรียนควรให้เรียนตั้งแต่ยังเด็ก ก็อาจจะดูแย้งกับกระแสที่พ่อแม่ไทยเริ่มให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษมากกว่า คุณหย่งมองปรากฏการณ์นี้อย่างไรบ้าง
หย่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่คุณพ่อคุณแม่ที่เมืองไทยให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษมากขึ้นนะคะ เพียงแต่อย่าลืมภาษาไทยเท่านั้นเองค่ะ นอกจากนั้น เคยได้ยินมาว่า มีเด็กๆ บางคนที่พ่อแม่ส่งเรียนโรงเรียนนานาชาติตั้งแต่เด็ก จนพูดไทยไม่คล่อง เถียงแม่ค้าไม่ได้ ถ้าจะเถียงเขาต้องพูดภาษาอังกฤษ แล้วแม่ค้าก็ไม่เข้าใจ ฟังแล้วก็สะท้อนใจว่าอย่าให้ถึงขั้นนั้นเลย เพราะภาษาไทยเองก็สำคัญ ถ้าเด็กเกิดและเติบโตที่เมืองไทย แต่พูดไม่ได้อ่านไม่ออก หย่งว่าก็น่าเสียดายนะคะ แทนที่จะมีโอกาสมากกว่าคนอื่นก็กลายเป็นข้อด้อย เพราะอ่านเขียนไทยไม่คล่อง ก็อาจทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนไทยได้ไม่ดีเท่าคนอื่น
จริงๆ การส่งเสริมภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เมืองไทยหรือเด็กที่โตเมืองนอกก็เป็นเรื่องเดียวกัน คือเราอยากให้ลูกได้มากกว่าหนึ่งภาษา แต่ที่สำคัญคือ อย่าละเลยภาษาที่คุณพ่อคุณแม่ใช้สื่อสารกับลูก เพราะถ้าสื่อสารกันไม่เข้าใจ จะเป็นปัญหาครอบครัวในระยะยาวได้
หากบ้านไหนตั้งใจจะจริงจังเรื่องภาษาอังกฤษของลูก อาจให้ผู้ปกครองท่านหนึ่งเสียสละพูดอังกฤษกับลูกไปเลย ลูกก็น่าจะมีแนวโน้มจะพูดอังกฤษได้คล่องค่ะ แต่ในมุมหนึ่ง หย่งก็คิดว่า คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเครียดมากเรื่องนี้ก็ได้ เด็กที่โตมาในยุคสมัยนี้ ยังไงก็ต้องได้ภาษาอังกฤษอยู่แล้ว เพราะสื่อรอบตัว ภาษาคอมพิวเตอร์ทุกอย่างก็เป็นภาษาอังกฤษหมด เขาเรียนรู้กันได้ง่ายและเร็วกว่าสมัยเราเยอะค่ะ
อย่าละเลยภาษาที่คุณพ่อคุณแม่ใช้สื่อสารกับลูก เพราะถ้าสื่อสารกันไม่เข้าใจ จะเป็นปัญหาครอบครัวในระยะยาวได้
สำหรับคนไทยในต่างประเทศ มีการรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนด้านภาษาและวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง
คนไทยในเยอรมนีและยุโรปมีการรวมกลุ่มก่อตั้งเป็นโรงเรียนสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ บางทีอาจจะยังไม่ตั้งเป็นโรงเรียน แต่เป็นกลุ่มเล็กๆ ของคนในละแวกเดียวกันก็มี
ยิ่งในช่วงสิบปีให้หลังมานี้ จะเห็นว่ามีมากขึ้นเรื่อยๆ พ่อแม่คนไทยในต่างประเทศเห็นความสำคัญของภาษาไทยมากขึ้น มีความกระตือรือร้น รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนกัน เชิญครูอาจารย์จากเมืองไทยมาเป็นวิทยากรให้คุณแม่ และเวียนกันไปตามเมืองต่างๆ ประเทศต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน
มีการก่อตั้งสมาพันธ์ครูภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในเยอรมนี (เพิ่งก่อตั้งได้สองปี) สมาพันธ์ครูภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในยุโรป (ปีหน้าจะครบสิบปี) และโรงเรียนในท้องถิ่นอีกมากมายกระจายทั่วยุโรปและคิดว่าที่ทวีปอื่นก็ต้องมีค่ะ
เห็นว่าคุณหย่งพยายามปลูกฝังรายละเอียดการใช้ชีวิตแบบไทยๆ ในการเลี้ยงลูกที่ต่างประเทศ อยากให้เล่าเรื่องนี้หน่อยค่ะ
หย่งไม่ได้ทำอะไรมากเลยค่ะ นอกจากพูดภาษาไทยกับลูก แล้วก็สอนให้เขาพูดสวัสดีค่ะ ขอบคุณค่ะ
สวัสดีนี่สอนตั้งแต่ลูก ๗-๘ เดือน คือ พอเขาคอแข็ง นั่งหลังตรงได้แล้ว เวลามีคนไทยมาหาที่บ้าน เราก็จะอุ้มลูกไปที่ประตู จับมือเขาแปะเข้าด้วยกันเป็นท่าพนมมือ แล้วก็โยกตัวเขาไปข้างหน้า แล้วก็บอกว่า สวัสดีค่า เหมือนกับว่าเขาได้สวัสดี ทำอย่างนี้ทุกครั้ง เพราะครึ่งหนึ่งลูกก็เป็นคนไทย อยากให้มือไม้อ่อน เจอผู้ใหญ่ต้องรู้จักไหว้ ได้รับของต้องรู้จักขอบคุณ อยากให้ลูกเป็นที่รักของคนอื่นด้วย ไม่ใช่แต่พ่อแม่อย่างเดียว
ทุกวันนี้ลูกรู้จักสวัสดีค่ะ ขอบคุณค่ะ และยกมือไหว้ด้วย ส่วนจะทำทุกครั้งหรือไม่ ก็แล้วแต่อารมณ์ค่ะ บางทีเขินมากๆ เขาก็ไม่ทำ เป็นที่น่าอายของแม่ค่ะ (หัวเราะ)
ส่วนพวกเรื่องนาฏศิลป์ไทย เครื่องดนตรีไทย ชุดไทย ยังไม่ค่อยได้ทำอะไรเลยค่ะ ก็หวังว่าถ้าลูกโตขึ้นอีกหน่อย เห็นว่ามีค่ายอบรมรำไทย เครื่องดนตรีไทย ในช่วงปิดเทอมก็อยากจะพาไปลองบ้างเหมือนกันค่ะ
คุณหย่งเองเป็นเด็กไทย เติบโตในเมืองไทย เรียนโรงเรียนไทย แต่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี คิดว่าเกิดจากอะไร
การที่หย่งใช้ภาษาอังกฤษได้ดีนั้น คิดว่าเป็นเพราะหนึ่ง เห็นความสำคัญ และสอง ได้ฝึกฝนค่ะ .
ตอนมัธยมต้น สมัยนั้นการส่งลูกไปเรียนซัมเมอร์ที่ต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ กำลังบูม พอจบ ม. ๑ ขึ้น ม. ๒ คุณพ่อคุณแม่ก็ส่งหย่งไปสิงคโปร์
หย่งต้องไปอยู่ที่บ้านโฮสต์แฟมิลี่ที่เป็นชาวสิงคโปร์ แล้วก็ไปเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนนานาชาติแถวนั้น ตอนนั้น ภาษาอังกฤษของหย่งถือว่าดี เมื่อเทียบกับเพื่อนวัยเดียวกัน เพราะหย่งเรียนประถมที่โรงเรียนคาทอลิก ภาษาอังกฤษเลยดีกว่าเพื่อนที่เรียนโรงเรียนรัฐมา ผลสอบวิชาภาษาอังกฤษก็ได้เกรด ๔ เสมอ
แต่ความเก่งของเรา เมื่อออกมาสู่โลกกว้างแล้ว สู้เขาไม่ได้เลย ไม่ต้องไปพูดถึงเด็กเจ้าของภาษาอย่างอังกฤษ อเมริกา แคนาดา แค่เทียบกับเยาวชนสิงคโปร์ เราก็แพ้ราบคาบแล้ว
พอได้ออกนอกประเทศถึงได้ค้นพบว่าเราไม่ได้เก่งอย่างที่คิด
ใช่ค่ะ โฮสต์ซิสเตอร์ของหย่งอายุน้อยกว่าหย่งสองปี แต่ภาษาอังกฤษของเขาไปไกลกว่าหย่งมาก และในการชีวิตประจำวันง่ายๆ หลายคำเราก็ยังพูดไม่ได้ เช่น เราจะบอกว่า คิดถึงแม่ มันไม่ใช่ I think of my mother นะ มันต้องเป็น I miss my mother แต่เราก็ไม่รู้ สื่อสารไม่ได้ คำศัพท์เรามีน้อยมาก พูดได้แต่ง่ายๆ ฉันหิว ฉันจะอาบน้ำ จะพูดเรื่องลึกๆ บอกความรู้สึก บอกอารมณ์ ไม่ได้เลย
ประสบการณ์หนึ่งเดือนนี้ล่ะค่ะ ที่เปลี่ยนโลกทัศน์หย่งอย่างสิ้นเชิง หย่ง… เธอไม่เก่งเลย ไม่ต้องไปคิดแข่งกับเยาวชนอังกฤษ อเมริกาเลย แค่ในภูมิภาคเดียวกันนี้ ก็แพ้แล้ว หย่งได้ตระหนักกับตัวเองอย่างถึงที่สุดว่า เรายังด้อยอยู่มาก
แล้วคุณหย่งทำอย่างไรกับความรู้สึกนั้น
หลังจากกลับมา ตั้งแต่ ม.๒ หย่งก็เลยหัดเขียนจดหมายหาโฮสต์เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าไม่น่าจะยากอะไร แต่พอลงมือทำจริงๆ ยากมาก เราต้องคิดแต่งประโยคเอง คำศัพท์ก็ไม่มี อย่างเช่น อยากจะเล่าให้เขาฟังว่า วิชาเนตรนารี ฉันได้เป็นตัวแทนนักเรียนไปอบรมเรื่องการประชาสัมพันธ์ที่สนามกีฬาแห่งชาติมา
ประโยคแค่นี้ สำหรับเด็ก ม.๒ ประเทศไทยนี่ มันยากมากๆๆ ตอนนั้นหย่งมีดิกชันนารีไทย-อังกฤษติดตัวตลอด ว่างเมื่อไหร่ ก็เอามาหาคำศัพท์ที่เราอยากเขียนบอกเขา ร่างจดหมาย กว่าจะเขียนออกแต่ละฉบับ ต้องร่างอย่างน้อยสามรอบ เปลืองกระดาษมาก (หัวเราะ) แต่ก็นั่นแหละ มันทำให้เราได้ฝึกฝน ทำอยู่อย่างนั้นหลายปี จากที่มีโฮสต์เป็น pen friend คนเดียว หย่งก็มี pen friend เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเขียนมาขึ้น ก็คล่องมากขึ้น จน ม.ปลาย นี่น่าจะมีเกือบสี่สิบคน ซึ่งอันนั้นก็มากเกินไป (หัวเราะ) ในช่วงมัธยมนี้เอง ภาษาอังกฤษเราก็เลยดีขึ้น เพราะการหัดเขียนทำให้เราพูดได้ดีขึ้นด้วย สมมติว่าจะให้หย่งแนะนำตัวเองเป็นภาษาอังกฤษ นี่สบายมาก บอกมาเลยจะเอาเวอร์ชั่น ๒ นาที หรือ ๕ นาที จัดให้ได้หมด เพราะเราคิดมาก่อนแล้ว เรามีข้อมูลอยู่ในหัวเป็นภาษาอังกฤษที่ผ่านการขัดเกลาจนเข้าที่แล้วอยู่เต็มไปหมด พร้อมแก่การใช้งาน หย่งก็เลยได้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปประกวดพูดภาษาอังกฤษ หรือ กล่าวสุนทรพจน์ในงานต่างๆ ของโรงเรียนเป็นภาษาอังกฤษ เราก็มีประสบการณ์มากขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ฝึกฝนหลากหลายกิจกรรมยิ่งขึ้นไปอีก
ส่วนที่ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษขั้นสุด คือ ตอน ม.๕ ควีนเอลิซาเบ็ธ ที่ ๒ เสด็จที่โรงเรียนสตรีวิทยา เพื่อมาดูงานเรื่องการต่อต้านยาเสพติดในเยาวชน จริงๆ เป็นกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนเพื่อเพื่อน ซึ่งมีนักเรียนจากกว่าสี่สิบโรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นพันคน แต่โรงเรียนสตรีวิทยาได้เป็นตัวแทนจัดแสดงกิจกรรมถวายตัวหย่งเอง เป็นนักเรียนคนเดียวที่ได้รับเลือกให้มาถวายรายงาน เพราะพูดภาษาอังกฤษได้ดี
นี่จึงเป็นเหตุการณ์ที่จำไม่ลืมเลยว่า ภาษาอังกฤษสำคัญมากขนาดไหน ถ้าพูดได้ สื่อสารได้ดี จะพาเราไปไกลอีกมาก
ถามว่า ทั้งหมดนี้ได้ถ่ายทอดอะไรให้ลูกหรือยัง คำตอบก็คือ ยัง ใจคิดว่า จะส่งเสริมเรื่องการเขียนให้เขา แต่เด็กอนุบาลที่เยอรมันยังไม่เรียนเขียนอ่าน ก็เลยยังไม่ได้สนับสนุนตรงนี้จริงจัง
สิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันคือ ไม่ห้ามลูก อยากทำอะไรก็ทำได้เลย ยกเว้นสิ่งที่อันตรายถึงชีวิต อยากให้เขาได้ลองทุกอย่างที่อยากลอง ไม่รู้สึกว่าถูกปิดกั้น เขาจะได้รู้จักตัวเอง ความคิดสร้างสรรค์ยังอยู่กับตัวเขา ซึ่งหย่งว่ามันสำคัญมากกับการมีชีวิตอยู่ต่อไปในโลกอนาคตที่ AI จะมีบทบาทสูงขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ
คุณหย่งเป็นคนที่ใช้ภาษาในการทำงาน และได้มีโอกาสทำงานในต่างประเทศ คุณมองว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรสร้างและเสริมให้กับลูก เพื่อให้เขามีความเป็นพลเมืองโลก และพร้อมที่จะเปิดรับโอกาสที่มีเข้ามาได้ทุกเมื่อ
หย่งมองเป็นสองส่วนค่ะ, ส่วนแรก ส่งเสริมให้มีความรู้หลายๆ ภาษา เพราะะหย่งเห็นดีว่าการพูดได้หลายภาษา เป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่แค่ลูกจะได้เปรียบในแง่การงาน เพราะเราไม่รู้หรอกว่า ในอนาคตลูกจะไปทำงานอะไร แต่ที่สำคัญคือลูกจะเป็นคนที่มีโลกทัศน์กว้างขวาง เพราะตั้งแต่เด็กเขาก็ได้เห็นว่ามีโลกมากกว่าแบบเดียว
ขอยกตัวอย่างลูกครึ่งไทยขเยอรมันอย่างลูกหย่ง เขาเกิดและเติบโตที่เยอรมนี แต่การที่พูดภาษาไทยได้ และได้ไปเที่ยวเมืองไทยทุกปี ทำให้เขาได้เห็นว่า โลกไม่ได้มีแต่แบบของพ่อนะ ยังมีโลกแบบของแม่ ในหัวเขาจะไม่ใช่มีแต่เสียงที่บอกว่าแบบไหนถูกที่สุด แต่เขาจะเห็นว่าในเรื่องเดียวกันทำได้หลายอย่าง แก้ปัญหาได้หลายแบบ และการที่มองโลกแบบกว้างนี่แหละ จะทำให้เขาเป็นพลเมืองโลกที่ดี เขาจะไม่ด่วนสรุป ด่วนตัดสินใจ เขาจะเข้าใจว่าโลกมีความแตกต่างหลายหลาย ไม่ใช่แบบของเราถูกตลอด ถูกเสมอ ทำให้เป็นคนเปิดรับต่อสิ่งใหม่ๆ และปรับตัวได้ง่าย
ส่วนที่สองสำหรับในยุคสมัยที่ AI กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่สำคัญที่ควรสร้างและเสริมให้ลูกคือความคิดสร้างสรรค์ ความมั่นใจ และความเป็นตัวของตัวเองค่ะ
เพราะอะไรที่คอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์ทำได้ เราคงทำสู้เครื่องจักรไม่ได้ ดังนั้นงานหลายอย่างในโลกจะหมดไป หย่งก็เลยคิดว่า การเรียนการสอนแบบรุ่นเราที่เน้นให้ทำได้เร็วๆ มันไม่ตอบโจทย์ในอนาคตแล้ว เราจะรีบให้ลูกเขียนหนังสือเป็นเร็วๆ บวกเลขเป็นเร็วๆ ไปเพื่ออะไร
แต่ถ้าเด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ผลิตงานได้ด้วยตัวเอง ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว เพราะไอเดียจะไม่มีวันหมด มันจะออกมาเรื่อยๆ
การเรียนการสอนแบบรุ่นเราที่เน้นให้ทำได้เร็วๆ มันไม่ตอบโจทย์ในอนาคตแล้ว เราจะรีบให้ลูกเขียนหนังสือเป็นเร็วๆ บวกเลขเป็นเร็วๆ ไปเพื่ออะไร แต่ถ้าเด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ผลิตงานได้ด้วยตัวเอง ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว เพราะไอเดียจะไม่มีวันหมด มันจะออกมาเรื่อยๆ
ในโลกที่ภาษาอังกฤษหรือภาษาของประเทศมหาอำนาจ ดูเหมือนจะเป็นใบเบิกทางให้ลูกมีโอกาสดีๆ มากมาย ทำไมคุณถึงคิดว่าภาษาไทยยังสำคัญอยู่
เพราะภาษาไทยเป็นรากเหง้าหนึ่งของลูกค่ะ ถ้าทั้งคุณพ่อคุณแม่เป็นคนไทย ก็คือรากเหง้าเต็มๆ ถ้าเป็นลูกครึ่ง ครึ่งหนึ่งของเขาก็เป็นคนไทย นี่ก็คือรากเหง้าหนึ่งของเขา คนเราหากไม่รู้จักรากเหง้าของตนเอง ย่อมดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไม่แข็งแรง เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ ถ้ารากไม่แข็งแรง ก็ไม่อาจทนลมพายุที่โหมกระหน่ำรุนแรงได้
หย่งเคยอ่านเจอว่า ถ้าเรารู้จักตัวตนเราเป็นอย่างดี รู้จักรากเหง้า ที่มาที่ไปของเรา เราก็จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาพสังคมวัฒนธรรมได้ เพราะเรารู้ว่าเราเป็นใคร ข้อดีข้อด้อยของเราคืออะไร และเรามีอะไรที่จะไปแบ่งปันให้สังคมใหม่ที่เราเข้าไปอยู่ได้บ้าง
ถ้าเรารู้จักตัวตนเราเป็นอย่างดี รู้จักรากเหง้า ที่มาที่ไปของเรา เราก็จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาพสังคมวัฒนธรรมได้ เพราะเรารู้ว่าเราเป็นใคร
สำหรับคุณหย่ง คำว่า ‘ภาษาแม่’ หมายความว่าอย่างไร
คือภาษาที่เราใช้คล่องที่สุด พูดได้อย่างถึงใจมากที่สุดค่ะ แน่นอนสำหรับคนไทย ก็น่าจะเป็นภาษาไทย แต่สมมติถ้าคนไทยไปอยู่เมืองนอกนานเป็นสิบปี ก็อาจจะเริ่มคล่องภาษาใหม่มากกว่าก็เป็นได้ เอาเป็นว่า เราฝันเป็นภาษาอะไรมากที่สุด นั่นล่ะค่ะ ภาษาแม่ของเรา (หัวเราะ)
COMMENTS ARE OFF THIS POST