Toxic People หมายถึงคนที่เป็นพิษต่อคนอื่น เพราะมีนิสัย ทัศนคติ หรือพฤติกรรมที่ทำให้คนที่อยู่ด้วยรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว และไม่สบายใจ เช่น ชอบพูดจาโอ้อวดหรือฟูมฟาย บ้างก็ชอบบังคับควบคุมคนอื่น หรือพูดจาหักหน้าคนอื่น โดยที่เจ้าตัวอาจจะไม่รู้หรือไม่ตั้งใจก็ได้
ในยุคที่ผู้ใหญ่อย่างเราต้องพยายามพาตัวเองออกห่างจากคนประเภท toxic people และตั้งคำถามถึงสาเหตุว่าอะไรกันหนอที่ทำให้ใครสักคนเติบโตมาเป็นคนที่เป็นพิษเป็นภัยต่อคนอื่นได้
และถ้ามีโอกาสย้อนกลับมามองเด็กๆ ในฐานะพ่อแม่อย่างเรา นอกจากควรจะสอนให้ลูกรู้จักรับมือกับคนประเภท คนที่เป็นพิษเป็นภัยต่อคนอื่นแล้ว ยังต้องรู้วิธีการปลูกฝังให้ลูกเติบโตขึ้นไปโดยไม่เป็นพิษภัยต่อคนอื่นเสียเองอีกด้วย
1. สอนลูกให้มีความเห็นอกเห็นใจ
สิ่งที่มนุษย์ท็อกซิกมักจะขาดไปก็คือความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ซึ่งมักแสดงออกเป็นคำพูดที่ทำร้ายจิตใจผู้ฟัง เช่น คำพูดเหน็บแนม ประชดประชัน พูดจากำกวมแต่แฝงด้วยความหมายแง่ลบ หรือแม้แต่การทำให้คนอื่นขายหน้า
หากเด็กๆ ได้รับการปลูกฝังให้รู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่นตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยน และใส่ใจความรู้สึกของคนอื่นมากพอที่จะระมัดระวังคำพูดและพฤติกรรมของตัวเองไม่ให้ทำร้ายหรือกระทบกระเทือนจิตใจคนอื่นได้
2. สอนลูกให้ยอมรับความแตกต่าง
ลักษณะหนึ่งที่เห็นได้มากในกลุ่มคนท็อกซิกคือการพยายามควบคุมและไม่ยอมรับความแตกต่างของคนอื่น ดังนั้น เมื่อลูกเริ่มโต เข้าโรงเรียน และเริ่มมีสังคมใหม่ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกเปิดใจยอมรับความแตกต่างของคนที่ไม่เหมือนตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเพศ รูปร่างหน้าตา สีผิว เชื้อชาติ รวมไปถึงการแสดงออกทางความคิดที่หลากหลาย หากสอนให้ลูกยอมรับความแตกต่างตั้งแต่ยังเล็ก ลูกก็จะเติบโตไปเป็นคนที่เคารพความแตกต่าง ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ตัดสิน และพยายามควบคุมคนอื่นอีกด้วย
มนุษย์ท็อกซิกมักคิดและเข้าใจว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกต้องเสมอ ทำให้เกิดเป็นพฤติกรรมไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง ชอบโยนความผิดให้คนอื่น หรือแม้แต่การใช้คำพูดที่ทำให้คนอื่นรู้สึกผิด
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือการสอนให้ลูกรู้จักยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง และเรียนรู้ที่จะขอโทษคนอื่นด้วยความจริงใจ เพื่อไม่ให้ลูกมีนิสัยไม่ยอมรับความผิดและโยนความผิดให้คนอื่นติดตัวไปจนโต
4. สอนให้ลูกรู้ว่าไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับคนอื่นเสมอไป
บางครั้งมนุษย์ท็อกซิกก็แสดงออกว่าเข้าใจและเห็นใจคนอื่น แต่มักผสมปนเปมากับความอยากแข่งขันหรือพยายามทำตัวเหนือกว่า เช่น การปลอบคนอื่นว่าตัวเองก็เคยมีประสบการณ์เช่นนั้น แต่เพราะเป็นคนเก่งหรือโชคดีกว่า ก็เลยแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งอาจเป็นการปลอบใจที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกแย่มากขึ้นไปอีก
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปลูกฝังให้ลูกเป็นเด็กที่ชอบการแข่งขันหรือปล่อยให้ลูกนึกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นมากเกินไป เพราะจะทำให้ลูกติดนิสัยพยายามข่มหรือแสดงความเหนือกว่าคนอื่นออกมาโดยไม่รู้ตัวได้
5. สอนลูกให้มีมารยาท
พฤติกรรมของมนุษย์ท็อกซิกบางอย่าง เป็นเรื่องคาบเกี่ยวกับการมีมารยาทพื้นฐานในการเข้าสังคมหรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น เช่น การไม่ทำให้คนอื่นเสียหน้า ไม่พูดจาโอ้อวด การรู้จักขอบคุณและขอโทษ การสอนให้ลูกเป็นคนมีมารยาท รู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ จึงเป็นการสอนให้ลูกไม่ทำตัวเป็นมนุษย์ท็อกซิกทางอ้อมได้เช่นกัน
COMMENTS ARE OFF THIS POST