คุณพ่อคุณแม่หลายคนที่ผ่านประสบการณ์จับได้ว่าลูกพูดจาบิดเบือน โกหก หรือไม่พูดความจริงทั้งหมดกับเรา นอกจากจะเสียใจแล้ว ก็อาจเกิดความสงสัยว่า ลูกไปเรียนรู้วิธีการหรือรู้จักการโกหกมาจากไหน และมีอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกเลือกที่จะใช้วิธีโกหกเป็นการแก้ปัญหาบ้าง
เมื่อรู้แล้วเราหวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะช่วยกันหาทางรับมือและแก้ไขพฤติกรรมโกหกของลูกไม่ให้กลายเป็นนิสัยติดตัวไปจนโตต่อไปได้
1. เด็กไม่รู้ว่าอะไรคือความจริง และอะไรไม่ใช่
บางครั้งลูกไม่ได้ต้องการโกหก แต่เมื่อถึงช่วงวัยหนึ่งเด็กจะสนุกกับการคิดและจินตนาการของตัวเองมากจนสับสนว่าสิ่งไหนเป็นเรื่องจริงและสิ่งไหนเป็นเรื่องในจินตนาการ นอกจากนี้ เด็กยังชอบเล่นบทบาทสมมติและสร้างเรื่องราวในแบบที่ตัวเองต้องการ เช่น สมมติว่าเพื่อนผู้หญิงในห้องเรียนเป็นแฟน สมมติว่าคุณครูประจำชั้นเป็นนางฟ้า
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตและแยกแยะการพูดจาของลูกให้ดีว่า ลูกพูดเพราะตั้งใจโกหก หรือพูดเพราะเกิดจากความเชื่อในจินตนาการของตัวเองกันแน่
2. การตอบสนองของพ่อแม่เมื่อลูกพูดความจริง
บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่รู้ตัวว่า ปฏิกิริยาตอบสนองของตัวเองเมื่อได้ฟังความจริงจากปากลูก มีส่วนทำให้ลูกไม่กล้าที่จะพูดความจริงต่อไป เช่น เมื่อลูกสารภาพว่าทำความผิดที่โรงเรียน และคุณแม่ตอบสนองด้วยการทำโทษซ้ำ หรือคอยตำหนิในเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ
3. ลูกไม่อยากทำให้พ่อแม่ผิดหวัง
เด็กๆ รับรู้พลังแห่งคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่ได้เสมอ และเขาก็ไม่อยากทำให้พ่อแม่ต้องผิดหวัง ดังนั้นถ้าลองสังเกตให้ดีจะพบว่า บางครั้งลูกจำเป็นต้องโกหกหรือไม่พูดความจริง ก็เพื่อถนอมน้ำใจคุณพ่อคุณแม่นี่แหละ
4. ลูกโดนเรียกว่าเป็นเด็กขี้โกหก
ถ้าคุณจับได้ว่าลูกโกหกเพียงครั้งเดียว แต่คุณตอกย้ำความผิดของเขาด้วยการเรียกเขาว่า เด็กขี้โกหก หรือคอยแสดงความกังวลว่าลูกจะเป็นเด็กเลี้ยงแกะตลอดเวลา ก็ไม่ต้องแปลกใจ หากลูกจะใช้วิธีโกหกซ้ำๆ ให้สมกับคำที่คุณเรียกเขา
5. ลูกขาดความนับถือตัวเอง
อีกสาเหตุที่ทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะโกหก เป็นเพราะเขารู้สึกขาดสิ่งที่ตัวเองอยากได้อยากมี ทำให้ไม่รู้สึกภูมิใจในตัวเอง และไม่นับถือตัวเอง จึงใช้วิธีการสร้างเรื่องหรือไม่ยอมรับความจริง เพื่อให้ตัวเองรู้สึกเหมือนและเท่าเทียมคนอื่นมากขึ้น
COMMENTS ARE OFF THIS POST