READING

NEWS UPDATE: กรมอนามัยเผย ไอคิวลูกสร้างได้ตั้งแต่อ...

NEWS UPDATE: กรมอนามัยเผย ไอคิวลูกสร้างได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง

จากกรณีผลสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประจำปี 2564 พบว่า ไอคิวเฉลี่ยเด็กไทยเกินค่ามาตรฐาน 100 เป็นครั้งแรก อยู่ที่ 102.8 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 98.2 โดยสัดส่วนกลุ่มฉลาดมากหรือไอคิวเกิน 130 พบ 10.4% กลุ่มต่ำกว่าปกติหรือไอคิวต่ำกว่า 90 พบ 21.7% ลดลงจากปี 2559 ที่พบ 31.8% ส่วนกลุ่มบกพร่องหรือไอคิวต่ำกว่า 70 พบ 4.2% ยังสูงกว่ามาตรฐานที่ไม่ควรเกิน 2%

เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา  นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาระดับสติปัญญาหรือไอคิวว่า การพัฒนาไอคิวเด็กสามารถทำได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ โดยแม่ต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน โดยเฉพาะธาตุเหล็ก โฟลิก และไอโอดีน ก็จะส่งผลถึงลูกในครรภ์ ส่วนช่วงแรกเกิดมีหลายปัจจัยที่ส่งผลถึงไอคิว ทั้ง 1.การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งช่วง 6 เดือนแรกควรได้รับนมแม่อย่างเดียวจะดีที่สุด 2.การสัมผัสสายใยระหว่างแม่และลูก  3.เรื่องโภชนาการ ซึ่งหลัง 6 เดือนขึ้นไปยังสามารถกินนมแม่ได้ ควบคู่กับอาหารเสริมตามวัยที่ต้องได้รับอย่างถูกต้อง 4.การเลี้ยงดูของพ่อแม่ในการเฝ้าสังเกตพัฒนาการของลูกมีปัญหาหรือไม่ และ 5.เรื่องการเล่นของลูก ซึ่งมีความสำคัญมากช่วยกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการและไอคิวที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

“การเล่นของลูกให้ยึดหลัก 3F คือ Family พ่อแม่ผู้ปกครองหรือครอบครัวควรมีส่วนร่วมในการเล่นกับลูก , Free เล่นอย่างอิสระที่เด็กชื่นชอบ และ Fun คือ สนุกสนาน การเล่นต้องไม่ได้เป็นการยัดเยียดให้เด็ก นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่บล็อกเรื่องพัฒนาการเด็ก ทั้งเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว ความเครียด การเนือยนิ่ง โดยให้เด็กหมกมุ่นอยู่กับโทรทัศน์ สมาร์ทโฟนหรือไอแพดมากเกินไป ซึ่งไม่ได้ส่งเสริมปัญญาทางสมอง” นพ.เอกชัยกล่าว

ช่วงที่เด็กเรียนรู้ได้เร็วที่สุด คือ ช่วงปฐมวัยหรือ 3 ขวบแรก ถ้าอยากให้เด็กมีต้นทุนที่ดีก็ต้องส่งเสริมอย่างเต็มที่ในช่วง 3 ขวบแรก ทั้งเรื่องพัฒนาการ โภชนาการ การเจริญเติบโต ความอบอุ่นในครอบครัว และสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่วนกรณีไอคิวลดลงคงเป็นปัจจัยที่มากระทบภายหลัง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ไอคิวลด ก็เป็นเรื่องของโภชนาการที่รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยเฉพาะโปรตีนที่ดีจากเนื้อ นม ไข่ การขาดไอโอดีน ธาตุเหล็ก วิตามินต่างๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมอง ถ้าเด็กขาดสิ่งเหล่านี้ก็ส่งผลต่อไอคิวเด็กในช่วงหลังๆ และทำให้เด็กไทยเตี้ยและโง่ ดังนั้น ช่วงนาทีทองจึงไม่ใช่แค่ 6 เดือนแรกที่ต้องให้เด็กกินนมแม่อย่างเดียว หลังจากนี้จนถึง 6 ปีแรกก็ต้องได้รับโภชนาการตามวัยที่เหมาะสม จึงเป็นที่มาของการวัดผลลัพธ์กันในช่วง ป.1

ด้าน พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผอ.สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวถึงโภชนาการกับการพัฒนาไอคิว ว่า เรื่องนี้ต้องส่งเสริมตั้งแต่ก่อนแม่ตั้งครรภ์ โดยการให้เหล็กและโฟลิกก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือน และเน้นการฝากครรภ์เร็ว ก็จะได้สารอาหารที่จำเป็นเร็ว โดยให้เหล็ก โฟลิก และไอโอดีน ซึ่งทำให้แม่มีความพร้อมและเด็กในครรภ์ก็ได้รับการเตรียมความพร้อมด้วย และเด็กคลอดออกมาช่วง 6 เดือนแรกกินนมแม่ อย่างเดียว ก็ทำให้ได้รับสารอาหารเต็มที่ ส่วนหลัง 6 เดือนยังกินนมแม่จนถึง 2 ปี และมีอาหารตามวัยมาเสริม เพื่อให้เด็กได้รับพลังงานเพียงพอ และเป็นช่วงที่ต้องฝึกให้เด็กคุ้นชินกับรสชาติ ไม่ให้เด็กติดรสชาติของหวาน มัน เค็ม ก็จะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่สุขภาพดี และเมื่อได้เรียนรู้ต่างๆ ก็จะเป็นเด็กที่มีไอคิวดีตามมา

อ้างอิง
hfocus

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST