ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัญหา เด็กฆ่าตัวตาย เริ่มปรากฏให้เห็นตามสื่อมากขึ้นตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต ปี 2560-2564 พบว่า คนไทยในช่วงวัย 15-34 ปี มีอัตราการเสียชีวิตเนื่องจากฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 4 เท่า แต่เมื่อมองที่กลุ่มวัยรุ่นวัยเรียนอายุ 15-24 ปี พบว่า ปี 2563 คนกลุ่มนี้มีการฆ่าตัวตายถึง 428 คน และปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 439 คน (ที่มา)
และหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา เด็กฆ่าตัวตาย ก็คืออาการของ โรคซึมเศร้า ที่เกิดขึ้นกับเด็กและวัยรุ่น ซึ่งมักไม่ได้รับความเข้าใจและการเยียวยารักษาอย่างถูกต้อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใหญ่ พ่อแม่ และผู้ปกครองมักจะมองข้ามปัญหาที่เด็กๆ กำลังเผชิญ ด้วยเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือเรื่องที่มีสาระสำคัญมากพอที่จะรับฟังหรือให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
ความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย นอกจากจะเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าแล้ว ยังปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ครอบครัวเคยมีประวัติการพยายามฆ่าตัวตาย มีการใช้ความรุนแรง อารมณ์ชั่ววูบ การเข้าถึงอาวุธได้ง่าย ถูกกลั่นแกล้ง รู้สึกสิ้นหวัง รวมถึงการเผชิญกับความสูญเสีย หรือถูกปฏิเสธอย่างเฉียบพลัน อีกด้วย
ส่วนเด็กและวัยรุ่นที่มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายบ่อยๆ มักจะแสดงข้อความหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่คนใกล้ชิด ผู้ใหญ่ พ่อแม่ และผู้ปกครองสามารถสังเกตเห็นได้ เช่น การพูดบ่นว่าอยากตาย หรือ คอยบอกว่าไม่อยากอยู่เป็นปัญหาของใคร
นอกจากนั้น สัญญาณอันตรายเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายอาจมาในรูปแบบการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินหรือนอน การปลีกตัวจากเพื่อน ครอบครัว และกิจกรรมที่เคยทำประจำ หรือมีการบ่นเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว เหนื่อยล้าบ่อยๆ เริ่มหมกมุ่นอยู่กับความตาย ทิ้งสิ่งของสำคัญ และหยุดวางแผนหรือพูดถึงอนาคต
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งสัญญาณถึงผู้ใหญ่ พ่อแม่ และผู้ปกครองที่ไม่อยากให้ปัญหา เด็กฆ่าตัวตาย กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว เราจึงต้องหันกลับมาทบทวนและให้ความสำคัญกับการดูแลจิตใจและอารมณ์ของเด็กๆ ด้วยวิธีต่อไปนี้
1. หมั่นพูดคุยกับลูกบ่อยๆ
การพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างคนในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ลูกรู้สึกไว้วางใจที่จะพูดคุยและเล่าเรื่องราวของตัวเองให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง ทำให้คุณพ่อคุณแม่มีโอกาสรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกได้ทัน
2. การรับฟังให้เข้าไปถึงใจลูก
นอกจากพูดคุยแล้ว การรับฟังด้วยความเข้าใจและไม่ตัดสิน คือสิ่งที่เด็กและวัยรุ่นทุกคนต้องการจากพ่อแม่และคนใกล้ชิด หากคุณพ่อคุณแม่ทำหน้าที่เป็นผู้รับฟังที่ดี ลูกก็จะรู้สึกวางใจในเวลาที่ต้องการระบายความอึดอัดและคับข้องใจออกมา
3. สังเกตพฤติกรรมของลูกอยู่เสมอ
เมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับจิตใจของเด็กๆ พฤติกรรมของเขาก็มักจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตพฤติกรรมของลูก เช่น ลูกเงียบขรึมผิดปกติ หรือเศร้าซึมผิดสังเกตหรือไม่ รวมถึงการฝากฝังให้คุณครูหรือคนใกล้ชิดลูกให้ช่วยจับตามอง เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสที่จะยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาได้ทันท่วงที
4. ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
สุดท้าย หากคุณพ่อคุณแม่มองพบว่าสัญญาณอันตรายจากลูกรุนแรงเกินจะแก้ไขหรือรับมือเองได้ ควรพาลูกไปเข้าพบผู้เชี่ยวชาญ หรือปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อหาทางรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป หรือปรึกษาสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สายด่วนเบอร์ 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
และนอกจากควรทำความเข้าใจและยอมรับเมื่อลูกเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ การรักษาโรคซึมเศร้าจำเป็นต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นควรใช้ความอดทน ไม่ควรรีบร้อน แล้วสักวันหนึ่งโลกของเด็กๆ จะกลับมาสดใสอีกครั้ง เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกๆ คนนะคะ
COMMENTS ARE OFF THIS POST