นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยถึงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวมปี 2566 ถึงประเด็นที่ควรให้ความสำคัญต่อเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบันคือ เรื่องของการถูกกลั่นแกล้ง หรือบุลลี ในสถานศึกษา โดยจากข้อมูลไตรมาสสี่ ปี 2566 พบว่าเด็กไทยและเยาวชนไทยเคยถูกกลั่นแกล้ง 44.2 % และเกิดขึ้นในโรงเรียนมากถึง 86.9 %
โดยพบว่าเรื่องที่ถูกกลั่นแกล้งมากที่สุด คือการล้อเลียนหน้าตาหรือบุคลิก 76.6 % รองลงมาคือ การด่าทอ หรือตอกย้ำปมด้อย 63.3 % และการทำร้ายร่างกาย 55.1 % ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบทางจิตใจให้เด็กรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน เป็นซึมเศร้า และอยากฆ่าตัวตาย อีกทั้งยังพบว่าเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งเคยคิดแก้แค้นเอาคืนกว่า 42.86 % ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนของการนำไปสู่การก่อคดีอาชญากรรมได้ในอนาคต
ขณะที่พบว่าเด็กและเยาวชนไทย ก่อคดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 58.7 % และมีการใช้อาวุธเพิ่มขึ้น 92.1 % โดยพบปัจจัยที่นำไปสู่ความรุนแรงเกิดจากความเปราะบางของสถาบันครอบครัว อาทิ การไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรือการอบรมเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งสังคมเพื่อนที่ไม่ดี ปัญหาในชุมชนที่อยู่อาศัย การเข้าถึงข้อมูลที่ไม่เหมาะสม และปัญหาทางจิตเวช หรือการใช้ยาเสพติด
การแก้ปัญหาไม่สามารถแก้ได้โดยการดำเนินการของรัฐ หรือการลงโทษที่ตัวเด็กอย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากสาเหตุที่เด็กก่อความรุนแรง เชื่อมโยงกับหลายปัจจัย จึงเป็นหน้าที่ของคนในสังคม และสถาบันโรงเรียน ที่ต้องช่วยกันดูแลสอดส่อง ป้องกัน และรับมือกับปัญหาความรุนแรงของเด็ก โดยอาจจำเป็นต้องให้ความสำคัญ ความเข้มแข็งของสถาบันทางครอบครัว ความครอบคลุม และต่อเนื่องในการคัดกรองสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน และการเสริมสร้างทักษะการรู้เท่ากันสื่อให้กับเด็กและเยาวชน
COMMENTS ARE OFF THIS POST