READING

NEWS UPDATE: กรมการแพทย์เตือน พบเด็กป่วยทางเดินอาห...

NEWS UPDATE: กรมการแพทย์เตือน พบเด็กป่วยทางเดินอาหารจากเชื้อโนโรไวรัสมากขึ้น ตั้งแต่ ธ.ค. – ม.ค.

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร ที่พบได้บ่อยในเด็ก เชื้อนี้มีความสามารถที่จะแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว แม้ได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย เนื่องจากสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลานาน และทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆได้ดี หลังจากได้รับเชื้อ มักจะมีอาการภายใน 12-48 ชั่วโมง อาการแสดงของโรคที่พบได้บ่อย คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ ปวดท้อง อาจมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว และอาจมีภาวะขาดน้ำที่อาจเกิดในผู้ป่วยเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 1-3 วัน

สถานการณ์ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พบมีจำนวนผู้ป่วยโนโรไวรัสมากขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2566 และมกราคม 2567 ที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยนอก มีจำนวนไม่มากนักที่มีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามการรายงานอาจจะต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อมีราคาค่อนข้างสูงถึงครั้งละ 500 บาท จึงไม่ได้ส่งตรวจในผู้ป่วยทุกราย ยกเว้นในรายที่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเพื่อใช้ในการแยกโรคเป็นหลัก

นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มียาหรือการรักษาเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการดูแลตามอาการที่เกิดขึ้น และส่วนใหญ่อาการต่าง ๆ จะดีขึ้นได้ในเวลา 3-4 วัน ในรายที่อาการไม่รุนแรง ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ ในกรณีที่อาเจียนและท้องเสีย ให้ทานอาหารอ่อนๆ ร่วมกับให้ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ตามอาการ ในรายที่มีภาวะขาดสารน้ำค่อนข้างมาก หรือมีอาเจียน ปวดท้อง และถ่ายตลอด อาจเกิดอันตรายจากการขาดน้ำ ส่งผลให้เกิภาวะทำให้ช็อค ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้ ควรพิจารณาให้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด

ผู้ป่วยที่จะมีโอกาสเกิดอันตรายจากการขาดน้ำได้แก่ ผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว วิธีการป้องกัน ในสถานศึกษาหรือในศูนย์เด็กเล็กแนะนำให้หมั่นรักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ทำความสะอาดพื้นหรือสิ่งแวดล้อม โดยโซเดียมไฮโปคลอไรด์ ไม่ควรใช้ 70% แอลกอฮอล์ เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสไม่มีเปลือกหุ้ม และมีคุณสมบัติที่ทนทานต่อการฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์

“กรณีที่มีเด็กป่วย แนะนำให้แยกตัวเพื่อรักษาอาการที่บ้านเป็นเวลา 48 ชั่วโมงหลังจากอาการดีขึ้นเป็นปกติ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรพามาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป” นพ.อัครฐานกล่าว

อ้างอิง
mgronline

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST