READING

สสส. จัดกิจกรรมห้องเรียนพ่อแม่ ฟังเสวนาหัวข้อ ‘พ่อ...

สสส. จัดกิจกรรมห้องเรียนพ่อแม่ ฟังเสวนาหัวข้อ ‘พ่อแม่ของเล่นมีชีวิต’ กับ 11 วิธีคิดที่ทำให้การชวนลูกเล่นไม่ได้เป็นแค่การเล่นกับลูก

เมื่อวันเสาร์ที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมห้องเรียนพ่อแม่ ในหัวข้อ ‘พ่อแม่ของเล่นมีชีวิต’ โดยผู้เชี่ยวชาญเด็กด้านต่างๆ 3 ท่าน ได้แก่

ดร.วรนาท รักสกุลไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย ผู้อำนวยการแผนกอนุบาล โรงเรียนเกษมพิทยา

อ.เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และนักเขียนหนังสือเด็ก เจ้าของนามปากกา ‘ตุ๊บปอง’

และ คุณหญิงสุกัญญา สุวรรณทา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ผู้ก่อตั้ง Thailand Playgroup

 

จากการเสวนาสามารถสรุปออกมาเป็น 11 ประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

1. การใช้เวลากับลูก

พี่ตุ๊บปอง—อ.เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป ให้แนวคิดเกี่ยวกับ 9 สิ่งที่พ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้มี ดังนี้

ดู: ภาพที่สวยงามเจริญหูเจริญตา ซึ่งพ่อแม่เองก็นับเป็นภาพนั้น ดังนั้น การใช้เวลากับลูกก็เป็นการสร้างภาพจำที่ดีให้กับลูกเช่นกัน

ฟัง: ลูกควรได้รับฟังถ้อยคำที่รื่นหู

ท่อง: เพื่อจัดระบบความจำให้กับเด็ก

ร้อง: ร้องเพลงที่เหมาะสำหรับเด็ก

เล่น: ช่วงสามปีแรกของชีวิตถือเป็นปีทองของการใช้เวลาเล่นกับลูก

ลิ้ม: ให้ลูกลิ้มรสอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่า ส่วนอาหารที่อร่อยแต่ไม่มีคุณค่า ก็ควรเปิดโอกาสให้เขาได้ลองบ้างเช่นกัน

เล่า: เล่าเรื่องราวดีๆ ในแต่ละวันให้ลูกฟัง

อ่าน: การอ่านหนังสือก็คือการเล่นอย่างหนึ่ง พ่อแม่ควรอ่านหนังสือให้ลูกฟังด้วยน้ำเสียงที่สนุกสนาน

ลงมือทำ: พาลูกทำเรื่องดีๆ มีประโยชน์

2. การฝึกอดทนและรอคอย กับ EF (Executive Functions)

EF คือ ทฤษฎีที่กล่าวถึงทักษะการคิดเพื่อชีวิตที่สำเร็จอย่างเป็นธรรมชาติของมนุษย์ จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า ใน 5 ปีแรกของชีวิต คือช่วงเวลาที่เหมาะแก่การฝึกเด็กๆ เพื่อให้เขาโตไปเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ดีที่สุด เพราะเป็นช่วงวัยที่เส้นใยประสาทของมนุษย์เชื่อมต่อกันและพัฒนาได้ดีที่สุด ถ้าพ่อแม่ฝึกได้ ลูกก็จะมีความอดทน ยับยั้งชั่งใจต่อความอยากรู้อยากลอง และนิสัยนั้นจะติดตัวเขาไปจนโต โดย ดร.วรนาท รักสกุลไทย ยกตัวอย่างจากคลิป The Marshmallow Test ซึ่งสังเกตพฤติกรรมการให้เด็กอยู่ในห้องกับขนมมาร์ชแมลโลว์ทีละคน โดยให้เงื่อนไขว่าถ้าเด็กอดใจรอจนกว่าคุณครูกลับมาได้ ก็จะได้มาร์ชแมลโลว์เพิ่มขึ้น

3. เรื่องของคุณแม่นางฟ้ากับคุณแม่นางยักษ์

คุณหญิงสุกัญญา สุวรรณทา กล่าวถึงงานวิจัยที่อธิบายว่า ในสมองของเด็กอายุต่ำกว่าสามขวบนั้น จะมีภาพคุณแม่ที่เป็นนางฟ้ากับคุณแม่นางยักษ์เป็นคนละคน และจะเข้าใจได้ว่าบุคลิกดีกับร้ายสามารถรวมอยู่ในคุณแม่คนเดียวกันได้ เมื่ออายุมากกว่าสามขวบไปแล้ว ดังนั้น การทำให้ภาพคุณแม่นางฟ้าชัดเจนในสายตาของลูก ด้วยการพูดคุยกับเขาด้วยถ้อยคำที่รื่นหู และท่าทางที่นุ่มนวลตั้งแต่เล็กๆ ย่อมส่งผลดีมากกว่าแน่นอน

4. เสนอทางเลือกกับลูก จะทำให้ลูกหัดเป็นคนมีเป้าหมายในชีวิต

พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกมีเป้าหมายในชีวิตและคิดเป็น โดยเริ่มฝึกได้ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ด้วยการให้ทางเลือกเป็นสิ่งที่พ่อแม่สามารถใช้เวลาทำหรือเล่นกับเขาได้ เช่น วันเสาร์นี้ลูกอยากจะเล่นทรายหรืออยากจะอ่านหนังสือนิทาน ลูกจะรู้จักการอดทนรอ

5. การเรียนรู้ผ่านการเล่น

การเล่นกับลูกที่ดีควรเริ่มต้นจากความเข้าใจ โดยการไม่มองพฤติกรรมต่างๆ ของลูกในแง่ลบ แต่ให้มองด้วยสายตาแห่งความเข้าใจ เช่น การเล่นดินอาจทำให้เสื้อผ้าสกปรกและเสี่ยงกับเชื้อโรค แต่การเล่นดินนี้ก็สอนให้ลูกเรียนรู้และมีพัฒนาการด้านประสาทสัมผัส และได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น

6. DIY เพื่อเสริมพลังการเรียนรู้

ดร.วรนาท รักสกุลไทย บอกถึงการเล่นเบื้องต้นไว้ว่า ของเล่นนั้นสำคัญ แต่กระบวนการเล่นสำคัญกว่า โดยให้ความสำคัญกับของเล่นปลายเปิด คือของเล่นที่ก่อให้เกิดการวางแผนและใช้ความคิด โดยเริ่มจากการนำของในบ้านหรือของใกล้ตัวมาเป็นของเล่นให้กับลูกๆ ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องวางแผนการเล่น เพื่อให้ลูกได้ฝึก EF และแสดงออกได้อย่างสมวัยและมีพัฒนาการที่ดี ด้วยการ…

– สร้างประสบการณ์ด้วย Active Learning: ให้การเล่นของเด็กนั้นเกิดการโต้ตอบ คิดต่อยอดได้

– ฝึกทักษะสังคม: ให้เข้าใจอารมณ์ของตนเองและคนอื่น

– สร้างสภาพแวดล้อม: ที่เกื้อกูล อบอุ่น กระตุ้นการเรียนรู้

– ดูแลกายภาพสมอง: กินอาหารเช้า นอนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก และออกกำลังกาย

– สร้างสัมพันธภาพเชิงบวกที่เด็กไว้วางใจ: ใช้เวลาอยู่กับลูกอย่างมีคุณภาพ ให้เด็กได้เรียนรู้และเล่นไปกับพ่อแม่เวลาที่อยู่ด้วยกัน

7. Learning to Play & Playing to Learn

คุณหญิงสุกัญญา สุวรรณทา จัดกิจกรรมโดยแบ่งกลุ่มให้คุณพ่อคุณแม่พร้อมนิทานภาษาอังกฤษกลุ่มละหนึ่งเล่ม แล้วให้คุณพ่อคุณแม่คิดต่อยอดว่าจากหนังสือนิทานเล่มเดียว จะสามารถใช้เล่นอะไรกับลูกได้อีก เช่น นิทานเรื่อง ‘หนูน้อยหมวกแดง’ คุณพ่อคุณแม่อาจจะนำไปต่อยอดเล่นกับลูกได้ ดังนี้

– Sensory Play: แต่งตัวเป็นตัวละคร หาสิ่งของในบ้านที่ปรากฏอยู่ในนิทาน เช่น ตะกร้า กระโปรง ผ้าคลุม หรือจัดฉากนิทานสมมติกันในบ้านก็ได้

– Role Play: เล่นบทบาทสมมติ

– Creative Movement: ได้จับ ได้ลองใช้สิ่งของที่ปรากฏในนิทาน

– Expressive Art: วาดภาพตาม หรือจินตนาการจากเรื่องที่ได้ฟัง

– Cooking: เล่นทำอาหารที่มีอยู่ในนิทาน

– Art & Craft: ตัดกระดาษเป็นตัวละคร

– Word Card: เรียนคำศัพท์ภาษาไทยและอังกฤษที่ลูกสนใจ จากเนื้อเรื่องหรือตัวละคร เป็นต้น

8. คุณพ่อคุณแม่จะปลูกฝังนิสัยช่างคิดช่างอ่านให้ลูกได้อย่างไร

เริ่มจากการตั้งคำถามดีๆ ให้ลูกได้คิดและเล่าเรื่องราวโต้ตอบกลับมา เช่น หากลูกเพิ่งกลับจากโรงเรียน ลองเปลี่ยนจากคำถามว่าวันนี้ลูกทำอะไรมาบ้าง เป็นคำถามที่เจาะจงมากขึ้น เช่น วันนี้ที่โรงเรียนหนูกินอะไรมาบ้าง คุณครูคนไหนเล่านิทานเรื่องอะไร และหลีกเลี่ยงคำถามที่มีคำตอบแค่ใช่หรือไม่ใช่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กๆ รู้จักจดจำเพื่อนำมาใช้งาน (Working Memory) ได้ดี

9. สามเหลี่ยม ‘ผู้ใหญ่พาเล่น ผู้ใหญ่ชวนเล่น เด็กนำเล่น’

การเล่นกับลูก ควรประกอบไปด้วย

– ผู้ใหญ่พาเล่น (Adult-led) รูปแบบการเล่นที่ผู้ใหญ่เป็นคนนำ พร้อมกับอยู่ควบคุมด้วยตลอด

– ผู้ใหญ่ชวนเล่น (Adult-initiated Play) รูปแบบการเล่นที่ผู้ใหญ่เป็นผู้แนะนำหรือชวนเล่นในตอนแรก โดยการเตรียมอุปกรณ์และสอนวิธีการ จากนั้นจึงปล่อยให้เด็กเล่นด้วยตัวเอง ซึ่งการเล่นรูปแบบนี้ มีข้อดีคือ ผู้ใหญ่สามารถช่วยเด็กขยายความรู้ โดยการแนะนำ และชักชวนให้เกิดการพัฒนาทักษะต่างๆ ได้

– เด็กนำเล่น (Child-initiated Play) รูปแบบการเล่นที่ปล่อยให้เด็กได้เริ่มและเล่นสนุกด้วยตัวเอง

10. การชวนลูกเล่น โดยที่ลูกก็อยากจะเล่นด้วย

เด็กวัย 3-5 ขวบ ชอบทำอะไรด้วยตัวเอง แต่พ่อแม่อาจมองว่าทำให้เสียเวลา และพยายามที่จะเข้าไปช่วยเหลือ แต่การปล่อยให้ลูกได้ทำอะไรเองบ้าง จะทำให้เขาภูมิใจและเกิดกระบวนการเรียนรู้มากกว่า

11. เทคนิคการควบคุมอารมณ์

ช่วงวัย 2-3 ขวบ เป็นวัยที่เด็กกำลังเรียนรู้อารมณ์ตัวเอง เด็กจึงมีอารมณ์ทุกแบบ ช่วงวัยนี้คุณพ่อคุณแม่หลายคนจะเจอ terrible two (สองขวบสยองขวัญ) เป็นรูปแบบของเด็กๆ ที่เขาอยากรู้อยากลองว่าตัวเองจะทำอะไรได้มากแค่ไหน มีการต่อต้าน มีการทดสอบอารมณ์คุณพ่อคุณแม่ตลอดเวลา

ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรเพิกเฉย เมื่อลูกเริ่มมีอารมณ์โกรธหรือเกรี้ยวกราด แต่ควรอธิบายหรือสอบถาม เพื่อฝึกให้ลูกรู้สึกตัวว่ากำลังมีอารมณ์แบบไหน โกรธหรือไม่พอใจเรื่องอะไร และอยากให้คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยแก้ไขอย่างไรบ้าง

หลังงานเสวนาจบลง เราลองมาคุยกับคุณพ่อคุณแม่ที่เข้าร่วมฟังงานเสวนาครั้งนี้ดูว่า แต่ละครอบครัวให้ความสนใจกับหัวข้อไหนเป็นพิเศษ เริ่มจาก ครอบครัวคุณพ่อตั๊ก คุณแม่แนน และน้องนิตา วัย 2 ขวบ 11 เดือน ที่ให้ความสนใจหัวข้อการทำของเล่น DIY จากของใช้ใกล้ตัวเป็นพิเศษ และ คุณแม่อ้อ ของน้องหงส์หยก เพื่อนวัยใกล้เคียงกับน้องนิตา

.

นอกจากการทำของเล่น DIY มีหัวข้อไหนที่น่าจะนำไปใช้กับน้องนิตาได้อีก

แม่อ้อ: ทุกเรื่องนะคะ แต่ชอบวิธีการของคุณตุ๊บปองที่สุด น่าจะเอาไปใช้กับลูกได้ เพราะลูกอยู่ในวัยที่อ่านนิทาน ยิ่งเราอ่านนิทานด้วยน้ำเสียงที่ทำให้เรื่องสนุกขึ้น เขาก็จะยิ่งสนใจ

 

แล้วคุณพ่อชอบหัวข้อไหนอีกบ้าง

พ่อตั๊ก: ชอบเกี่ยวกับ EF ครับ คือการลองฝึกลูก มันอาจจะวิชาการไปหน่อย แต่ก็เอาไปใช้ได้จริง บางอย่างเราไม่เคยรู้มาก่อน ก็จะลองเอาไปปรับใช้

 

เคยมีเหตุการณ์คุณแม่นางฟ้ากับคุณแม่นางยักษ์เกิดขึ้นบ้างไหม

แม่แนน: มีอยู่แล้วค่ะ ธรรมดา เวลาเราเหนื่อยแล้วเขามางอแง ก็จะมีแปลงร่างเป็นนางยักษ์บ้าง แต่ก็พยายามไม่ให้เกิดขึ้นบ่อยค่ะ

 

วิธีระวังไม่ให้ตัวเองแปลงร่างเป็นนางยักษ์

แม่แนน: เขาเป็นเด็ก เราก็ต้องผ่อนให้เขานิดนึง ไม่ตึงเกินไป เช่น บอกเขาว่า “แม่จะเล่นกับหนูห้านาที แล้วเดี๋ยวแม่จะไปทำงานตรงนั้นต่อนะ” เขาก็จะโอเค แต่พอมาฟังวันนี้ ก็น่าจะมีเทคนิคใหม่ๆ ไปปรับใช้ได้อีก

แม่อ้อ: เท่าที่เราอ่านหนังสือมาก็คือเรื่องแบบนี้จะเป็นตามวัย ตามธรรมชาติของเขาที่เราต้องยอมรับ การแก้ไขหลักๆ ก็คือเราต้องเล่นกับเขา ให้เขาเรียนรู้ผ่านการเล่นจะดีที่สุด

 

ครอบครัวคุณพ่อตั๊ก คุณแม่แนน และน้องนิตา วัย 2 ขวบ 11 เดือน
ครอบครัวคุณพ่อตั๊ก คุณแม่แนน และน้องนิตา วัย 2 ขวบ 11 เดือน

ครอบครัวคุณแม่แจ้ คุณพ่อป๊อบ และน้องแม็กซ์ วัย 1 ขวบ 10 เดือน เพิ่งเคยมาร่วมฟังเสวนากับ สสส. ครั้งแรก และสนใจการพัฒนาทักษะ EF ให้กับลูกชายเป็นพิเศษ

.

เวลาน้องแม็กซ์ซน คุณพ่อคุณแม่มีวิธีรับมืออย่างไร

แม่แจ้: เขาเป็นเด็กน่ารักนะคะ เลี้ยงง่าย เราเลยไม่ค่อยได้ดุ แต่เวลาอยากได้อะไรแล้วเขาจะงอแง  เราก็ใช้วิธีเปลี่ยนประเด็นหรือเบี่ยงเบนความสนใจเขาบ้าง

พ่อป๊อบ: ใช้คุยนะ บอกเขา เขาก็เข้าใจ

คุณแม่แจ้ คุณพ่อป๊อบ และน้องแม็กซ์ วัย 1 ขวบ 10 เดือน
คุณแม่แจ้ คุณพ่อป๊อบ และน้องแม็กซ์ วัย 1 ขวบ 10 เดือน

นอกจากนี้ยังมี ครอบครัวคุณแม่แนน คุณพ่อเจแปน และน้องนิปปอน วัย 9 เดือนครึ่ง ที่มักจะหากิจกรรมทำร่วมกันในวันเสาร์อาทิตย์ ก็ให้ความสนใจกับการพัฒนาทักษะ EF และสามเหลี่ยมของการพาลูกเล่นเป็นพิเศษ

ครอบครัวคุณแม่แนน คุณพ่อเจแปน และน้องนิปปอน วัย 9 เดือนครึ่ง
ครอบครัวคุณแม่แนน คุณพ่อเจแปน และน้องนิปปอน วัย 9 เดือนครึ่ง

คุณแม่อ้อมกับน้องเจเจ วัย 2 ขวบ 10 เดือน ให้ความสนใจกับการชวนลูกเล่น

คุณแม่อ้อมกับน้องเจเจ วัย 2 ขวบ 10 เดือน
คุณแม่อ้อมกับน้องเจเจ วัย 2 ขวบ 10 เดือน

ส่วน คุณแม่ตูน คุณพ่อกอล์ฟ และน้องนาวา วัย 3 ขวบ ก็บอกว่าการมาฟังเสวนาครั้งนี้ทำให้ได้เทคนิคมากมายกลับไปฝึกลูกน้อยของตัวเองเช่นกัน

คุณแม่ตูน คุณพ่อกอล์ฟ และน้องนาวา วัย 3 ขวบ
คุณแม่ตูน คุณพ่อกอล์ฟ และน้องนาวา วัย 3 ขวบ

ฟังการเสวนาและชมเวิร์กช็อปฉบับเต็ม คลิก


Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST