READING

รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ดีจริงหรือ?! : 4 วิธีลงโทษ...

รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ดีจริงหรือ?! : 4 วิธีลงโทษลูกอย่างสร้างสรรค์

รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี

รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เป็นสุภาษิตสำนวนไทยที่ถูกใช้และสร้างค่านิยมให้สังคมไทยเข้าใจว่า การตีลูก เป็นหนึ่งในวิธีเลี้ยงดูที่จะทำให้ลูกเชื่อฟังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกอย่างได้ผล

Lisa Berlin นักวิจัยด้านพฤติกรรมเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ (University of Maryland) ประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายว่า แท้จริงแล้ว การทำโทษหรือใช้ความรุนแรง จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กให้ดีขึ้นได้ และจะยิ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อพฤติกรรมและพัฒนาการด้านจิตใจของเด็ก รวมไปถึงเป็นจุดเริ่มต้นพฤติกรรมก้าวร้าวในอนาคตอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ก็จำเป็นที่จะต้องมีบทลงโทษ เมื่อลูกไม่เชื่อฟัง หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องยึดหลักการ รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี หรือใช้ความรุนแรง แต่ควรเปลี่ยนเป็นการลงโทษลูกอย่างสร้างสรรค์ เพื่อหยุดพฤติกรรมเชิงลบของลูกอย่างถาวรอีกด้วย

1. Time Out เข้ามุมเด็กดื้อ

Punishment_web_1

time out เป็นหนึ่งในวิธีการลงโทษลูกที่ได้รับความนิยมในกลุ่มพ่อแม่รุ่นใหม่ ที่เข้าถึงและเข้าใจหลักการเลี้ยงลูกเชิงบวก ด้วยการให้ลูกแยกตัวเข้ามุม เมื่อทำความผิดหรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพื่อทบทวนและพิจารณาตัวเอง โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง

แต่ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจว่า time out ไม่ใช่การแยกตัวเพื่อให้ลูกรู้สึกโดดเดี่ยวจากสังคมและครอบครัว แต่เป้าหมายคือการพาลูกออกจากสถานการณ์ที่ไม่สามารถจัดการหรือควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ทอดทิ้ง หรือปล่อยให้ลูกรู้สึกหวาดกลัวจากการ time out เพราะจะทำให้ลูกต่อต้านและไม่ยอมให้คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีนี้อีกต่อไป

2. ทำโทษด้วยการออกกำลังกายสลายความดื้อ

Punishment_web_2

แม้เด็กเล็กจะเป็นวัยที่สามารถเล่นซนได้ทั้งวันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่การออกกำลังกายอย่างมีรูปแบบและกำหนดเวลาจริงจังจะทำให้ลูกเหนื่อยและไม่สนุกเหมือนวิ่งเล่นตามอัธยาศัย ดังนั้นการออกกำลังกายจึงเป็นหนึ่งในการลงโทษที่สร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพ และยังเป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายของลูกทางอ้อมได้อีกด้วย

เทคนิคก็คือคุณพ่อคุณแม่อาจจะกำหนดบทลงโทษเป็นการออกกำลังกายตามระดับความดื้อของลูก เช่น ถ้าลูกงอแงไม่ยอมตื่นนอนเพื่อไปโรงเรียน จะโดนทำโทษด้วยการกระโดดตบ 10 ครั้ง ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาการออกกำลังกายตามความเหมาะสมกับร่างกายของลูก และไม่ควรให้ลูกออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนล้าในเด็กได้

3. ลดเวลาเล่นสนุก

Punishment_web_3

การได้เล่นสนุกหลังเลิกเรียน หรือการฟังคุณแม่เล่านิทานก่อนนอนถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่ลูกรอคอย แต่ในวันที่ลูกทำตัวไม่น่ารัก ไม่เชื่อฟัง ขาดวินัย หรือไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ตัวเอง เช่น งอแงไม่ยอมทำการบ้าน หรือไม่ยอมแปรงฟันก่อนเข้านอน คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องลงโทษ ด้วยการลดเวลาเล่นสนุกของลูก เพื่อให้ลูกเรียนรู้ผลกระทบของการทำตัวไม่น่ารัก ไม่มีวินัย และไม่ทำตามข้อตกลง เช่น หากลูกงอแงไม่ยอมทำการบ้าน ทำให้ต้องเสียเวลา คืนนั้นก็จะไม่มีการเล่านิทานก่อนนอน  เมื่อลูกรู้ว่าพฤติกรรมของตัวเองจะส่งผลต่อช่วงเวลาแห่งความสุข ลูกก็จะพยายามปรับพฤติกรรมของตัวเองได้โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องบังคับเลยค่ะ

4. เรียงความเด็กดี

Punishment_web_4

การเขียนเรียงความจะทำให้ลูกได้ใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับการเขียน เวลาที่ลูกหงุดหงิด ไม่พอใจ ดื้อ และงอแงก็จะค่อยๆ สงบลง โดยคุณพ่อคุณแม่อาจกำหนดหัวข้อจากปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ลูกได้อธิบายถึงสาเหตุ ผลกระทบ และวิธีการแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตัวเอง วิธีนี้จะช่วยให้ลูกได้ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น และคุณพ่อคุณแม่ก็จะได้รับรู้ถึงความคิด ความรู้สึก และสิ่งที่ลูกต้องการ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการปรับพฤติกรรมลูกต่อไป

อ้างอิง
Mappa Learning
University of Maryland
Parenting.firstcry

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST