เมื่อตอนแปลงร่างเป็น ‘มนุษย์เมนส์’ ก็ว่าอารมณ์แปรปรวนมากแล้ว แต่เชื่อเหอะว่ามันต้องน้อยกว่าตอนเป็น ‘มนุษย์แม่ลูกอ่อน’ แน่นอน
ซึ่งความแปรปรวนทางอารมณ์นี้มันคืออาการของภาวะ Baby Blue หรืออาการซึมเศร้าหลังคลอด ที่มีสาเหตุหลักๆ มาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความเครียด ความกังวล ซึ่งสามารถเกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอดได้แทบทุกคน แต่ใครจะมีอาการมากน้อยยังไงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดเดาได้
และในฐานะแม่ลูกอ่อนรุ่นพี่ เรามาเปิดใจคุยกันดีกว่าว่า ต้นเหตุความเครียดของมนุษย์แม่อย่างพวกเราคืออะไร และเราจะเตรียมตัวรับมือหรือหาตัวช่วยเพื่อให้ผ่านพ้นภาวะซึมเศร้าที่เราไม่ได้ต้องการนี้ไปได้อย่างไร
1. ความเครียดสะสม
ใครจะไปรู้ว่าการเป็นคนท้องที่มีคนรอบข้างคอยดูแลประคมประหงมนั้นไม่ได้สบายอกสบายใจและมีความสุขตลอดเวลาอย่างที่หลายคนคิด เพราะนอกจากจะไม่สบายใจแล้วยังเต็มไปด้วยความเครียด!
เอ้า! แล้วทำไมจะไม่เครียด ในเมื่อเดินเร็วก็โดนแม่บ่น อยากกินปลาร้า ปลาดิบของโปรดก็โดนคุณหมอห้าม สามีก็เอือมระอาเพราะแพ้ท้องแต่ละทีก็อ้วกจนหมดไส้หมดพุง ไหนจะเวลาไปอัลตราซาวนด์แต่ละครั้ง ก็พกความกังวลไปร้อยแปดพันเก้าว่าลูกของเราจะปกติไหม กินน้อยก็กลัวลูกจะไม่แข็งแรง กินเยอะน้ำหนักขึ้นมากไปก็โดนคุณหมอจับตรวจเบาหวานอีก
และไหนจะข้อมูล ฮาวทูการเลี้ยงลูกที่มีอยู่ล้นอินเทอร์เน็ตอีกล่ะ ว่าที่คุณแม่อย่างฉันจะทำได้ไหม ทำได้หรือเปล่า…
เนี่ย เห็นไหม แล้วใครบอกว่าคนท้องต้องไม่เครียด มันจะไปทำได้ยังไง!
แต่หลังจากผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว เราขอบอกกับแม่ๆ ทั้งหลายว่า ไม่เป็นไรค่ะ ทำใจให้สบาย จับมือคนข้างกายเอาไว้ให้แน่น และเตือนสติตัวเองไว้ว่าเรากำลังกลัวและกังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น สิ่งที่เราคาดการณ์ไปเองล่วงหน้า หน้าที่ของแม่อย่างเราก็คือการทำให้ดีที่สุดเท่าที่ตัวเองทำได้ก็พอแล้ว
2. ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เปิดประเด็นมาก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก เพราะเราคงไม่สามารถควบคุมกลไกของร่างกายที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติได้ ก็ไม่ได้อยากจะเดี๋ยวสุข เดี๋ยวเศร้า แต่มันเป็นเอง มันห้ามตัวเองไม่ได้เลย ฮืออออ…
โอเค เราสั่งการฮอร์โมนในร่างกายตัวเองไม่ได้ แต่ไม่เป็นไรค่ะ เพราะสิ่งที่เราพอจะควบคุมได้ก็คือการไม่ปล่อยให้ตัวเองจมลงไปตามอารมณ์เศร้าหมองเหล่านั้นมากเกินไป คุณแม่ทั้งหลายต้องคอยเตือนตัวเองว่าเมื่อไหร่ที่เริ่มรู้สึกเศร้าหมอง แม่ๆ ควรหาวิธีที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกดีและสดชื่นมากขึ้น เช่น ถ้าอยากระบายให้ใครสักคนรับฟัง ลองเลือกคุยกับคุณแม่รุ่นพี่ เพื่อนสนิท หรือคนในครอบครัวก็ได้
เพราะปัญหาต่างๆ ที่เราพบเจออาจจะไม่ใช่ปัญหาที่หนักหนา เพียงแต่คุณแม่มือใหม่อย่างเรา ยังไม่เคยเจอมาก่อนเท่านั้นเอง
3. ความกังวลจากการเลี้ยงเด็กแรกเกิด
ลูกร้องบ่อยมาก อุ้มยังไงก็ไม่เงียบ โอ๋เท่าไรก็ไม่หยุด วางก็ไม่ได้ กินนมแล้วก็แหวะนมออกมาทุกที แล้วอุจจาระสีเข้มแบบนี้ลูกจะเป็นอะไรไหมนะ นมแม่อันน้อยนิดของเราจะพอให้ลูกกินอิ่มไหมนะ กลางคืนก็ไม่ยอมนอน กลางวันก็ไม่ยอมตื่น เด็กตัวเล็กๆ หนึ่งคน ทำไมถึงได้มาพร้อมสารพัดสารพันปัญหาอย่างนี้
ทีนี้คุณแม่อย่างเราจะทำยังไงกันดี…
ก่อนอื่น เราคงต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กทารกกันเสียก่อน เช่น การที่เด็กทารกร้องไห้แทบจะตลอดเวลา ก็เพราะว่าเขาไม่สามารถพูดบอกความต้องการของตัวเองได้ วิธีเดียวที่ทำได้ก็คือส่งเสียงร้องไห้ออกมาไงล่ะ หรือการที่น้ำนมมาน้อยในช่วงแรก ก็เพราะร่างกายกำลังพยายามปรับตัวให้เข้ากับบทบาทใหม่ครั้งนี้ ฉะนั้นคุณแม่ไม่ต้องกังวลใจไปก่อน
รวมถึงอีกร้อยพันปัญหาที่ทำให้คุณแม่มือใหม่เป็นกังวล ขอให้คิดไว้ว่า ทุกอย่างมีเหตุผลและกลไกตามธรรมชาติ และไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่คุณแม่จะไม่เข้าใจความต้องการของลูกน้อย ก็เพิ่งเจอหน้ากันได้ไม่นานนี่นา ลองให้เวลาลูกและให้เวลาตัวเองได้ทำความรู้จักกันไปเรื่อยๆ นะคะ
4. ความรับผิดชอบและความคาดหวังที่มากขึ้น
ก่อนจะมีลูก เราอาจจะต้องรับผิดชอบแค่ตัวเอง รับผิดชอบในหน้าที่การงาน ดูแลงานบ้านงานเรือน ดูแลสามี แต่ในวันที่เรามีลูกน้อยออกมาแล้ว เราก็กลายเป็นคนที่มีอีกหนึ่งหน้าที่ยิ่งใหญ่เพิ่มขึ้นทันที และแน่นอนว่า เราก็คาดหวังว่าจะทำมันได้ดีจนบางครั้ง ความคาดหวังนั้นก็กลับมาเป็นแรงกดดันตัวเราเองมากเกินไป
ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครเป็นยอดมนุษย์ที่จะสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยพลังวิเศษ แต่เราคือมนุษย์คนหนึ่งที่มีความเหน็ดเหนื่อยในการทำหลายสิ่งหลายอย่างพร้อมกัน มีความท้อแท้เมื่อทำสิ่งต่างๆ ได้ไม่ดีตามที่ตั้งใจ
แต่เรื่องเหล่านี้ คนรอบข้างสามารถช่วยเยียวยาจิตใจคุณแม่อย่างเราได้ ถ้าเพียงเราจะลองเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อ คุณปู่คุณย่า หรือคุณตาคุณยายของเจ้าตัวเล็กดูบ้าง เช่น ขอให้ช่วยล้างขวดนมหน่อยได้ไหม ช่วยเอาผ้าเข้าเครื่องซักผ้าให้หน่อยได้ไหม หรือขอฝากลูกไว้สักสองสามชั่วโมงได้ไหม
เพราะท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าแม่จะมีหน้าที่หลักคือการดูแลลูกน้อย แต่ตัวแม่เองก็ต้องการพักผ่อนและต้องการเวลาให้ตัวเองเช่นกัน ดังนั้นการพยายามหาช่วงเวลาเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้น ก็เหมือนการชาร์จแบตฯ ไปในตัว เมื่อกายพร้อมใจพร้อม จะได้มีพลังในการกลับมารับมือกับเจ้าตัวเล็กได้ดีขึ้นยังไงล่ะ 🙂
COMMENTS ARE OFF THIS POST