เมื่อลูกเริ่มสื่อสารรู้เรื่อง จะกลายเป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่ลูกของคุณจะเปลี่ยนจากเด็กน้อยธรรมดา กลายเป็นเจ้าหนูจำไม เพราะไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์อะไรก็ตาม เขาจะคอยถามคุณว่าทำไม เพราะอะไร… อยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่าง เช่น
แม่: เดี๋ยวเรารีบกลับบ้านกันนะลูก
ลูก: เพราะอะไรครับ
แม่: เพราะว่าฝนกำลังจะตกค่ะ
ลูก: ทำไมฝนจะตกครับ
แม่: …
ช่วงแรกคุณอาจพอหาคำตอบมาอธิบายให้ลูกฟังได้ แต่วันหนึ่งคุณจะพบว่า ยิ่งพยายามอธิบายมากเท่าไร เจ้าหนูจำไมคนนั้นก็ยังคงมีคำถามว่า ‘เพราะอะไร’ และ ‘ทำไม’ วนไปวนมาไม่จบ และคุณก็จะเริ่มประสาทเสีย น้ำเสียงของคุณก็เริ่มแข็งกระด้าง คำตอบคุณก็เริ่มห้วน คุณเริ่มสติแตกและหมดความอดทน
แต่เดี๋ยวก่อน! ก่อนที่คุณจะเริ่มสติหลุดไปมากกว่านี้ อย่าเพิ่งคิดไปเองว่า คุณตอบอะไรผิด ทำไมลูกถึงต้องถามว่าเพราะอะไรอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่คุณก็ใช้ความอดทนและพยายามอธิบายให้เจ้าเด็กน้อยเข้าใจ ด้วยการเปรียบเทียบก็แล้ว ยกตัวอย่างมาเป็นร้อยเป็นพันอย่างอธิบายลูกก็แล้ว แต่ลูกก็ยังถามว่าเพราะอะไรกับเรื่องเดิมที่คุณอธิบายไปแล้วเป็นสิบรอบ
หารู้ไม่ว่า จริงๆ แล้วลูกอาจไม่ได้ต้องการคำตอบที่ถูกต้องจากคุณ แต่ต้องการให้คุณพาเขาไปหาคำตอบต่างหาก!
รู้อย่างนี้แล้ว แทนที่คุณจะทำน้ำเสียงแข็งกระด้างเพื่อแสดงความรำคาญออกมา หรือพูดว่า “ก็แม่บอกไปแล้วไง” ลองเปลี่ยนเป็นพูดว่า “แล้วลูกคิดว่าเพราะอะไรล่ะ” หลังจากนั้นคุณก็แค่รอให้ลูกเป็นฝ่ายหาคำตอบแทน
ลูกอาจต้องการการกระตุ้นอีกเล็กน้อย คุณอาจจะถามคำถามเหล่านี้ต่อไป
“มันจะเกิดอะไรขึ้นถ้า… เราไม่รีบกลับบ้าน แล้วฝนตกลงมาตอนนี้”
“ลูกคิดว่า… เราควรจะรอให้ฝนตกก่อนไหม”
“ลูกเห็นไหมว่า… ท้องฟ้ามืดไปหมดแล้ว”
คำถามพวกนี้จะช่วยให้คุณสามารถโต้ตอบกับลูกต่อไปได้ โดยที่ไม่สติแตกไปเสียก่อน
อีกสิ่งที่สำคัญก็คือ เมื่อคุณตอบด้วยการถามลูกกลับไปว่า “แล้วลูกคิดว่าเพราะอะไรล่ะ” ห้ามคุณใช้น้ำเสียงแข็งกระด้าง หรือน้ำเสียงแสดงความรำคาญเด็ดขาด คุณต้องแสดงให้ลูกเห็นว่า คุณพร้อมและอยากรับฟังไอเดียของลูกจริงๆ
เพราะเด็กๆ ไวต่อการรับรู้ความรู้สึกจากคุณพ่อคุณแม่ของเขามาก ถ้าคุณถามเพราะความรำคาญหรือตอบแบบขอไปที ลูกจะรับรู้ได้ แล้วคุณก็จะต้องกลับมาตอบคำถามว่าทำไม เพราะอะไร วันละหลายล้านรอบต่อไปอยู่ดี
สิ่งที่คุณควรรู้ก็คือ…
1. พอโดนถามกลับ สมองของลูกก็ต้องทำงานอย่างหนักเช่นกัน
จงอดทนเพื่อรอคำตอบ บางครั้งมันอาจใช้เวลานานกว่าที่คุณคิด คุณอาจจะถามคำถามอื่นตามไปบ้าง แต่เชื่อเถอะว่าแค่รอก็สนุกแล้ว
2. ภาษากายของคุณคือกุญแจสำคัญ
ถ้าคุณยืนกอดอกและแสดงความหงุดหงิดออกมา การพูดคุยครั้งนี้จะไม่ได้ผล คุณอาจจะแค่เอียงคอเล็กน้อยระหว่างรอคำตอบ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณตั้งใจรอฟังคำตอบของลูกอยู่
3. คุณอาจต้องช่วยลูกเติมคำในช่องว่าง
ยกตัวอย่าง เช่น คุณบอกให้ลูกหยุดกินยาสีฟัน แล้วลูกถามกลับมาว่า “ทำไมล่ะ ยาสีฟันไม่อร่อยเหรอ” คุณอาจตอบลูกว่า “ใช่แล้ว ยาสีฟันไม่อร่อยเท่าอาหาร แถมไม่มีประโยชน์ที่จะกินเข้าไป และถ้าลูกกินยาสีฟันมากเกินไป อาจทำให้ปวดท้องด้วยก็ได้”
วิธีนี้อาจได้ผลหรือไม่ได้ผลกับลูกคุณก็ได้ (อ้าว!)
เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน วิธีนี้อาจได้ผลกับลูกของคุณหรือไม่ก็ตาม แต่มันไม่เสียหายเลยถ้าคุณจะลอง เพราะนอกจากจะเป็นวิธีที่ดีกว่าการตอบคำถามด้วยความรำคาญหรือขอไปทีแล้ว มันจะทำให้เจ้าหนูจำไมได้ฝึกคิดอีกด้วย
NO COMMENT