READING

ลูกเลือกกิน: 4 วิธีฝึกลูกให้เป็นเจ้าหนูจอมหม่ำ...

ลูกเลือกกิน: 4 วิธีฝึกลูกให้เป็นเจ้าหนูจอมหม่ำ

ลูกเลือกกิน

ลูกเลือกกิน หรือกินยาก คือปัญหาระดับชาติที่สร้างความวิตกกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่ลูกกินยากจะเกิดขึ้นในเด็กอายุระหว่าง 1-7 ปี โดยเฉพาะเด็กวัยอนุบาล มีแนวโน้มที่จะเลือกกิน กินน้อย และกินยากมากที่สุด

Mohammed Moghadasian ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์โภชนาการของมนุษย์ ระบุว่า เด็กทารกจะมีต่อมรับรสประมาณ 30,000 ชิ้นกระจายทั่วปาก ซึ่งมากกว่าผู้ใหญ่ถึงสองเท่า นั่นจึงทำให้เด็กๆ ต้องคอยปรับตัวเมื่อต้องชิมอาหารที่มีรสชาติแปลกใหม่ หรือมีผิวสัมผัสแตกต่างจากที่เคยกิน และทำให้เด็กๆ พยายามที่จะเลือกกินอาหาร หรือกินยากมากขึ้น

หรืออีกนัยหนึ่ง Nancy Hudson นักโภชนาการที่ขึ้นทะเบียนจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย อธิบายเพิ่มเติมว่าอาการเลือกกิน อาจเป็นหนึ่งในวิธีของเด็กปฐมวัย ที่ต้องการประกาศอิสรภาพ และทดสอบขีดความอดทนของคุณพ่อคุณแม่ การเลือกกินแต่อาหารที่ตัวเองชอบเป็นหนึ่งในการแสดงออกว่าต้องการที่จะเป็นผู้ควบคุมชีวิตของตัวเองบ้างเท่านั้นเอง

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องใจเย็นๆ อดทนอดกลั้นกับพฤติกรรมที่ไม่น่ารักเวลากินข้าวของลูก และเปลี่ยนบรรยากาศที่ชวนขมุกขมัวให้เป็นมื้ออาหารทรงพลัง กระตุ้นให้ลูกได้รับรู้ถึงประโยชน์ของอาหารด้วยการพูดคุยแบบสบายๆ ก่อนจะมาเริ่มต้นกันใหม่เพื่อเปลี่ยน ลูกเลือกกิน ให้เป็นลูกจอมหม่ำ ได้ด้วย 4 วิธีดังนี้

1. สร้างระเบียบวินัยด้านการกิน

eatalot_web_1

#ฝึกลูกให้กินข้าวเป็นเวลา และสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกเป็นเด็กที่กินง่าย คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มต้นจากการสร้างระเบียบวินัยที่หนักแน่น แต่ไม่หนักหน่วง ด้วยบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ชวนลูกให้นั่งโต๊ะร่วมกินข้าวพร้อมกัน แม้ว่ามื้อนั้นลูกอาจจะไม่ยอมกิน หรือกินเพียงหนึ่งคำก็ตาม

#นั่งกินข้าวให้เป็นที่ #ไม่เดินตามป้อน กฎระเบียบข้อนี้จะช่วยให้ลูกสามารถกำกับตัวเอง ให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการกินจนอิ่มก่อนที่จะเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นเป็นลำดับถัดไป

#กินข้าวต้องไม่มีหน้าจอ และหลีกเลี่ยงการให้เล่นของเล่น แม้ว่าจะทำให้ยอมนั่งกินข้าวได้ แต่จะทำให้ลูกไม่สนใจเรื่องกิน ส่งผลให้ลูกกินช้า อมข้าว และอิ่มเร็วทั้งที่กินน้อย

2. สอนให้ลูกรู้จัก ‘ความหิว’

eatalot_web_2

#รู้จักความหิว Betsy Hicks ผู้เขียนร่วมจากหนังสือ Picky Eating Solutions แนะนำว่า อย่ากลัวที่จะปล่อยให้ลูก หิวก่อนมื้ออาหาร เพราะสิ่งที่ถูกคือคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรยอมให้ลูกกินจุกจิกก่อนมื้ออาหารหลัก หากลูกอยากขนมสักชิ้น ก็ควรให้หลังจากกินอาหารมื้อหลักแล้ว และได้ในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น

#ไม่กินก็เก็บ กำหนดระยะเวลาให้มื้ออาหารแต่ละมื้อมีเวลาประมาณ 30-45 นาที เมื่อถึงเวลาที่กำหนดให้เก็บจาน แม้ว่าลูกจะยังกินไม่หมดหรือกินได้น้อย แต่ทั้งหมดนี้ ให้คุณพ่อคุณแม่ทำด้วยท่าทีเชิงบวก ไม่รุนแรง และไม่จำเป็นต้องแสดงความกังวลหรือไม่พอใจลูก แต่ให้เปลี่ยนเป็นการงดขนมหรืออาหารว่างก่อนถึงมื้อต่อไป เพื่อกระตุ้นให้ลูกความหิว และมีความรับผิดชอบเรื่องการกินได้ดีขึ้น

3. กระตุ้นความอยากอาหารของลูกทางสายตา

eatalot_web_3

Liz Weiss และ Janice Bissex นักโภชนาการและผู้เขียน No Whine With Dinner: 150 สูตรอาหารเพื่อสุขภาพที่ผ่านการทดสอบสำหรับเด็กจากคุณแม่ Makeover Meal ได้ให้เทคนิคกระตุ้นลูกอยากอาหารด้วยวิธีที่เรียกว่า ‘We eat with our eyes’ ทำให้ลูกน้ำลายสอ ด้วยรูปลักษณ์ชวนกินของเมนูอาหาร

เมื่อไหร่ก็ตามที่เมนูตรงหน้าดูดี มีสีสันน่ากิน มีช่องแบ่งอาหารที่หลากหลาย อุดมไปด้วยสิ่งที่ลูกสนใจ มีอาหารที่สุดโปรดของลูกรวมอยู่ในนั้นบ้าง ก็จะช่วยกระตุ้นความอยากอาหารให้กับลูกเพิ่มมากขึ้น

อีกหนึ่งวิธีที่จะกระตุ้นความอยากอาหารของลูกให้เป็นสองเท่าได้นั้น ก็คือ ให้ลูกมีโอกาสได้เลือกเมนู มีส่วนช่วยคุณแม่ทำกับข้าวด้วยตัวเอง รวมไปถึงเป็นผู้ได้ปลูกพืชผักสวนครัวแล้วนำมาทำกับข้าวด้วยตัวเอง จะทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้กำหนดอาหารได้ จนทำให้อยากกินอาหารได้มากขึ้นในมื้อต่อๆ ไป

4. ส่งเสริมให้ลูกพึ่งพาตัวเอง

eatalot_web_4

การพึ่งพาตัวเองให้เป็นคือ ทักษะชีวิตที่จำเป็นของลูก คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับลูกกินยากให้เป็นเด็กกินง่ายได้ด้วยการฝึกฝนให้ลูกรู้จักการช่วยเหลือตัวเองตามช่วงวัย เช่น ลูกวัยอนุบาลควรจะสามารถกินข้าวและการเก็บจานด้วยตัวเองได้

Emma Waverman ผู้เขียนร่วมในหนังสือ Whining & Dining: Mealtime Survival for Picky Eaters and the Families Who Love Them ระบุว่า การเปิดโอกาสให้ลูกวัยอนุบาล ได้กินข้าวเอง แม้ว่าจะกินได้น้อย หรือเลอะเทอะไปบ้าง แต่ก็จะช่วยให้ลูกกินข้าวได้อย่างสมัครใจ มากกว่าการถูกบังคับด้วยการป้อน ขู่เข็ญ หรือติดสินบน จนทำให้ลูกรู้สึกกดดันและดื้อรั้นมากยิ่งขึ้น

ในทางกลับกัน เมื่อบรรยากาศของมื้ออาหารปราศจากความเครียด เด็กๆ จะเริ่มผ่อนคลายและมีแนวโน้มที่จะลองอะไรใหม่ๆ ตรงหน้าได้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็สบายใจที่ลูกกินง่าย และสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างสมวัย

— อ่านบทความ: ลูกกินยาก ชีสช่วยได้
อ้างอิง
primarybeginnings
theguardian
babycenter
babycenter

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST