READING

โรคมะเร็งในเด็ก: 5 โรคมะเร็งร้ายที่มักพบในเด็ก...

โรคมะเร็งในเด็ก: 5 โรคมะเร็งร้ายที่มักพบในเด็ก

โรคมะเร็งในเด็ก

โรคมะเร็ง (Cancer) เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกายที่มีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดการลุกลามและแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

จากสถิติสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี 2565 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งมากกว่า 1 แสนคนต่อปี หรือ เฉลี่ย 400 คนต่อวัน นอกจากนี้ข้อมูลสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2564 ยังพบว่าโรคมะเร็งและเนื้องอกต่างๆ เป็นกลุ่มโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุดอีกด้วย

จากสถิติข้อมูลของชมรมมะเร็งในเด็ก พบว่า ประเทศไทยมีเด็กที่เป็นโรคมะเร็งประมาณ 100 คน จากประชากรเด็กในประเทศ 1,000,000 คน ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจที่ช่วงอายุที่พบมากที่สุดก็คือเด็กเล็กอายุประมาณ 0-5 ปี

และ 5 โรคมะเร็งที่มักเกิดขึ้นกับเด็ก มีอะไรบ้าง คุณพ่อคุณแม่ลองทำความเข้าใจไปพร้อมกันนะคะ

1. มะเร็งเม็ดเลือดขาว

Cancer_web_1

มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย (Leukemia) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในเด็กได้มากที่สุด ประมาณ 900 คนต่อปี หรือ 25-35 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ป่วยด้วยกลุ่มโรคมะเร็ง

โดยมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กที่พบมากที่สุดคือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน (Acute Leukemia) ซึ่งในปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หากได้รักการรักษาที่ดี ก็มีโอกาสหายขาดประมาณ 80-85 เปอร์เซ็นต์

ส่วนลักษณะอาการที่สังเกตได้ ส่วนมากมักจะทำให้เด็กมีอาการเป็นไข้ อาเจียน ตัวซีด อ่อนเพลีย มีเลือดออกหรือฟกช้ำตามร่างกาย ไปจนถึงความผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต ตับโต ม้ามโต มีการปวดข้อและกระดูก ในเด็กผู้ชายอาจมีอัณฑะโตผิดปกติ

2. มะเร็งสมอง

Cancer_web_2

มะเร็งสมองในเด็ก พบได้มากในเด็กเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคที่แน่ชัด เพราะอาจเกิดจากปัจจัยร่วมระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น ได้รับสารกัมมันตรังสีโดยเฉพาะที่บริเวณศีรษะและไขสันหลัง นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีโรคความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิดก็มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งสมองได้มากกว่าคนทั่วปกติได้

โดยลักษณะอาการก็จะแบ่งเป็นหลายชนิด โดยมักมีจุดเริ่มต้นที่สมองส่วนล่างหรือก้านสมอง อาจมีอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน มองเห็นเป็นภาพซ้อนหรือภาพเบลอ แขนขาอ่อนแรง เดินเซ หรืออาจมีอาการชักได้

3. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

Cancer_web_3

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเกิดขึ้นกับระบบน้ำเหลืองหรือเนื้อเยื่อน้ำเหลือง และยังส่งผลต่อไขกระดูกและอวัยวะส่วนอื่นด้วย มะเร็งชนิดนี้พบรองลงมาจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน โดยแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s Lymphoma: HL) และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin’s Lymphoma: NHL)

ลักษณะอาการมักมีอาการไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เหงื่อออกมากโดยเฉพาะเวลากลางคืน ต่อมน้ำเหลืองบวมโดยเฉพาะบริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ ปัจจุบันการรักษามีอัตราการรอดชีวิต 70-95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขึ้นกับชนิดของโรคและระยะของโรค

4. มะเร็งต่อมหมวกไต

Cancer_web_4

มะเร็งต่อมหมวกไตเป็นโรคมะเร็งก้อนเนื้อในเด็กที่พบได้บ่อยในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี จากข้อมูลการศึกษาของชมรมโรคมะเร็งเด็กแห่งประเทศไทยพบว่า ในปี 2546-2548 มีเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ที่เป็นโรคมะเร็ง 2,792 ราย โดยพบว่ามีเด็กป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมหมวกไต 163 ราย

ลักษณะอาการที่พบได้บ่อยคือ มีไข้ ซีด ปวดกระดูก มีก้อนในท้อง ต่อมน้ำเหลืองโต มีจ้ำหรือจุดเลือดออกตามตัว อาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย

5. มะเร็งที่เกิดจากเซลล์สืบพันธุ์

Cancer_web_5

ช่วงอายุที่มักพบมะเร็งชนิดนี้ได้บ่อยคือช่วงอายุ 1-4 ปี และ 15-19 ปี โดยอาการในเด็กเล็กจะพบว่ามีก้อนบริเวณช่องท้องและก้นกบ ส่วนในช่วงวัยรุ่นนี้จะมีอาการเจอก้อนที่ต่อมเพศ เช่น ลูกอัณฑะ รังไข่ และอาจส่งผลให้เกิด ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยด้วยได้

อ้างอิง
pobpad
samitivejhospitals
phyathai
PPTVHD36
สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST