คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตเห็นลูกกระพริบตาบ่อยๆ หรือมีอาการตากระตุกซ้ำๆ จนทำให้คิดได้ว่าลูกจะมีอาการผิดปกติทางสายตาบ้างหรือเปล่าคะ
ที่จริงแล้วอาการกระพริบตาบ่อยๆ หรือตากระตุกซ้ำๆ ติดๆ กัน เป็นหนึ่งในอาการของโรคติกส์ (TICS) ที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับภาวะเครียดทางจิตใจ มีผลกระทบต่อการปรับตัวทางสังคมของเด็ก และพบร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ย้ำคิดย้ำทำ ซนผิดปกติ ขาดสมาธิ ขาดการยับยั้งชั่งใจ เหมือนเด็กที่มีอาการของโรคสมาธิสั้น และอาจส่งผลให้มีปัญหาด้านการเรียนร่วมด้วย
อาการของโรค Tics

โรค Tics หรืออาการกระตุก เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานของสมองบกพร่อง ร่วมกับปัจจัยด้านความเครียด คำว่า Tics หมายถึงการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ หรือการเปล่งเสียงที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด และเป็นซ้ำ โดยไม่ตั้งใจ พบบ่อยในเด็กวัย 7-11 ปี
อาการของโรคคือเด็กจะมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกเป็นพักๆ ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น กล้ามเนื้อที่ดวงตา มุมปาก และต้นคอ ทำให้มีอาการตาขยิบบ่อยๆ มุมปากกระตุก หรือคอกระตุกบ่อยผิดปกติ
นอกจากนั้นอาการยังอาจจะมาในรูปกิริยาแปลกๆ เช่น อาการจมูกฟุดฟิด สูดจมูก สูดปาก กระแอม ไอ รวมทั้งส่งเสียงประหลาด เช่น เห่า หรือร้องเป็นคำซ้ำๆ
Tics แบ่งได้ 3 ประเภท ตามระดับความรุนแรง

• โรคติกส์ชั่วคราว (Transient Tics) ระดับความรุนแรงน้อยที่สุด ส่วนใหญ่จะพบตั้งแต่วัยอนุบาลหรือประถมต้น แต่จะพบมากที่สุดในเด็กอายุ 7-11 ปี มีอาการเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แล้วจะหายได้เอง แต่อาจจะกลับมาเป็นซ้ำ และเปลี่ยนรูปแบบไป เช่น ครั้งแรกมีอาการขยิบตา พอเป็นครั้งที่สองเปลี่ยนเป็นกระตุกมุมปากแทนได้
• โรคติกส์เรื้อรัง (Chronic Tics) ระดับความรุนแรงมากขึ้น อาการจะเป็นเหมือนชนิดชั่วคราว แต่จะเป็นติดต่อกันนานเกิน 1 ปี ไม่หายไปง่ายๆ บางคนเป็นจนโตหรือเป็นตลอดชีวิต
• โรคทูเรตต์ (Tourett’s Syndrome) เป็นติกส์ระดับรุนแรงที่สุด เด็กที่เป็นโรคทูเรทท์ นอกจากจะมีการกระตุกของกล้ามเนื้อมัดเล็กและยังมีการกระตุกของกล้ามเนื้อมัดใหญ่เช่น ที่แขน หลัง ท้อง จนดูเหมือนคนที่มีเคลื่อนไหวแปลก เช่น สะดุ้งทั้งตัว สะบัดแขน ตีปีก และขว้างของ โดยการกระตุกจะย้ายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น จากไหล่ ย้ายไปแขนขวา แล้วย้ายไปที่หลัง ก็เป็นได้
นอกจากอาการกระตุกของกล้ามเนื้อแล้ว โรคทูเรตต์จะยังมีอาการเปล่งเสียง (Vocal Tics) ร่วมด้วย และอาการทั้งหมดจะเป็นนานเหมือนกับติกส์ชนิดเรื้อรัง (เกิน 1 ปี)
เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ทราบอย่างนี้แล้ว ควรหมั่นสังเกตว่าลูกมีอาการเหล่านี้หรือไม่และมาดูกันว่าควรทำอย่างไร
1. พาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ทางการแพทย์เชื่อว่า Tics เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งพันธุกรรม ชีวภาพ และจิตใจ ทำให้กล้ามเนื้อมีความไวเป็นพิเศษ และกล้ามเนื้อกระตุกได้ง่าย ซึ่งปัจจัยทางจิตใจนั้นสำคัญมาก เพราะอาการจะเริ่มพร้อมๆ กับเวลาที่เกิดความตึงเครียดในสภาพแวดล้อมของเด็ก
เมื่อลูกเริ่มมีอาการควรพาไปพบกุมารแพทย์หรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อตรวจและให้การวินิจฉัยที่แน่นอน
2. ไม่ควรแสดงความกังวล หรือจับจ้องเฝ้ามองลูกเวลามีอาการ

เพราะจะทำให้ลูกยิ่งเครียดและเกิดอาการกระตุกมากขึ้น แล้วชวนลูกทำอะไรให้เพลิดเพลินเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ
3. ไม่ควรดุด่าเมื่อลูกมีอาการ

บางครั้งพ่อแม่ก็ก่อให้เกิดความตึงเครียดโดยไม่รู้ตัว โดยการดุลูก หรือพยายามห้ามไม่ให้ลูกมีอาการกระตุกกล้ามเนื้อต่อหน้าคนอื่น แต่ความจริงแล้วอาการกระตุกเกิดขึ้นโดยที่ลูกไม่ได้แกล้งทำ บางครั้งลูกอาจพยายามควบคุมได้แค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น แต่การกดดันหรือออกคำสั่งจะยิ่งทำให้ลูกเครียดและแสดงอาการมากขึ้นต่อไปได้
4. สอนให้ลูกภาคภูมิใจในตนเอง

คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ลูกมองเห็นข้อดีของตัวเอง โดยการส่งเสริมความสามารถด้านอื่นๆ เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา หรืออะไรก็ตามที่ลูกถนัด เพราะความรู้สึกนี้จะช่วยเยียวยาลูกจากความรู้สึกแย่ ทำให้ลูกมีกำลังใจและเห็นคุณค่าตัวเองมากขึ้น
COMMENTS ARE OFF THIS POST