READING

โรคชิคุนกุนยา : ภัยร้ายจากยุงลายและหน้าฝนที่คุณพ่อ...

โรคชิคุนกุนยา : ภัยร้ายจากยุงลายและหน้าฝนที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง

โรคชิคุนกุนยา

เมื่อพูดโรคร้ายที่มากับยุง คุณพ่อคุณแม่อาจนึกถึงไข้เลือดออกเป็นอย่างแรก แต่ความจริงแล้ว โรคชิคุนกุนยา ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่เป็นอันตรายกับเด็กๆ เช่นกัน

วันนี้เราจึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะอาการของโรคชิคุนกุนยา รวมถึงวิธีป้องกันมาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ

โรคชิคุนกุนยา กับ ไข้เลือดออก แตกต่างกันอย่างไร

Chikungunya_1

โรคชิคุนกุนยากับไข้เลือดออก เกิดจากยุงลายเป็นพาหะเหมือนกัน แต่ลักษณะอาการเด่นของโรคชิคุนกุนยา คือทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดตามข้ออย่างเห็นได้ชัด แต่จะไม่มีภาวะเกร็ดเลือดต่ำและมีเลือดออกรุนแรง ไม่มีอาการผนังเส้นเลือดฝอยผิดปกติจนมีเลือดรั่วซึมออกจากเส้นเลือดอย่างรุนแรง จนความดันโลหิตต่ำ และเกิดภาวะช็อกได้ อย่างโรคไข้เลือดออก

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าโรคชิกุนคุนยาดูไม่เป็นอันตรายและไม่ร้ายแรงเหมือนโรคไข้เลือดออก แต่สำหรับเด็กๆ ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ โรคชิคุนกุนยาก็ส่งผลกระทบต่อร่างกายไม่น้อย

อาการของโรคชิคุนกุนยา

Chikungunya_2

โรคชิคุนกุนยามีระยะฟักตัว 3-7 วัน หลังจากที่ถูกยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคกัด เมื่อครบระยะฟักตัว จะเริ่มมีอาการดังนี้

• มีไข้สูงเฉียบพลัน บางคนอาจจะสูงถึง 40 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นไข้จะลดลงอย่างรวดเร็วภายในสองวัน

• มีผื่นแดงขึ้นกระจายตามตัว อาจจะคันหรือไม่คันก็ได้ ส่วนผื่นที่มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่คือ ตุ่มน้ำใส

• มีอาการปวดข้อ เช่น ข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อมือ ข้อเท้า และอาจมีอาการปวดข้อได้นานเป็นสัปดาห์หรือหลายเดือน

• ตาแดง

• อ่อนเพลีย

• อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศรีษะ อาเจียน ท้องเสีย ซึม และสับสน

การป้องกันโรคชิคุนกุนยา

Chikungunya_3

โรคชิคุนกุนยาจะยังไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะ แต่สามารถให้ยาบรรเทาไปตามอาการได้ แต่ทางที่ดีที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่ควรป้องกันลูกไม่ให้โดนยุงลายกัด ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน หากอยู่นอกบ้านหรือสถานที่เสี่ยง ควรทายากันยุงที่มีสารสกัดจากธรรมชาติให้ลูกด้วยนะคะ

อ้างอิง
sikarin
samitivejhospitals
bumrungrad
Phyathai Hospital

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST