READING

ลูกพูดไม่เก่ง: 5 เคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้ล...

ลูกพูดไม่เก่ง: 5 เคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้ลูกน้อยพูดเก่งมากขึ้น

ลูกพูดไม่เก่ง

ถึงแม้คุณพ่อคุณแม่จะเฝ้ารอคำพูดแรกของลูกมากแค่ไหน แต่ความจริงแล้ว พัฒนาการและทักษะด้านการสื่อสารของลูกไม่ได้เริ่มต้นเมื่อลูกพูดหรือออกเสียงเป็นคำที่มีความหมายได้เท่านั้น เพราะทักษะด้านการสื่อสารและภาษาของลูกสามารถแสดงออกได้ตั้งแต่ในวัยทารก ผ่านการร้องไห้ ส่งเสียงอ้อแอ้ หรือการพยายามแสดงท่าทางเพื่อบ่งบอกความต้องการของตัวเอง

แต่เมื่อลูกเริ่มโต คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ว่าเด็กที่ช่างพูด ช่างคุย มักจะได้รับความสนใจและความเอ็นดูจากผู้ใหญ่รอบข้าง นั่นทำให้คุณพ่อคุณแม่ที่มี ลูกพูดไม่เก่ง เริ่มรู้สึกกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการด้านการสื่อสารและภาษาของลูกน้อย

ดังนั้น เมื่อถึงวัยที่ลูกควรจะเริ่มพูดคุยโต้ตอบได้ดี แต่กลับกลายเป็นว่า ลูกพูดไม่เก่ง พูดน้อย ไม่ช่างเจรจาเหมือนเด็กในวัยเดียวกัน ก็ย่อมทำให้คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลใจได้ เราจึงรวบรวมเทคนิคดีๆ ที่จะช่วยพัฒนาทักษะการพูดและการสื่อสารให้คุณพ่อคุณแม่นำไปปรับใช้กับลูกน้อยให้เป็นเด็กที่กล้าพูดคุย และมีทักษะการสื่อสารที่ดีขึ้นมาฝากค่ะ

1. อ่านนิทานให้ลูกฟังบ่อยๆ

ChildToSpeak_web_1

การอ่านนิทานให้ลูกฟังบ่อยๆ จะช่วยเพิ่มคลังคำศัพท์ให้ลูก ช่วยให้ลูกเรียนรู้ประโยค บทสนทนา การพูดจาโต้ตอบ และยังทำให้ได้พูดคุย ถามตอบกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นและการอ่านนิทานให้ลูกฟัง คุณพ่อคุณแม่ควรใช้น้ำเสียงที่หลากหลายไปตามตัวละคร มีจังหวะ และลีลาการพูดที่แตกต่าง นอกจากจะช่วยให้ลูกรู้สึกสนุกกับนิทานมากขึ้น ยังช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องการใช้เสียง และท่าทางในการสื่อสารมากขึ้นอีกด้วย

2. ชวนลูกร้องเพลง

ChildToSpeak_web_2

เด็กๆ มักจะจดจำคำศัพท์ที่อยู่ในเนื้อเพลงได้ดี และสามารถร้องตามเพลงที่มีจังหวะและเนื้อร้องติดหูได้ง่าย การร้องเพลงกับลูก จึงมีประโยชน์ทั้งช่วยให้ลูกรู้จักคำศัพท์และกระตุ้นให้ลูกอยากออกเสียงร้องเพลงตามจังหวะได้

ดังนั้น แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะพยายามบังคับหรือกดดันให้ลูกพูดบ่อยๆ ลองเปลี่ยนเป็นชวนลูกร้องเพลงและสนุกสนานไปกับลูกดูบ้าง ก็มีผลดีต่อพัฒนาการทางการพูดของลูกเช่นกัน

3. พูดคุยกับลูกบ่อยๆ

ChildToSpeak_web_3

การพูดคุยกับลูกบ่อยๆ เป็นวิธีที่ช่วยให้ลูกเรียนรู้และพัฒนาการสื่อสารได้ดี ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจต้องใช้ความอดทนและพยายามมากหน่อยในการสร้างบทสนทนากับลูก ไม่ควรตัดบท หรือแสดงท่าทีรำคาญ เวลาที่ลูกพูดไม่ชัด หรือเรียบเรียงคำพูดได้ไม่ดี เพราะจะทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจในการพูดมากยิ่งขึ้น

4. รับฟังลูกด้วยความตั้งใจ

ChildToSpeak_web_4

การกระตุ้นให้ลูกพูด นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะต้องใช้ทักษะชวนลูกพูดคุยแล้ว ยังจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเปิดโอกาสให้ลูกพูด ผลัดกันพูด และทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดีของลูก

ในเวลาที่ลูกพูด คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรแสดงท่าที่เพิกเฉย ไม่ใส่ใจ ตัดบท หรือแย่งชิงจังหวะการพูดของลูก แต่ควรรับฟังลูกด้วยความตั้งใจ ช่วยเสริมเมื่อลูกนึกคำศัพท์ไม่ออก หรือเรียบเรียงประโยคไม่ถูก โดยไม่ตำหนิหรือต่อว่าให้ลูกเสียความมั่นใจ เพียงเท่านี้ ก็ช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นได้

5. เลือกน้ำเสียงที่นุ่มนวลในการพูดคุยกับลูก

ChildToSpeak_web_5

คุณพ่อคุณแม่ควรใช้โทนเสียงที่นุ่มนวลและอบอุ่นในการพูดคุยกับลูก พูดด้วยคำที่เข้าใจง่าย ใช้ภาษาที่ชัดเจน เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกกดดันเมื่อต้องสร้างบทสนทนากับคุณพ่อคุณแม่ หลีกเลี่ยงการตะโกน ตะคอก หรือพูดด้วยอารมณ์ เพราะจะทำให้ลูกซึมซับพฤติกรรมและท่าทางการพูดที่ไม่เหมาะสมติดตัวไปใช้กับคนอื่นได้

 

อ่านบทความ: ลูกพูดช้า: 5 สาเหตุทำไมลูกวัยเตาะแตะออกเสียงได้ แต่ไม่ยอมพูด
อ้างอิง
ZERO TO THREE
nhs
Mommy Speech Therapy

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST