เมื่อถามว่าคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกเติบโตขึ้นมาพร้อมทักษะและลักษณะนิสัยอย่างไรบ้าง แต่ละครอบครัวก็คงมีคำตอบที่เรียงตามลำดับความสำคัญแตกต่างกัน
แต่ถึงอย่างนั้น การสอนให้ลูกเป็นเด็กที่รู้จักคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง ก็เป็นหนึ่งในทักษะที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะการ ฝึกลูกให้คิดเอง ไม่ใช่ทักษะที่ต้องรอสอนเมื่อลูกโต แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มสอนลูกได้ตั้งแต่ช่วงวัยอนุบาล
แต่การจะ ฝึกลูกให้คิดเอง คุณพ่อคุณแม่ต้องมีเทคนิคและวิธีการสอนลูก รวมถึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกด้วย
1. คาถาฝึกคิด : ถอย ปล่อย แก้
คุณพ่อคุณแม่ต้องฝึกถอยหนึ่งก้าว ปล่อยให้ลูกคิด และแก้ปัญหาด้วยเอง
Stephanie Irby Coard รองศาสตราจารย์ด้านการพัฒนามนุษย์และการศึกษาครอบครัวที่มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา ระบุว่า การสอนให้ลูกคิดด้วยตัวเอง สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่วัยหัดเดิน โดยให้คุณพ่อคุณแม่ เรียนรู้ที่จะเป็นฝ่าย ‘ถอย’ หนึ่งก้าว แล้ว ‘ปล่อย’ ให้ลูกใช้ความคิด และเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้การคิด เพื่อ ‘แก้’ ปัญหาด้วยตัวเอง
ถอย-ปล่อย-แก้ สามคำนี้จะเป็นคาถาที่ช่วยนำทางให้ลูกไปสู่ประตูแห่งการคิดให้ลูกได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
ยกตัวอย่าง คุณพ่อคุณแม่ให้ลูกเล่นแยกรูปทรงใส่ช่องให้ถูกต้อง จากเดิมคุณพ่อคุณแม่อาจทำให้ดูก่อนหนึ่งครั้ง ลองถอยหลังมาหนึ่งก้าว เปลี่ยนจากทำให้ดู เป็นค่อยๆ บอกด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน เพื่อกระตุ้นให้ลูกค่อยๆ ใช้ความคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง
ในช่วงแรก ลูกอาจหงุดหงิดและงอแงที่ทำไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องค่อยๆ แนะนำอย่างใจเย็น
สำหรับเด็กอนุบาลก็เช่นกัน ให้คุณพ่อคุณแม่รู้จักถอยหนึ่งก้าว ออกมาเฝ้ามองอยู่ห่างๆ ลดคำพูดให้น้อยลง ให้เวลากับลูกได้อยู่กับสถานการณ์ตรงหน้า ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อคิดและค้นหาวิธีที่จะต้องทำต่อไป จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ค่อยมาดูอีกทีว่า คำตอบหรือการแก้ไขนั้นเหมาะสมหรือไม่
2. ปรับโหมดเป็น ‘พลังแห่งความเชื่อมั่น’
Claire Lerner ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและการเลี้ยงดู แนะนำว่า คุณพ่อคุณพ่อสามารถกระตุ้นให้ลูกใช้ความคิด ด้วยการไม่รีบเข้าไปช่วยลูกในทันที แต่ใช้วิธีส่งพลังแห่งความเชื่อมั่นให้กับลูกเยอะๆ บอกลูกเสมอว่า คุณพ่อคุณแม่เชื่อว่าลูกทำได้ คอยอยู่ใกล้ๆ เผื่อว่าลูกต้องการใครสักคนเป็นผู้ช่วย ทำหน้าที่เป็นผู้ฟัง และรอคอยอย่างใจเย็น ไม่เร่งให้ลูกรีบคิด ไม่รบเร้าเพื่อให้ลูกรีบตัดสินใจ
ที่สำคัญการฝึกฝนให้ลูกสามารถคิดด้วยตัวเองได้นั้น ผู้ปกครองจะต้องค่อยๆ คลายการเข้าควบคุมลูก ชี้เส้นทาง หรือกำกับลูก เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้วิธีคิด ผ่านการสร้างเส้นทางที่รอบคอบ และมีประสบการณ์การตัดสินใจด้วยตัวเอง
3. แปลงกายเป็นคุณพ่อคุณแม่นักตั้งคำถาม
• กระตุ้นลูกด้วยคำถามปลายเปิด Terry Kaufman ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ (IMACS) ในรัฐฟลอริด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เป็นนักตั้งคำถามปลายเปิด แทนคำถามว่า ใช่หรือไม่ ซึ่งเป็นวิธีที่ดี ที่จะช่วยให้เกิดกระบวนการคิด เพื่อหาคำตอบในแบบของตัวลูกเองได้
• ตั้งคำถามด้วยความสงสัย สังเกตว่าเมื่อลูกยังเล็ก เขามักจะถามคุณพ่อคุณแม่ด้วยคำว่า ‘ทำไม’ อยู่บ่อยๆ เพราะลูกต้องการรู้คำตอบที่ชัดเจน และการถามว่าทำไม… มักจะจบลงด้วยคำตอบที่ผ่านการคิดอย่างรอบคอบ ที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อกลั่นกรองคำตอบที่ชัดเจนและตรงกับความคิดของตัวเองมากที่สุด
• หลีกเลี่ยงคำถามชี้นำ คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้คำถามนี้ได้เมื่อลูกเข้าสู่วัยอนุบาล ด้วยการตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นเหมือนตอนที่ลูกยังเล็ก โดยที่ไม่ได้เป็นคำถามชี้นำไปสู่คำตอบที่คุณพ่อคุณแม่ได้ตั้งเอาไว้แล้ว รวมทั้งหลีกเลี่ยงการคิดแทนลูกในรูปแบบของคำถาม เช่น แม่รู้ว่าลูกชอบสีเหลืองเพราะมันสว่างที่สุด ลูกชอบเพื่อนคนนี้ เพราะเขาชอบให้ขนมลูกแน่ๆ
• สร้างโจทย์ยากขึ้นด้วยคำว่า ‘สมมติ’ กล้ามเนื้อของลูกจะแข็งแรงได้ดี เพราะออกกำลังกาย และวิ่งเล่น ทักษะการคิดของลูกก็เช่นกัน จะพัฒนาได้เร็วขึ้นอีกหน่อย ด้วยการสร้างโจทย์ที่ยากขึ้นอีกนิด ผ่านแบบฝึกหัดที่มีชื่อว่า ‘สมมติว่า…’ ลูกจะทำอย่างไรในสถานการณ์นั้น รวมทั้งการยกตัวอย่างของเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับคุณพ่อคุณแม่เอง สถานการณ์จากในหนังสือนิทาน หรือสถานการณ์จริงของลูกที่ผ่านมาแล้ว รูปแบบของการสมมติใหม่ๆ มีส่วยช่วยส่งเสริมให้ลูกค้นหาสิ่งที่ต้องคิด จนอาจเกิดเป็นแนวคิดใหม่ที่น่าสนใจ หรือ คิดเพื่อปรับปรุงแก้ไขก็ได้เช่นกัน
4. ลองใช้เทคนิค ‘ฉันสงสัย’
กว่าผู้ใหญ่อย่างเราจะรู้ว่าต้องคิดแบบไหน และต้องทำอะไร ก็ต้องอาศัยประสบการณ์อยู่หลายปี แต่สำหรับเด็ก กระบวนการคิดยังไม่ชัดเจน ประสบการณ์ก็ยังน้อยนิด บางครั้งความคิดของลูกที่พูดหรือทำ อาจจะไม่ค่อยเหมาะสมแต่ก็ไม่ถึงกับไม่ถูกต้องมากนัก แล้วคุณพ่อคุณแม่จะทำอย่างไร? เพื่อให้ฝึกลูกให้คิดเองได้ และคิดใหม่ได้ด้วย
Jason B. Hobbs, LCSW นักสังคมสงเคราะห์คลินิก ประเทศจอร์เจีย แนะนำเทคนิค ‘ฉันสงสัย’ เโดยให้คุณพ่อคุณแม่เริ่มต้นประโยคด้วยคำว่า คุณแม่หรือคุณพ่อสงสัยว่า…
ยกตัวอย่าง ถ้าคุณพ่อคุณแม่ได้ยินว่าลูกกำลังพูดถึงเพื่อนอีกคนในแง่ร้าย แทนที่จะเข้าไปบอกกับลูกว่า ไม่ควรพูดถึงคนอื่นแบบนี้ ลองเปลี่ยนเป็นพูดว่า แม่สงสัยจังเลยว่า เพื่อนคนนั้นจะรู้สึกยังไง ถ้ามาได้ยินลูกพูดถึงเขาอย่างนี้…
ฮอบบส์อธิบายว่า การเริ่มต้นด้วยคำนี้ จะช่วยทำให้ลูกฉุกคิด เริ่มทบทวนความคิดที่เกี่ยวกับคำพูดและการกระทำของตัวเอง เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ได้ด้วยตัวเองต่อไป
COMMENTS ARE OFF THIS POST