READING

ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) : 4 วิธีรับม...

ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) : 4 วิธีรับมือเมื่อวันหยุดยาวทำให้ลูกความรู้ถดถอย

ภาวะการเรียนรู้ถดถอย

ผ่านพ้นวันหยุดยาวอย่างเป็นทางการ คุณพ่อคุณแม่คงรู้สึกเหมือนได้กลับมาเข้าอกเข้าใจความรู้สึกในวันเปิดเทอมของเด็กๆ อีกครั้ง

ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ที่ต้องกลับมาทำงานตามปกติ แต่พอหมดช่วงแห่งเวลาการพักผ่อน เด็กๆ ก็ต้องกลับไปโรงเรียนอีกครั้ง และการกลับมาเรียนหลังวันหยุดยาว คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจพบว่าลูกลืมเนื้อหาที่เคยเรียนมาก่อน เรียนเรื่องใหม่ก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง เกิด ภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือการหยุดยาวจะเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ของลูกกันแน่

ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) หมายถึงการที่เด็กมีความสามารถในการเรียนรู้เรื่องใหม่ลดลง หรือหลงลืมสิ่งที่เคยเรียนรู้มาก่อน ซึ่งมักเกิดขึ้นกับเด็กที่อยู่ในสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ เช่น ห้องเรียนที่ไม่มีคุณภาพ หรือการหยุดเรียนเป็นเวลานาน

เพื่อไม่ให้วันหยุดยาว สร้างปัญหาให้การกลับไปโรงเรียนและการเรียนรู้ของลูก เราเอาเทคนิคป้องกัน ภาวะการเรียนรู้ถดถอย ที่สามารถนำมาปรับใช้กับทุกเทศกาล วันหยุดยาว หรือปิดเทอม เพื่อให้ลูกมีความกระตือรือร้นและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

1. ชวนลูกอ่านหนังสือนอกบ้าน

LearningLoss_web_1

คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่า วันหยุดของเด็กๆ ก็อยากให้ลูกได้พักจากกิจกรรม
ที่ทำเป็นประจำทุกวันบ้าง เช่น ปิดเทอมก็ไม่อยากให้ลูกอ่านหนังสือ วันหยุดก็หยุดพักการอ่านนิทานไปด้วย

แต่หากคุณพ่อคุณแม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ทำเพื่อผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าด้านอื่น หรือสามารถทำได้ตลอดเวลา แม้จะเป็นวันหยุด ลูกก็สามารถหยิบหนังสือที่ชอบออกไปอ่านนอกบ้าน อ่านเล่นตอนที่ต้องนั่งรอเฉยๆ หรือแม้แต่เอาหนังสือออกไปอ่านใต้ต้นไม้หน้าบ้านเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศการอ่าน ก็จะช่วยกระตุ้นให้สมองของลูกเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้

2. พูดคุยกับลูกมากขึ้น เพื่อกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร

LearningLoss_web_2

สำหรับเด็กเล็กหรือวัยก่อนอนุบาล มักจะมีพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสารอย่างก้าวกระโดด เมื่อได้ไปโรงเรียนและเข้าสังคม  แต่การปิดเทอมหรือแม้แต่วันหยุดยาว อาจทำให้ลูกต้องกลับมาเล่นคนเดียว มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ลดลง ทำให้ทักษะการพูด ฟัง หรือพัฒนาการด้านการสื่อสารต้องหยุดชะงัก

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารให้ลูกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพูดคุยกับลูกมากขึ้น เช่น ลองตั้งคำถามปลายเปิดเกี่ยวกับสิ่งที่ลูกพบเจอในแต่ละวัน เพื่อกระตุ้นให้ลูกคิดและสื่อสารความคิดของตัวเองออกมา

3. ไม่เข้มงวดเรื่องเนื้อหา แต่เน้นกิจกรรมส่งเสริมทักษะการคิด

LearningLoss_web_3

คุณพ่อคุณแม่หลายคนกังวลว่า ถ้าพยายามฝึกทักษะหรือให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในวันหยุดมากเกินไป จะทำให้ลูกเครียดหรือรู้สึกว่าไม่ได้พักผ่อนหรือเปล่า  ความจริงแล้ว ทักษะการคิดและเรียนรู้ของเด็กๆ สามารถกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้ในทุกสถานการณ์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เนื้อหาเหมือนที่โรงเรียน แต่คุณพ่อคุณแม่อาจจะสอดแทรกให้เป็นส่วนหนึ่งในกิจวัตรประจำวันช่วงวันหยุดได้ เช่น ชวนลูกเล่นเกมฝึกคิดระหว่างเดินทาง แข่งกันนับป้ายระหว่างนั่งรถ นอกจากจะช่วยกระตุ้นความคิดให้กับลูกแล้ว ยังมีความสนุกสนาน ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวให้แน่นแฟ้นมากขึ้นอีกด้วย

4. อย่าลืมพักผ่อนให้เพียงพอ

LearningLoss_web_4

การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอส่งผลต่อสมาธิและการเรียนรู้ของเด็กอย่างมาก แต่หลายครอบครัวอาจจะใช้เวลาช่วงวันหยุดในการอนุญาตให้ลูกนอนดึกกว่าปกติ แต่ถ้าหากว่าเราปล่อยให้ลูกนอนดึกอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้ลูกเกิดภาวะนอนหลับไม่เพียงพอ ไม่สดชื่น เซื่องซึม ส่งผลต่อสุขภาพและการทำงานของร่างกายแล้ว ยังอาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวมากขึ้นเมื่อกลับเข้าสู่โรงเรียนอีกครั้ง

อ้างอิง
myspringring
wordinblack

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST