READING

ป้องกันลูกจากภาวะซึมเศร้า (Depression) ด้วย 4 เทคน...

ป้องกันลูกจากภาวะซึมเศร้า (Depression) ด้วย 4 เทคนิคสร้างบรรยากาศในบ้าน

ป้องกันลูกจากภาวะซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้า (Depression) เป็นอาการทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของ ‘เซโรโทนิน’ (Serotonin) หรือสารเคมีในสมองมีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข หงุดหงิดง่าย หรือด้อยค่าตัวเอง ซึ่งอารมณ์เหล่านี้จะคงอยู่ยาวนานจนส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยส่วนมาก คนมักเข้าใจว่า ภาวะซึมเศร้า จะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กวัยก่อนเข้าโรงเรียน ก็สามารถมีภาวะซึมเศร้าได้

พญ. กมลวิสาข์ เตชะพูลผล—แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพญาไท 2 เผยว่า สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ก่อให้เกิด #ภาวะซึมเศร้าในเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาในครอบครัว ผลการเรียนตกต่ำ การถูกเพื่อนแกล้ง หรือความหวาดระแวง โดยสิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กเกิดความเครียดสะสม และนำไปสู่การเกิดความผิดปกติทางอารมณ์ หรือโรคซึมเศร้าได้

ดังนั้น การสร้างบรรยากาศภายในบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับลูกถือเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่จะช่วยป้องกันลูกจากภาวะซึมเศร้าได้

หากคุณพ่อคุณแม่อยากลองปรับเปลี่ยนบรรยากาศภายในบ้านให้เต็มไปด้วยพลังบวกสำหรับลูกและทุกคนในครอบครัว เรามีเทคนิคดีๆ มาบอกค่ะ

1. ไม่ทะเลาะกันต่อหน้าลูก

Depression_web_1

บรรยากาศภายในบ้านที่ดีสำหรับลูก อาจไม่ได้หมายถึงการมีบ้านหรูหรา สวยงาม หรือสะดวกสบายเท่านั้น แต่หมายถึงบ้านที่มีบรรยากาศของความรัก ความอบอุ่น และความรู้สึกปลอดภัยที่ลูกจะได้รับจากคุณพ่อคุณแม่ การทะเลาะกันรุนแรงต่อหน้าลูก จึงส่งผลโดยตรงต่ออารมณ์และความรู้สึกของลูก ทำให้เกิดความเครียดสะสม และเกิดภาวะซึมเศร้าได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่การทะเลาะหรือการมีปากเสียงกัน คุณพ่อคุณแม่ควรระงับอารมณ์ หรือแยกกันสักพักหนึ่ง เมื่ออารมณ์เย็นลงแล้ว จึงเปิดใจคุยกันด้วยเหตุผลอีกครั้ง นอกจากจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้ลูกแล้ว ยังเป็นการสอนให้ลูกรู้จักการประนีประนอมและรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นอีกด้วย

2. รักษาสมดุล Family & Free time

Depression_web_2

‘Family Time’ คือ ช่วงเวลาสานสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว โดยคุณพ่อคุณแม่และคุณลูกแต่ละบ้านก็จะมีกิจกรรมสานสัมพันธ์ที่แตกต่างกันไป เช่น เล่นเกมทายภาพ ต่อจิ๊กซอว์ หรือการเล่านิทาน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่มีโอกาสพูดคุยและแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับลูกน้อยได้มากขึ้น รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าเรื่องราวของตัวเองหรือสิ่งที่พบเจอมา ให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับรู้สถานการณ์ของลูก เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ปล่อยให้ลูกเกิดความเครียดสะสมได้

‘Free Time’ คือ ช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกได้มีพื้นที่ส่วนตัว ได้พักผ่อนหรือทำกิจกรรมที่ลูกต้องการ เช่น เล่นเกม ดูการ์ตูน โดยคุณพ่อคุณแม่จะคอยดูอยู่ห่างๆ ไม่เข้าไปร่วมกิจกรรมด้วย ดังที่งานวิจัยกล่าวไว้ ว่าเด็กวัยเรียน หรือช่วงอายุ 5-6 ปี จะเริ่มมีความต้องการความเป็นส่วนตัวและอยากทำกิจกรรมที่ชื่นชอบตามลำพัง ซึ่งการปล่อยให้เด็กวัยนี้มีเวลาส่วนตัวเป็นของตัวเองบ้าง จะช่วยให้พวกเขาผ่อนคลาย และลดอาการเครียดลงได้

3. มอบหมายหน้าที่ให้เจ้าตัวเล็ก

Depression_web_3

เมื่อเข้าสู่วัยเรียน เด็กแต่ละคนจะเริ่มมีลักษณะนิสัยและตัวตนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เด็กบางคนเรียนเก่ง หรือมีความสามารถโดดเด่นก็จะช่วยเสริมความมั่นใจ และสนุกกับการไปโรงเรียนมากขึ้น ในทางกลับกันสำหรับเด็กบางคนที่ไม่ได้โดดเด่นด้านวิชาการ อาจรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น และสะสมจนเกิดเป็นความกดดันได้

ดังนั้น การมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้านให้แก่ลูก เช่น รดน้ำต้นไม้ ช่วยคุณแม่จัดโต๊ะอาหาร หรือให้อาหารสัตว์เลี้ยงหลังกลับจากโรงเรียน จะช่วยกระตุ้นให้ลูกตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองเสมอ

4. จัดบ้านให้น่าอยู่

Depression_web_4

บ้านที่น่าอยู่สำหรับเด็กๆ ไม่จำเป็นต้องตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์หรูราคาแพง แต่หมายถึงบ้านที่ทำให้รู้สึกปลอดภัย ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสมกับการใช้งานและไม่เป็นอันตรายต่อลูกและทุกคนในครอบครัว โดยมีงานวิจัยเผยว่า การจัดและตกแต่งบ้านให้เหมาะสมกับช่วงวัยของลูกจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการด้านอารมณ์ รวมถึงช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย

หลักการพื้นฐานในการตกแต่งบ้านลดความเครียด คือ การจัดแสง โดยเน้นการเปิดรับแสงจากธรรมชาติและไม่ให้บ้านมีมุมอับมืด รวมถึงการจัดระเบียบเฟอร์นิเจอร์ให้ห้องมีความโล่งกว้าง จะช่วยให้ทุกคนภายในบ้านรู้สึกไม่อึดอัดและปลอดภัยมากขึ้น

อ้างอิง
Phyathai
WebMD
Openprairie
The Washington Post

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST