READING

Empty Nest Syndrome : ภาวะซึมเศร้าจากความเหงาเมื่...

Empty Nest Syndrome : ภาวะซึมเศร้าจากความเหงาเมื่อลูกไม่อยู่บ้าน

Empty Nest Syndrome

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เคยเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่ลูกจะโตพอที่จะดูแลตัวเอง มีสังคมของตัวเอง แล้วพ่อแม่อย่างเราจะได้มีเวลาของตัวเองมากขึ้น

แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง พ่อแม่หลายคนกลับรู้สึกใจหายเมื่อนกน้อยต้องบินออกจากรังของพ่อแม่ เกิดเป็นความเหงาและรู้สึกสับสน กลายเป็นภาวะซึมเศร้าจากความเหงา เมื่อลูกไม่อยู่บ้าน หรือสัญญาณเตือนของอาการ Empty Nest Syndrome นั่นเอง

Empty Nest Syndrome คืออะไร ?

EmptyNestSyndrome_web_1

Empty Nest Syndrome หรือ ภาวะรังว่างเปล่า คืออาการซึมเศร้าของคุณพ่อคุณแม่ เมื่อลูกเติบโตและต้องออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านด้วยตัวเอง ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกสับสนเหงา และไม่มีชีวิตชีวา จนกลายเป็นความเศร้าซึมและเบื่อหน่าย เพราะไม่อยากยอมรับความเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของลูกที่มาถึงอย่างไม่ทันตั้งตัว

งานวิจัยพบว่า ภาวะรังว่างเปล่ามักเกิดขึ้นคุณแม่มากเป็นพิเศษ เพราะโดยคุณแม่ส่วนใหญ่อุทิศเวลาเกือบครึ่งชีวิต หรือกว่า 20 ปี ไปกับการเลี้ยงดูลูก เมื่อวันหนึ่งลูกเติบโตแล้ว แม่หลายคนจึงไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองให้กลับมามีบทบาทเป็นผู้หญิงทั่วไป และรู้สึกสูญเสียคุณค่าในตัวเอง เพราะไม่ได้ทำหน้าที่แม่อย่างที่ผ่านมา

EmptyNestSyndrome_web_2

Celia Dodd ผู้เขียนหนังสือ The Empty Nest: How to Survive and Stay Close to Your Adult Child และยังเป็นคุณแม่ที่เคยเผชิญกับอาการนี้มาก่อน กล่าวเอาไว้ว่า “มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก หลายคนบอกฉันว่า ‘จงมีชีวิตต่อไปเถอะ’ ซึ่งฉันเองก็รู้ว่าชีวิตของคนเราจะต้องดำเนินต่อไปอยู่ดี แต่สิ่งที่เป็นศูนย์กลางของชีวิตฉันไม่ได้อยู่ที่นี่อีกต่อไป ฉันรู้สึกว่าบางอย่างที่เหมือนส่วนหนึ่งของร่างกายฉันได้ขาดหายไป”

งานวิจัยกล่าวว่าอาการนี้จะเกิดขึ้นระหว่าง 18 เดือนถึงสองปีหลังจากลูกออกจากบ้าน และหลังจากนั้นคุณแม่จะค่อยๆ ยอมรับความจริงได้ พร้อมกับกลับไปใช้ชีวิตในบทบาทผู้หญิงได้เป็นปกติ

แต่ถ้าหากพ่อแม่ผู้มีอาการไม่สามารถปรับตัวให้ยอมรับความจริงได้ อาจทำให้พ่อแม่ต้องติดอยู่กับความเหงา ความเศร้าจนก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า ซึ่งมีแนวโน้มที่นำไปสู่สุขภาพกายและใจที่ย่ำแย่ลง ป่วยง่าย รวมถึงการเกิดความคิดที่อยากจะทำร้ายตัวเองอีกด้วย

ภาวะรังว่างเปล่าจะหายเองได้ไหม?

นอกจากการขอคำแนะนำจากแพทย์แล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับตัวและดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีการเหล่านี้

1. รับรู้ความรู้สึกของตนเอง

EmptyNestSyndrome_web_3

หากคุณพ่อคุณแม่ยังยอมรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนหรือกดดันตัวเองมากเกินไป เพราะสิ่งสำคัญคือการรับรู้ถึงความรู้สึกเศร้า เหงา และความรู้สึกสับสนของตัวเองต่างหาก เพราะการได้ทบทวนความรู้สึกของตนเอง คือการรับมือกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ดีที่สุด และขั้นต่อไปหลังจากรับรู้ความรู้สึกเหล่านี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกซึ่งกันและกัน หรือระบายความในใจกัับคนรอบข้างที่ไว้ใจและพร้อมจะเข้าอกเข้าใจคุณพ่อคุณแม่ เพราะการรู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเองแล้วได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับใครสักคน คือวิธีการเยียวยาหัวใจที่ดีอย่างหนึ่งเลยล่ะค่ะ

2. ลิสต์รายการที่อยากทำ

EmptyNestSyndrome_web_4

การเริ่มเขียนถึงสิ่งที่อยากทำในอนาคต จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ได้เริ่มสร้างเป้าหมายใหม่ๆ ในชีวิต เช่น การออกไปเที่ยวในสถานที่ใหม่ๆ ที่ไม่เคยไป การออกบูทหรือเปิดท้ายขายของในแบบที่ไม่เคยทำ จนไปถึงการสร้างสวนสวยๆ ในบ้าน โดยวิธีนี้ยังเป็นการสร้างคุณค่าให้กับคุณพ่อคุณแม่ได้ด้วยว่า คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถทำสิ่งที่ตนเองรักได้อีกมากมาย ไม่ได้มีแค่บทบาทการเลี้ยงลูกเพียงอย่างเดียว

3. ปรับตัวเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับลูก

EmptyNestSyndrome_web_5

แน่นอนว่าเมื่อลูกโตขึ้น บทสนทนาและวิธีการพูดคุยมักเปลี่ยนไป พ่อแม่จะรู้ดีว่าลูกเริ่มเป็นผู้ใหญ่และการมองโลกของลูกมักไม่เหมือนเดิม แต่สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือการปรับตัวกับบทสนทนาใหม่ๆ และรักษาความสัมพันธ์กับลูกเอาไว้ เช่น การติดต่อทางโทรศัพท์ หรือพูดคุยกันบนช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ การตั้งใจรับฟังเรื่องราวต่างๆ ของลูกโดยไม่ไปตัดสินใจแทนพวกเขา เป็นอีกวิธีที่ทำให้ลูกรู้สึกเชื่อมโยงกับครอบครัวและคุณพ่อคุณแม่เสมอ แม้จะไม่ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันเหมือนตอนเด็กๆ ก็ตาม

 

Empty Nest Syndrome: 4 วิธีรับมือ ‘ภาวะเหงาซึม’ สำหรับคุณแม่ฟูลไทม์
อ้างอิง
Better Health
Bangkok Hospital
The Guardian
Unlockman

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST