READING

สอนลูกเรื่องความตาย: และวิธีอธิบายลูกเรื่องการจากล...

สอนลูกเรื่องความตาย: และวิธีอธิบายลูกเรื่องการจากลา

สอนลูกเรื่องความตาย

สำหรับลูกวัยอนุบาล แม้ว่าจะเริ่มรู้จักและได้ยินคำว่า ‘ความตาย’ มาบ้าง แต่แต่ก็อาจยังไม่เข้าใจความหมายการตายและการจากลาตลอดชีวิตได้อย่างลึกซึ้ง การ สอนลูกเรื่องความตาย จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับคุณพ่อคุณแม่ไม่น้อย

Jill Macfarlane ผู้อำนวยการโครงการ The Sharing Place ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรในซอลต์เลกซิตี พูดถึงการ สอนลูกเรื่องความตาย เอาไว้ว่า คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าลูกวัยอนุบาลอาจจะร้องไห้เสียใจเหมือนผู้ใหญ่ เมื่อเจอกับการจากลาหรือการตายของผู้เป็นที่รัก แต่ตรงกันข้าม เด็กๆ อาจจะไม่มีคำถาม หรือไม่ได้ร้องไห้ตามผู้ใหญ่ นั่นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเด็กๆ ยังไม่แน่ใจความรู้สึกของตัวเองมากพอ และไม่รู้ว่าจะรับมือกับข่าวร้ายนั้นอย่างไร

แต่ความจริงแล้ว การจากลาของคนที่เป็นที่รัก จะอาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและจิตใจของลูกวัยอนุบาลไม่น้อย เช่น ลูกอาจเกิดการสะดุ้งตื่นและร้องไห้กลางดึก ฉี่รดที่นอน กินข้าวน้อยลง ไม่ค่อยสดใส หรือกระตือรือร้นที่จะเล่นเหมือนปกติ นอกจากนั้น การจากลาอาจทำให้ลูกมีความวิตกกังวัลเกี่ยวกับการแยกจากกันมากขึ้น

การ สอนลูกเรื่องความตาย จะช่วยให้ลูกเข้าใจว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และคุณพ่อคุณแม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวมากมายที่เกี่ยวข้องกับการจากลาให้ลูกเตรียมตัวรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ เผื่อวันที่ลูกจะต้องเผชิญหน้ากับการตายของญาติผู้ใหญ่ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงแสนรักอย่างน้อยลูกจะได้มีภูมิคุ้มกันจิตใจ ในวันที่ความโศกเศร้าที่สุดมาถึงเร็วกว่าที่คาดคิด ด้วยวิธีดังนี้ค่ะ

1. เตรียมข้อมูลเรื่องการจากลาฉบับเด็กอนุบาล

ExplainDeath_web_1

#เรียนรู้วัฏจักรธรรมชาติ เมื่อความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ดังนั้นธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวจึงเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องความตายได้ดีที่สุด เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นวัฏจักรชีวิตตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่างเช่น ผีเสื้อ แมลงปอ กบ หรือแม้ต้นไม้ที่แห้งเหี่ยวและเฉาตาย เพื่อให้ลูกเข้าใจว่าเมื่อสิ่งมีชีวิตตายจากไป สิ่งนั้นก็จะไม่สามารถกลับมามีชีวิตเหมือนเดิมได้อีก

#เรียนรู้ธรรมชาติของชีวิต การชวนลูกพูดคุยเรื่องธรรมชาติและสัจธรรมของชีวิต ไม่ใช่เรื่องยากหรือซับซ้อนเกินกว่าเด็กจะเข้าใจได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถเล่ากระบวนการต่างๆ ในชีวิตคนเราให้ลูกเข้าใจได้โดยง่าย เช่น เราเกิดมาเป็นทารกตัวเล็ก ต่อมาก็จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเวลาผ่านไป ทุกคนก็ต้องแก่ลง และตายจากไปในที่สุด แม้ว่าลูกอาจยังไม่เข้าใจความหมายของการเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ดี แต่การมีข้อมูลและความรู้เบื้องต้นไว้ก็จะช่วยให้ลูกมีสามารถเข้าใจสถานการณ์ที่ที่อาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันได้ดียิ่งขึ้น

Barbara Coloroso ที่ปรึกษาด้านการเลี้ยงดูบุตร และนักเขียนหนังสือขายดีระดับนานาชาติ ระบุว่า เด็กอายุประมาณ 5-7 ปี มีความคิดมหัศจรรย์และมีจินตนาการ ส่งผลให้เด็กบางคนอาจรู้สึกผิดเพราะคิดว่าความคิดหรือการกระทำของตัวเองเป็นต้นเหตุของการตายของคนอื่นได้

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องอธิบายเรื่องความตายให้ลูกเข้าใจเรื่องนี้ด้วยนะคะ

2. พร้อมตอบคำถามลูกเสมอ

ExplainDeath_web_2

Eileen Kennedy-Moore นักจิตวิทยาคลินิกประจำอยู่ที่เมืองพรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ ระบุว่า เด็กเล็กๆ ไม่ยึดติดกับอารมณ์เหมือนผู้ใหญ่ และยังไม่เข้าใจเรื่องความตายอย่างถ่องแท้ ดังนั้นการพยายามอธิบายเรื่องความตายอย่างอ้อมค้อมอาจทำให้เด็กเข้าใจผิดได้

#ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาตามวัย เช่น เมื่อลูกเริ่มถามว่า คุณพ่อคุณแม่จะตายเร็วๆ นี้หรือเปล่า, คุณยายแก่และใกล้ถึงเวลาต้องตายแล้วใช่ไหม หรือแม้แต่ลูกอาจกลัวว่าเมื่อตัวเองเจ็บป่วยและไม่สบายแล้วจะทำให้ตัวเองต้องตายจากไปเช่นกันหรือไม่

คุณพ่อคุณแม่สามารถตอบคำถามนี้ให้ลูกเข้าใจได้ ด้วยการใช่คำว่า ‘มากๆ’ ในการอธิบายมากขึ้น เช่น เมื่อคุณยายอายุมากๆ ก็จะตายจากไป, ถ้าเราขับรถด้วยความระมัดระวังมากๆ ก็จะไม่เกิดอุบัติเหตุ, ถ้าลูกรักษาสุขภาพให้แข็งแรงมากๆ เมื่อเจ็บป่วยลูกก็จะรักษาตัวได้ง่าย

#หลีกเลี่ยงคำอธิบายที่ไม่ชัดเจน คุณพ่อคุณแม่บางคนกลัวว่าลูกจะตกใจกับการตายของคนในครอบครัว จึงพยยามใช้วิธีอธิบายแบบหลอกหรือเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น คุณยายแค่นอนหลับไปและไม่ตื่น นั่นทำให้ลูกเข้าใจผิดและสับสนว่า หากเข้านอนแล้วจะหลับไม่ตื่นเหมือนคุณยายได้

3. สามารถพาลูกวัยอนุบาลไปงานศพได้

ExplainDeath_web_3

Ashleigh Schopen ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวิตเด็กจากโรงพยาบาลเด็กแห่งฟิลาเดลเฟีย ให้ความคิดเห็นเรื่องการพาลูกวัยอนุบาลไปงานศพว่า หากลูกต้องการที่จะไปพบคุณย่ายายหรือคนที่เรารักเป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถพาลูกไปได้ แต่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับลูก เช่น บอกลูกล่วงหน้าว่าอาจจะเจอกับความเสียใจมากๆ หรืออาจมีใครสักคนร้องไห้ฟูมฟายภายในงาน เพื่อให้ลูกเตรียมตัวเตรียมใจล่วงหน้ารวมไปถึงอธิบายพิธีการในงานศพให้ลูกรับรู้ไว้สักเล็กน้อย

4. ยอมรับความรู้สึกต่างๆ ไปด้วยกัน

ExplainDeath_web_4

หลังจากเกิดการสูญเสียคนที่รักไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรทำกิจวัตรประจำวันของลูกให้ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติให้มากที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้ลูกรู้สึกสบายใจ และลดอาการพฤติกรรมถดถอยที่อาจเกิดขึ้น

#สะท้อนความรู้สึกให้กับลูก สำหรับเด็กวัยอนุบาล อาจจะยังไม่เข้าใจความรู้สึกของตัวเองได้ทั้งหมด โดยเฉพาะคำว่าเสียใจจากการลาจาก หากพบว่าลูกเริ่มงอแงอย่างไม่มีเหตุผล หลังจากได้ยินข่าวร้าย คุณพ่อคุณแม่สามารถกอดลูกไว้ แล้วสะท้อนความรู้สึก เพื่อให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง และสามารถร้องไห้ได้จนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น

#กล่องความทรงจำที่ดีของเรา หลังจากทุกอย่างค่อยๆ บรรเทาลง หากลูกถามถึงคนที่จากไปอีกครั้ง คุณพ่อคุณแม่สามารถเปลี่ยนจากการตอบคำถาม เป็นการเยียวยาจิตใจด้วยการสร้างอนุสรณ์รำลึกเล็กๆ ไว้ในบริเวณบ้าน เช่น การปลูกต้นไม้ เพื่อให้เราทุกคนยังคงจดจำคนที่จากไปเอาไว้ในใจ ทั้งยังเป็นวิธีที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้ลูกเติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกด้วย

 

— อ่านบทความ: เมื่อความสูญเสียเกิดขึ้น จะสอนลูกให้เข้าใจได้อย่างไร

 

อ้างอิง
childbereavementuk.org
parents.com

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST