READING

ทักษะการแก้ปัญหา: 4 วิธีปลูกฝังทักษะการแก้ปัญหาให้...

ทักษะการแก้ปัญหา: 4 วิธีปลูกฝังทักษะการแก้ปัญหาให้ลูกวัยอนุบาล

ทักษะการแก้ปัญหา

พ่อแม่ทุกคนรู้ดีว่า  ทักษะการแก้ปัญหา สำคัญและจำเป็นต่อการใช้ชีวิตมากแค่ไหน

เพราะการแก้ไขปัญหาเป็นทักษะพื้นฐานที่ลูกจำเป็นต้องเรียนรู้ตั้งแต่ยังเล็ก ถ้าลูกมีทักษะนี้ให้ติดตัว ก็จะช่วยให้ลูกสามารถรับมือและจัดการปัญหาต่างๆ และยังเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตต่อไป

มีการศึกษาในปี 2010 ที่ตีพิมพ์ใน Behavior Research and Therapy นำโดย Emily Becker-Weidman นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นในแมนฮัตตัน พบว่า เด็กที่ขาดทักษะการแก้ปัญหา มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ในขณะที่การฝึกให้เด็กมีทักษะการแก้ปัญหา มีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตของเด็กให้ดีขึ้นได้

เมื่อ ทักษะการแก้ปัญหา เป็นเรื่องสำคัญ  คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถเป็นผู้อยู่เบื้องหลังลูกและปลูกฝังให้ลูกเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ ด้วยเทคนิคการสอนดีๆ ดังนี้ค่ะ

1. สนับสนุนให้ลูกได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง

problemsolvingskills_web_1

Becky Loftfield อาจารย์แห่ง Community of Saints Preschool ระบุว่า เมื่อลูกเจองานยาก เช่น การรูดซิปเสื้อ ติดกระดุม หรือผูกเชือกรองเท้า คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จะรีบให้การช่วยเหลือลูก เพราะคิดว่าทำให้เลยจะง่ายและเร็วกว่า จนลูกรู้สึกคุ้นเคยว่าเมื่อเกิดปัญหา ก็จะมีคุณพ่อคุณแม่ช่วยแก้ไขให้เสมอ

แต่หากคุณพ่อคุณแม่ให้เวลาลูกได้ลองแก้ไขหรือพยายามทำอะไรด้วยตัวเอง ลูกก็จะรู้สึกภาคภูมิใจว่ามือเล็กๆ ของเขาสามารถทำอะไรเองได้ แม้จะใช้เวลามากกว่าที่ควรจะเป็นไปบ้าง แต่การส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเล็กจะส่งผลดีกับลูกในระยะยาวมากกว่า

Paula Polito เจ้าของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก Beary Cherry Tree ระบุว่า “คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาได้ ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน และเปิดโอกาสให้ลูกได้คิดแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่ลูกก็จะได้มีประสบการณ์และการเรียนรู้มากขึ้น”

2. ให้คำแนะนำลูกด้วยคำถาม

problemsolvingskills_web_2

#ตั้งชื่อปัญหา เด็กๆ มาพร้อมกับจินตนาการ หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกกำลังทำบางสิ่งไม่ได้ ลองตั้งชื่อให้ปัญหานั้นๆ เช่น เมื่อลูกทำน้ำหก แล้วไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะตำหนิและต่อว่าลูก คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีตั้งชื่อให้ปัญหานั้น แล้วค่อยๆ บอกให้ลูกคิดหาวิธีจัดการปัญหานั้นอีกครั้ง

#ตอบลูกด้วยคำถาม แทนที่จะรีบบอกให้ลูกรีบไปหยิบผ้ามาเช็ดน้ำ คุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนเป็นชวนลูกคิดว่าจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร เช่น ลูกจำได้ไหมว่าเวลาแม่ทำน้ำหก แม่ทำยังไง เพื่อให้ลูกตั้งสติ คิดทบทวน และหาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน

#แนะแนวทางด้วยคำใบ้ เมื่อลูกพูดว่า ‘ทำไม่ได้’ ให้คุณพ่อคุณแม่ตอบด้วยการถามกลับว่า ‘แล้วเราจะทำยังไงดี’ การถามลักษณะนี้จะได้ผลดีกว่าถามว่า ‘ทำไมถึงทำไม่ได้’

3. คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นนักสังเกตการณ์

problemsolvingskills_web_3

#กฎสามข้อของการเป็นนักสังเกตการณ์ ที่จริงแล้ว เด็กวัยอนุบาลมักจะมีความสามารถด้านการคิดและลงมือทำ มากกว่าที่คุณพ่อคุณแม่คิด บางครั้งสิ่งที่ต้องทำ เพื่อปลูกฝังให้ลูกมีทักษะแก้ปัญหา ก็แค่ทำสามอย่าง ‘ช้าลง ยืนถอยหลัง และคอยสังเกตการณ์’ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ลูกกำลังอารมณ์เสียเพราะทำไม่ได้ หรือไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ ควรปล่อยให้เวลาและสิ่งที่อยู่ตรงหน้าของลูกทำหน้าที่ของมัน และท้ายสุดลูกจะค้นพบการเรียนรู้ได้เอง

มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of the Learning Sciences ระบุว่า เด็กที่ไม่รีบขอความช่วยเหลือจากคนอื่นตั้งแต่แรก แต่กล้าที่จะล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะสามารถเรียนรู้และยอมรับสิ่งต่างๆ ได้ดี  ในขณะที่ การยื่นมือเข้าช่วยเหลือเด็กมากเกินไปนั้น มีส่วนทำให้การเรียนรู้ของเด็กแย่ลงอีกด้วย

4. มอบรางวัลด้วยคำชมเชยให้กับลูก

problemsolvingskills_web_4

#กระตุ้นลูกด้วยคำชมเชยที่เหมาะสม การปลูกฝังให้ลูกวัยอนุบาลมีทักษะการแก้ปัญหา จะมุ่งเน้นไปที่ ‘ความพยายาม’ ของลูก มากกว่า ‘ผลลัพธ์’ คุณพ่อคุณแม่ควรชมเชยลูก จากการที่เขาสามารถพยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเองหรือการพยายามทำอะไรด้วยตัวเอง ด้วยการชื่นชมที่กระบวนการและขั้นตอนมากกว่ารอชื่นชมหลังจากแก้ปัญหาได้

#กระตุ้นลูกด้วยคำพูดให้กำลังใจ เมื่อลูกแก้ปัญหาไม่ได้จริงๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นให้ลูกลองทำสิ่งที่ท้าทายอีกครั้งด้วยคำพูดที่ให้กำลังใจแทน เช่น “วันนี้ลูกพยายามมากแล้ว พรุ่งนี้เรามาลองกันใหม่นะ”

#เปิดใจให้กว้างยอมรับวิธีแก้ปัญหาของลูก Rebecah Freeling โค้ชผู้ปกครองและผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเด็กที่ Wits’ End Parenting แนะนำให้ผู้ปกครองพยายามแก้ปัญหาร่วมกับเด็ก โดยไม่ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบสำเร็จรูปหรือใช้แนวทางของผู้ใหญ่มาเป็นเกณฑ์ตัดสิน

ตัวอย่าง ลูกสองคน อยากเล่นรถของเล่นสีแดงที่มีเพียงหนึ่งคัน ผู้ปกครองควรถามซ้ำๆ ถึงวิธีแก้ปัญหา จนกว่าเด็กๆ จะสามารถตกลงกันเองได้ และที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่จะต้องเปิดใจให้กว้าง ยอมรับวิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ของลูก แม้ว่าจะไม่ใช่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่คาดหวังไว้ก็ตาม

อ้างอิง
parentingforbrain
montessoriacademy.com.au
rasmussen.edu

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST