คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเคยเจอสถานการณ์ที่ลูกบอกว่าลืมสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นลืมทำการบ้าน ลืมเอาของไปโรงเรียน ลืมเก็บของ และอีกสารพัดอาการที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจว่า ลูกขี้ลืม ตั้งแต่ยังเล็กเป็นเพราะความผิดปกติทางการเรียนรู้และความจำ จนอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตต่อไปหรือไม่
ความจริงแล้วอาการขี้ลืมที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กหรือเด็กวัย 3-6 ปี ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป เพราะสมองของเด็กยังไม่พัฒนาอย่างเต็มที่ ทำให้ลูกยังไม่สามารถจดจำ หรือเรียนรู้ว่าอะไรเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจำได้ดีพอนั่นเอง
แต่ถึงอย่างนั้น การช่วยพัฒนาทักษะการจดจำให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก นอกจากจะช่วยลดอาการ ลูกขี้ลืม ได้แล้ว ยังช่วยให้ลูกสามารถเรียนรู้และมีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น ด้วยเทคนิควิธีสอนให้ลูกเป็นเด็กจำเก่ง ดังต่อไปนี้
1. เขียนสมุดบันทึก
การจดบันทึก นอกจากจะช่วยฝึกทักษะทางภาษา การอ่าน และการเขียนแล้ว ยังช่วยฝึกให้ลูกรู้จักการรวบรวมความคิดและฝึกการจดจำเรื่องราวต่างๆ ที่พบเจอในแต่ละวัน รวมถึงเขียนเพื่อวางแผนสิ่งที่ตั้งใจจะทำต่อไป เช่น ให้ลูกเขียนว่าวันเสาร์ที่จะถึงนี้ลูกจะต้องทำอะไรบ้าง ก็จะช่วยฝึกให้ลูกได้คิดและเรียบเรียงสิ่งที่ต้องทำได้ดีขึ้น
นอกจากการจดยังจะช่วยจัดระบบความคิดและความจำให้ลูกแล้ว ยังช่วยสร้างวินัยในการดำเนินชีวิตให้กับลูกได้เป็นอย่างดี
2. เล่นเกมพัฒนาความจำ
คุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมเกมที่ช่วยฝึกความจำให้แก่ลูก เช่น เกมครอสเวิร์ด เกมหาคำศัพท์ เกมบิงโก เกมต่อจิ๊กซอว์ เกมเหล่านี้นอกจากจะช่วยเพิ่มความสามารถในการจดจำแล้ว ยังช่วยให้มีสมาธิ และฝึกความอดทนในการที่จะต้องพยายามแก้ปัญหาให้สำเร็จอีกด้วย
3. ฝึกสมาธิ
การฝึกสมาธิเป็นวิธีการที่ดีมากอย่างหนึ่งในการช่วยเพิ่มพลังการจำ การทำสมาธิสำหรับเด็กง่ายๆ คือการที่เขาได้พักสงบกับตนเอง เช่น ให้ลูกได้นั่งนิ่งๆ อยู่ในมุมที่เงียบสงบ ก็เรียกว่าเป็นการฝึกสมาธิได้แล้ว
นอกจากนั้น การฝึกสมาธิยังช่วยผ่อนคลายความเครียด และช่วยเตรียมให้สมองได้เปิดรับการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ และจดจำบทเรียนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
4. ออกกำลังกายเป็นประจำ
กิจกรรมหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจำของเด็กๆ ได้ดีก็คือการออกกำลังกาย เพราะขณะที่เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายไม่ว่าจะเดิน กระโดด วิ่ง จะส่งผลในการกระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น ทำให้สมองพร้อมที่จะเปิดรับต่อการจดจำในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ดี รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย
5. นอนหลับพักผ่อน
การนอนที่เพียงพอจะช่วยเพิ่มสารนิวโรโทรฟินส์ (Neurotrophins) ซึ่งมีผลต่อการงอกใหม่ของเส้นประสาท ดังนั้น หากลูกนอนไม่เพียงพอก็อาจจะเป็นส่วนทำให้พัฒนาการด้านการเรียนรู้ของลูกเป็นไปอย่างเชื่องช้าได้ ทั้งยังทำให้ขาดสมาธิ ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ และทำให้ความสามารถในการจดจำลดลงได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST