READING

ปลูกฝังความเป็นตัวตน : วิธีปลูกฝังความรู้สึกเป็นตั...

ปลูกฝังความเป็นตัวตน : วิธีปลูกฝังความรู้สึกเป็นตัวตน (อัตลักษณ์) ให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก

ปลูกฝังความเป็นตัวตน

เด็กๆ จะเติบโตขึ้นได้ด้วยกระบวนการบ่มเพาะให้เกิดการเรียนรู้และ ปลูกฝังความเป็นตัวตน ของตัวเอง เมื่อโตขึ้น ลูกจะค้นพบว่าตัวเองมีนิสัยใจคออย่างไร มีความชอบและความสามารถด้านใดเป็นพิเศษ รวมถึงตัวตนของตัวเองนั้นจะส่งผลต่อใคร หรือโลกใบนี้อย่างไรบ้าง

คุณพ่อคุณแม่คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการ ปลูกฝังความเป็นตัวตน หรือสร้างอัตลักษณ์ให้กับลูกได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก ด้วยการมอบประสบการณ์ใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง ผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมรอบตัว

เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยฝึกทักษะทางสังคม สร้างการนับถือตนเอง พัฒนาความมั่นใจ เข้าใจในตัวตนและอัตลักษณ์ของตัวเอง และปลูกฝังความรู้สึกว่าตัวเองมีค่า ได้ด้วย 4 เทคนิควิธีที่สนุกและใช้ได้จริง ดังนี้ค่ะ

1. ขยายโลกใบเล็กให้กว้างขึ้นด้วย ‘การเล่น’

Identity_web_1

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ อธิบายคำว่า อัตลักษณ์ หมายถึง ลักษณะเฉพาะบุคคล มีคนเดียวในโลกที่เป็นแบบนี้ ตัวตนนี้จะเริ่มชัดเจนเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่แสวงหาตัวตน คนรัก ความถนัด และอาชีพของตัวเอง

สิ่งเหล่านี้สามารถเริ่มต้นปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเล็ก โดยเฉพาะเมื่อลูกอยู่ในช่วงอายุ 2-12 ปี และสามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านการเล่นอย่างอิสระ การเล่นที่ต้องใช้นิ้วมือทั้งสิบนิ้ว ไม่ว่าจะเป็นเล่นทราย ระบายสี ปั้นดินน้ำมัน ฉีกและตัด ปะและประดิษฐ์ เล่นบล็อกไม้ เล่นบทบาทสมมติ ปีนต้นไม้ เล่นกีฬา และเล่นดนตรี เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้ค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเองให้เจอ รู้ว่าในแต่ละช่วงวัยของตัวเอง ลูกรู้สึกสนุกกับอะไร ชอบทำอะไร และถนัดอะไรมากเป็นพิเศษ

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้สัมผัสและเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้นเช่น อาหารเมนูใหม่ๆ วัฒนธรรมที่แตกต่าง กิจกรรมที่ไม่เคยทำ สถานที่ที่ไม่เคยไป ยิ่งลูกได้เห็น ได้เรียนรู้ ได้ลงมือทำและได้ใช้ความพยายามมากเท่าไหร่ ลูกก็จะยิ่งมีโอกาสค้นหาสิ่งที่เขาชอบและไม่ชอบมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการสร้างตัวตนของลูกในอนาคต

2. รวมแก็งฟันน้ำนม

Identity_web_2

เมื่อลูกเข้าโรงเรียนอนุบาล จะเริ่มมีเพื่อน หรือกลุ่มเพื่อนที่อาจจะนั่งใกล้กัน หรือชอบเล่นด้วยกันเป็นพิเศษ และการที่ลูกจะเริ่มคบเพื่อนหรือเล่นกับเพื่อนแทนการเล่นคนเดียว ทำให้ลูกต้องเจอความขัดแย้งหรือถูกขัดใจบ้าง แต่ถึงอย่างนั้น ลูกก็จะได้เรียนรู้ทักษะการเข้าสังคม นอกเห็นใจผู้อื่น และรู้จักตัวเองมากขึ้น

#เที่ยวกับแก็งเพื่อนลูก นอกจากเพื่อนในห้องเรียนแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกออกมาเล่นกับเพื่อนข้างบ้าน นัดกลุ่มเพื่อนคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยเดียวกัน ไปทำกิจกรรม หรือเที่ยวค้างคืน เพื่อเปิดประสบการณ์ให้ลูกได้เรียนรู้คนอื่นมากขึ้น เพราะได้เห็นว่าเพื่อนคนอื่นมีนิสัยใจคออย่างไร ชอบเล่นอะไร ชอบทำหรือไม่ทำอะไร มีส่วนทำให้ลูกรู้จักตัวตนของตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

3. หาเวลาชวนกันกลับบ้าน (เกิด)

Identity_web_3

หากคุณพ่อคุณแม่มีภูมิลำเนาหรือบ้านเกิดอยู่ต่างแดน เช่น ไม่ว่าจะเป็นต่างประเทศ หรือบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด การพาลูกเดินทางกลับไปสถานที่เหล่านั้น จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมใหม่ๆ ได้เรียนรู้และซึมซับที่มาที่ไปของคนในครอบครัว และเป็นการสะสมข้อมูลในการสร้างตัวตนของลูกต่อไปได้

#สำรวจชุมชน แนะนำเป็นกิจกรรมไฮไลท์ในช่วงปิดเทอม โดยคุณพ่อคุณแม่อาจพาลูกกลับบ้านเกิด เพื่อสำรวจวิถีชุมชนที่คุณพ่อคุณแม่เคยอยู่ ได้เห็นบ้านเมืองในมุมที่แตกต่างออกไป ได้พบปะผู้คนมากมาย ได้เห็นอาชีพหรืองานอดิเรกที่หลากหลาย ได้เรียนรู้การเข้าหาผู้คนในวัยที่แตกต่างกัน ได้เฝ้ามองฤดูกาลหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว

#เข้าร่วมเทศกาลวัฒนธรรมท้องถิ่น เมื่อมีเวลาอยู่หลายวัน คุณพ่อคุณแม่สามารถเปิดประสบการณ์ของการมีส่วนร่วมกับชุมชน เช่น งานอาสาเล็กๆ น้อยๆ ในหมู่บ้าน ทำกิจกรรมกลุ่มอื่นๆ เข้าร่วมงานบุญต่างๆ นับว่าเป็นวิธีที่มีความหมายต่อเด็กๆ ซึ่งจะต่อยอดเป็นการพัฒนาความรู้สึกของการมีส่วนร่วม และเรียนรู้การมีตัวตนของตัวเองได้

#ทำความรู้จักกับภาษาบ้านเกิด เด็กๆ จะรู้จักตัวตนได้ผ่านคำพูด และหนึ่งในการปลูกฝังที่ดีคือ การให้ลูกได้เรียนรู้ภาษาท้องถิ่นของคุณพ่อคุณแม่ เช่น เว้าอีสาน อู้กำเมือง แหลงใต้ หรือการใช้ภาษาอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน

4. กิจกรรมโต้วาทีฉบับเจ้าจิ๋ว

Identity_web_4

Michelle Grosser มาสเตอร์โค้ช The Clam MOM Podcast ระบุว่า วิธีแสดงตัวตนส่วนใหญ่ มักจะแสดงออกด้วยคำพูด คุณพ่อคุณแม่สามารถปลูกฝังอัตลักษณ์ได้ด้วยการแสดงความรู้สึก และนึกคิดได้ด้วยวิธีง่ายๆ เช่น พูดคุยกับลูกในเรื่องต่างๆ ก่อนเข้านอน เดินเล่นแล้วชวนลูกคุย ระหว่างทางกลับบ้าน หรือตอนไปเที่ยว

#กิจกรรมโต้วาที เพียงแค่การถามคำถามเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น ได้โต้แย้ง ได้ใช้เสียงเล็กๆ ของตัวเองแบ่งปันความคิด กระตุกความอยากรู้อยากเห็น ด้วยการถามแบบขุด เช่น ลูกรู้มาจากไหน ลูกคิดสิ่งนั้นได้อย่างไร ทำไมถึงสรุปได้ว่าเป็นแบบนี้ แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นการพูดคุยที่สร้างบรรยากาศสนุกสนานสำหรับทุกคนในครอบครัวด้วยนะคะ

อ้างอิง
petitjourney
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
michellegrosser

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST