READING

สอนลูกให้มีกาลเทศะ: 4 ทักษะชีวิตที่ช่วยให้ลูกเป็นเ...

สอนลูกให้มีกาลเทศะ: 4 ทักษะชีวิตที่ช่วยให้ลูกเป็นเด็กมีมารยาทรู้จักกาลเทศะมากขึ้น

สอนลูกให้มีกาลเทศะ

จากข่าวเด็กนักเรียนหญิงพิมพ์ข้อความหยาบคายตอบแชตคุณครู ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิ และต่อว่าในตัวเด็ก รวมถึงวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่และสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการตั้งคำถามว่า หรือการ สอนลูกให้มีกาลเทศะ จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามไปแล้วในสังคมปัจจุบัน

ความจริงแล้ว การ สอนลูกให้มีกาลเทศะ เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถแทรกซึมและปลูกฝังให้ลูกเรียนรู้ร่วมกับทักษะชีวิตด้านอื่นได้ตั้งแต่อายุหนึ่งขวบขึ้นไป

โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถ สอนลูกให้มีกาลเทศะ ด้วยวิธีการสอนวิชาทักษะชีวิตที่สำคัญดังต่อไปนี้ค่ะ

1. สอนลูกให้มี ‘วินัย’

guidetodisciplining_web_1

#กิจวัตรประจำวันลูกต้องทำให้ได้ รากฐานของทักษะชีวิตสำหรับเด็ก ควรเริ่มต้นที่ ‘การมีวินัย’ ดังที่ Scott Wooding นักจิตวิทยาเด็กในคาลการี ประเทศแคนาดา กล่าวว่า วิธีการง่ายที่สุดที่จะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้สิ่งที่ถูกต้อง และกระทำสิ่งที่เหมาะสมนั้นก็คือ วินัย ที่ต้องชี้แนะและสอนลูกตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อให้ลูกสามารถควบคุมตัวเองได้ดี จะส่งผลให้ลูกเป็นเด็กรู้จักกาลเทศะมากขึ้นได้

ทางด้าน Sarah Chana Radcliffe ผู้เขียน Raise Your Kids Without Raised Your Voice แนะนำว่า ในช่วงอายุ 5-10 ปี หากเด็กๆ ได้เรียนรู้และฝึกฝนสิ่งใดอยู่เป็นประจำ ก็มีแนวโน้มว่าจะทำสิ่งนั้นได้เป็นอย่างดีในช่วงวัยรุ่น

ดังนั้นเด็กอนุบาลจึงเป็นวัยสำคัญ ที่ต้องฝึกฝนเรื่องของวินัย การมีความรับผิดชอบ และตรงต่อเวลา เพราะสิ่งนี้จะทำให้เด็กๆ รู้จักการควบคุมตัวเอง ฝึกฝนวิธีคิด และรู้ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำอย่างเหมาะสม

2. สอนลูกให้รู้จัก ‘การอดทนรอคอย’

guidetodisciplining_web_2

สิ่งสำคัญของการฝึกฝนเรื่องมารยาทและกาลเทศะ ก็คือ การสอนให้เด็กรู้จักการควบคุมตัวเอง และการสอนให้ลูกอดทนรอคอยให้ได้การรอคอยสำหรับผู้ใหญ่อาจเป็นเรื่องง่าย แต่สำหรับเด็กๆ ความเข้าใจเรื่องเวลายังน้อยเมื่อรวมกับขีดจำกัดเรื่องความอดทน โดยเฉพาะเด็กอายุ 3 — 5 ปี ซึ่งส่วนมากจะอดทนรอคอยได้นานประมาณ 12-15 นาที แต่เมื่อโตขึ้นเป็นเด็กประถมต้นอายุ 6 — 8 ปี จะรอคอยได้นานขึ้น หรือประมาณ 15 – 20 นาที โดยเด็กที่สามารถรอคอยได้ดี สามารถสังเกตจากการเล่นสนุกและมีสมาธิจดจ่อ สามารถอยู่คนเดียวได้ โดยไม่ต้องเรียกหาคุณพ่อคุณแม่ให้มาเล่นด้วย

Stephanie M. Carlson นักจิตวิทยามหาวิทยาลัยมินนิโซตา ระบุว่า ผู้ปกครองในยุคนี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หนุ่มสาวยุคใหม่อดทนรอคอยไม่เป็น ส่วนหนึ่งเพราะความรวดเร็วของเทคโนโลยี และความสะดวกสบายแบบสำเร็จรูป

#แตะแขนเพื่อส่งสัญญาณ วิธีฝึกลูกให้อดทนรอคอย โดยเฉพาะการไม่ขัดจังหวะระหว่างที่ผู้ใหญ่กำลังพูด ด้วยเทคนิค ‘แตะแขน’ คุณพ่อคุณแม่เบาๆเพื่อส่งสัญญาณว่า ลูกต้องการจะพูดเป็นคนต่อไป เมื่อคุณพ่อคุณแม่พยักหน้ารับทราบ และพูดธุระของตัวเองจบแล้ว อย่าลืมหันมาให้ความสนใจกับสิ่งที่ลูกจะพูดต่อไปด้วยนะคะ

#เกมคณิตคิดสูตรรอคอย เปลี่ยนการรอคอยให้เป็นเกม สร้างความสนุกให้ทั้งครอบครัว เมื่อเราอยู่ในที่ที่ต้องรอนานๆ เช่น ร้านอาหาร รอหมอเรียก หรือรอขึ้นเครื่องบิน ด้วยการช่วยกันทายว่า อีกกี่นาทีอาหารจานแรกจะมาเสิร์ฟ หรือเล่นเกมบวกลบเลข เช่น ถ้าเรารอมา 5 นาทีแล้ว แต่อีก 10 นาทีประตูเครื่องบินถึงจะเปิด จะเท่ากับรอกันทั้งหมดกี่นาทีนะ ก็จะช่วยเปลี่ยนความสนใจลูกจากความยาวนานของเวลาเป็นการเรียนรู้คณิตศาสตร์ไปในตัว

3. สอนให้ลูกรู้จัก ‘คิด’

guidetodisciplining_web_3

นอกจากฝึกฝนให้ลูกมีวินัยและอดทนรอคอยให้เป็น ‘การสอนให้ลูกรู้จักคิด’ ก็คือวิธีหนึ่งที่ส่งเสริมให้ลูกเป็นเด็กที่มีมารยาทและมีกาลเทศะต่อไปในอนาคตMichael Sabbeth ทนายความด้านการพิจารณาคดี นักจริยธรรม และผู้เขียน The Good, The Bad and The Difference: How to Talk with Children About Values ให้ความเห็นว่าความเป็นจริง โลกนี้ไม่ได้มีแต่ความถูกผิดหรือดีชั่วเสมอไปเพราะบางครั้งในสิ่งที่ถูกต้องก็มีความผิดที่แย่กว่าซ่อนอยู่ หรือผิดแล้วผิดอีก สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้คือ การให้บทเรียน ได้เรียนรู้สิ่งที่ผิดพลาดเล็กน้อยของตัวเอง หรือ รู้จักกับโลกที่ไม่ได้มีขาวดำเสมอไปด้วยการสอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์แยกแยะ ผ่านการกระตุ้นด้วยคำถามปลายเปิด

ยกตัวอย่าง หากพบเห็นรถยางแบน ลูกคิดว่า ควรทำอย่างไร หากตามหลักจริยธรรม ก็คงต้องตอบว่า ให้การช่วยเหลือเพราะเป็นสิ่งที่ดี อีกมุมหากคุณพ่อคุณแม่สามารถแนะนำให้ลูกคิดหาทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยมากขึ้น เช่น หากคนนั้นเป็นคนร้าย แทนที่ลูกจะให้ความช่วยเหลือด้วยตัวเอง ลองเปลี่ยนเป็นโทรศัพท์แจ้งเหตุหรือขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อกระตุ้นให้ลูกคิดอย่างรอบคอบมากขึ้นก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรต่อไป

4. เรียนรู้ ‘การควบคุมตัวเอง’ ด้วยข้อห้ามสามข้อ

guidetodisciplining_web_4

#ข้อห้ามสามข้อ ที่จะช่วยลูกกำกับตนเองได้ และอยู่ในสังคมได้ดีคือ ข้อ 1 คือไม่ทำร้ายตัวเองและไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตัวเอง ข้อ 2 คือ ไม่ทำร้ายผู้อื่นและไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และข้อ 3 คือ ไม่ทำลายข้าวของทั้งของตัวเองหรือผู้อื่น

ทว่าบทเรียนหรือการเรียนรู้ใดๆ จะช่วยให้ลูกมีทักษะทางสังคม มีมารยาทและมีกาลเทศะ รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร ทำได้หรือไม่ได้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ แบบอย่างที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่ เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเด็กๆ เรียนรู้พฤติกรรม และซึมซับวิธีคิดจากการเลียนแบบของคุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งคนในครอบครัวด้วยนะคะ

 

5 เทคนิคดีๆ สอนลูกให้เป็นเด็กมีมารยาท
อ้างอิง
todaysparent
ตามใจนักจิตวิทยา
apa.org
thechaosandtheclutter
fatherly
รายการดูให้รู้ Dohiru

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST