ถ้าเลือกได้ คุณพ่อคุณแม่ทุกคน ย่อมอยากให้ลูกมีชีวิตที่มีความสุข แวดล้อมด้วยผู้คนและเรื่องราวดีๆ ในชีวิต
แต่ถึงแม้จะต้องการให้ลูกเป็นเด็กที่มีความสุขมากแค่ไหน การ สอนลูกรับมือกับความทุกข์ ก็เป็นเรื่องที่พ่อแม่ทุกคนไม่ควรมองข้าม แม้ผู้ใหญ่หลายคนอาจคิดว่า ความทุกข์กับเด็กไม่ใช่เรื่องคู่กัน และเด็กเล็กคงยากที่จะมีเรื่องอะไรมาทำให้ทุกข์ใจได้
ความจริงแล้วธรรมชาติสอนให้เด็กๆ รู้จักความทุกข์ได้ตั้งแต่แรกเกิด ไม่ว่าจะเป็นความหิว ร้อน ไม่สบายตัว ไม่สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้ หรือแม้แต่ตอนที่ลูกพยายามจะคลาน ยืน และเดินด้วยตัวเอง แต่ทำไม่ได้ในครั้งแรก ทั้งหมดล้วนเป็นความทุกข์ยากเล็กๆ น้อยๆ ที่ลูกสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องรอให้โตเป็นผู้ใหญ่
แต่นอกจากความทุกข์ตามธรรมชาติแล้ว จิตใจที่แข็งแกร่ง สามารถรับมือกับความพ่ายแพ้ ความยากลำบาก และความล้มเหลวได้นั้น ก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนและปลูกฝัง ให้ลูกสามารถผ่านพ้นความทุกข์ยากและกลับมามีความสุขด้วยตัวเองได้
1. ฝึกลูกทำความรู้จักอารมณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอารมณ์เชิงลบ
Amy Morin, LCSW นักจิตบำบัด และผู้เขียนหนังสือเรื่อง 13 Things Mentally Strong People Don’t Do แนะนำว่า สำหรับเด็กเล็กๆ ให้บอกกับลูกว่าความเศร้า โกรธ ผิดหวัง หรือกลัว เป็นเรื่องปกติ ลูกสามารถร้องไห้ไปกับความรู้สึกเหล่านั้นได้ แต่ลูกจะต้องกล้าหาญและเข้มแข็งเพื่อให้ผ่านช่วงเวลานั้นไปได้เช่น เมื่อลูกร้องไห้เพราะผิดหวังที่ไม่ได้กินขนม หลังจากลูกสงบ คุณพ่อคุณแม่สามารถอธิบายกับลูกได้ว่า เป็นเรื่องปกติที่จะผิดหวัง และก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่ลูกจะร้องไห้ แต่จะดีกว่าไหม หากลูกหายใจลึกๆ และเรียนรู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกกับสถานการณ์นั้นอย่างไร แทนการร้องไห้หรือตะโกนเสียงดังเพื่อแสดงความเศร้าเสียใจของตัวเองออกมา
การฝึกฝนให้ลูกรู้จักกับอารมณ์ต่างๆ ทั้งด้านบวกและลบ จะทำให้ลูกค่อยๆ เรียนรู้ เข้าใจ และรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมข้อมูลจาก the Center on the Developing Child โดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า เด็กที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครอง และได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์อย่างถูกต้องเหมาะสม จะช่วยให้เด็กก้าวผ่านสถานกาณ์ที่ตึงเครียดต่างๆ ไปได้ โดยที่เด็กๆ จะเรียนรู้และเติบโต จากการเปลี่ยน ‘ความเครียดเชิงลบ’ ให้เป็น ‘ความเครียดเชิงบวก’ ผ่านการเผชิญหน้า ยอมรับ เรียนรู้ เข้าใจและก้าวต่อไป ก็จะทำให้เด็กค่อยๆ รับมือกับความทุกข์ยากในชีวิตได้ดีขึ้น
2. สอนลูกเผชิญหน้ากับความทุกข์ ด้วยคำว่า S.T.A.N.D.
Michele Borba, EdD นักจิตวิทยาด้านการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดูบุตร ระบุว่า เด็กที่มีความหวัง มักจะไม่หลีกเลี่ยงปัญหา หรือกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความทุกข์ เพราะที่ผ่านมา เด็กๆ ได้เรียนรู้แล้วว่า ทุกปัญหามีทางแก้ไข แต่บางปัญหา ก็ต้องยอมรับให้ได้ว่า สุดมือสอย ก็ต้องปล่อยไป
ด้วยเคล็ดลับจุดประกายสมอง เพื่อมองหาวิธีแก้ปัญหา ที่เรียกว่า S.T.A.N.D. ตัวย่อเพื่อช่วยให้ลูกจำขั้นตอนต่างๆ ได้
S : Slow down so you can think. ช้าลงหน่อย ปล่อยให้ได้คิดสักนิด
T : Tell your problem. เล่าปัญหาที่เกิดขึ้นให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง
A : Ask: “What else can I do?” ถามตัวเองว่า หนูทำอะไรได้อีก
N : Name everything you could do to solve it without judgements. ตั้งชื่อให้กับปัญหา เพื่อแก้ไขและไม่ตัดสิน
D : Decide the best choice and do it. เลือกหนทางที่ดีที่สุดและลงมือทำ
วิธีนี้สามารถใช้ได้กับลูกวัยอนุบาล จนถึงวัยรุ่น ฝึกฝนการรับมือกับความทุกข์ด้วยตัวเอง วันหนึ่งจะเป็นความคุ้นชินที่กลายเป็นนิสัย สู่การมีทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง และโลกที่บางครั้งก็ใจร้ายกับเราไม่น้อย
3. สร้างเวทมนตร์ในหัวใจ
• เวทมนตร์จากตัวเอง ในทุกคำพูดมีเวทมนตร์ซ่อนอยู่ เวทมนตร์ที่เปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นความสุข เปลี่ยนจากความเศร้าให้เป็นพลังเยียวยาเพื่อที่จะลุกขึ้นใหม่ คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้วิธีนี้ มาส่งเสริมให้ลูกเยียวยาตัวเองให้ได้ในวันที่รู้สึกไม่ค่อยดี หลังจากนั้นสอนลูกให้ลดคำพูดที่มองโลกในแง่ร้าย แล้วปรับให้เป็นประโยคเชิงบวกด้วย ‘เวทมนตร์’ ในหัวใจ เช่น หนูเข้าใจ ไม่เป็นไร พรุ่งนี้จะโอเค นอกจากจะฝึกลูกให้พูดกับตัวเองแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าลืมนำมาใช้เพื่อตัวเองด้วย พูดจนกว่าเสียงของคุณพ่อคุณแม่จะเป็นเสียงภายในของลูก เสียงที่บอกว่า ทุกอย่างจะโอเค พลังบวก หรือคำพูดเชิงบวกที่ลูกรับรู้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ลูกเรียนรู้และนำมาใช้ได้ด้วยตัวเอง
• เวทมนตร์จากคนอื่น แบ่งปันสิ่งที่ดี เล่าเรื่องราวจากประสบการณ์ของคุณพ่อคุณแม่ หรือคนที่น่าสนใจ เพื่อให้ลูกเห็นวิธีแก้ปัญหา การรับมือ และการเผชิญหน้ากับความทุกข์ที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งหยิบยกเหตุการณ์บางอย่างที่ลูกสามารถรับมือและผ่านมาได้ดี เพื่อให้ลูกได้มองเห็น และเปิดโอกาสทบทวนไปในตัว
4. เขียนจดหมายถึงตัวเอง
วิธีนี้เหมาะกับเด็กวัยประถมขึ้นไป ที่สามารถเรียบเรียงคำพูดและเขียนออกมาเป็นประโยคได้ คุณพ่อคุณแม่สนับสนุนให้ลูกเขียนจดหมายถึงตัวเองขึ้นมาในทุกๆ ปี โดยในจดหมายให้เขียนเรื่องราวที่ดีที่สุด เรื่องที่ทำให้ใจฟู และเรื่องราวที่แย่ที่สุด หรือเรื่องที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ก่อนจบจดหมาย ให้ลูกเขียนวิธีผ่านพ้นความทุกข์ และให้กำลังใจตัวเองในขวบปีที่จะเพิ่มมากขึ้น เช่น ฉันรู้ว่ามันยาก แต่ฉันทำได้ และหากต้องเจอกับสิ่งนั้นอีกครั้ง ฉันก็จะทำได้เหมือนเดิม
เทคนิคใช้จดหมาย: ทุกครั้งที่ลูกรู้สึกยอมแพ้ เป็นทุกข์ ไม่สบายใจกับเรื่องใดๆ ก็ตาม ให้บอกลูกว่า ลองไปหยิบจดหมายที่เคยเขียนไว้มาอ่านอีกครั้ง จดหมายที่เขียนด้วยลายมือของตัวเอง จะไปกระตุ้นให้ลูกก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยหัวใจที่เข้มแข็งอีกครั้ง
สำหรับเด็กอนุบาล คุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูกเล่าและระบายความรู้สึกออกมา แล้วค่อยๆ ช่วยลูกเรียบเรียงและเขียนแทนลูก เช่นเดียวกัน ใช้จดหมายน้อยนี้ เป็นเครื่องมืออีกทางที่ช่วยให้ลูกวัยอนุบาลก้าวผ่านความรู้สึกแย่ๆ ไปให้ได้ด้วยตัวเอง โดยมีคุณพ่อคุณแม่พร้อมเคียงข้าง
COMMENTS ARE OFF THIS POST