READING

Time-outs อย่างไรให้ดี? แบบไม่ทำร้ายจิตใจลูก...

Time-outs อย่างไรให้ดี? แบบไม่ทำร้ายจิตใจลูก

เมื่อลูกเริ่มเติบโต เด็กๆ ก็จะเริ่มมีพฤติกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น มีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น อยากทำอะไรด้วยตัวเอง รวมไปถึงเริ่มเกิดความสงสัยและอยากรู้อยากเห็นในสิ่งรอบตัวมากขึ้น

พฤติกรรมแปลกๆ ของลูกที่ทำเอาคุณพ่อคุณแม่ต้องปวดหัว เช่น ชอบรื้อข้าวของในตระกร้า ชอบขว้างปาสิ่งของ เอาแต่ใจ ร้องไห้งอแง เวลาอยากได้อะไรแล้วไม่ได้ตามที่ตัวเองต้องการ

คุณพ่อคุณแม่ก็เลยจำเป็นจะต้องมีวิธีการเอาไว้คอยห้ามหรือรับมือกับพฤติกรรมของลูกบ้าง

Time-outs หรือการลงโทษลูกด้วยการให้เวลาลูกได้อยู่นิ่งๆ เพื่อทบทวนตัวเอง เป็นวิธีการที่คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่เลือกใช้และมีส่วนสำคัญในการช่วยให้ลูกเข้าใจและทบทวนพฤติกรรมของตัวเอง โดยไม่ใช้การดุหรือใช้ความรุนแรงกับลูก

แต่ทั้งนี้การ Time-outs ที่ดีต้องทำให้ลูกได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองโดยไม่รู้สึกถูกทิ้งขว้างให้โดดเดี่ยว

แล้วคุณพ่อคุณแม่จะ Time-outs กับลูกอย่างไรให้ได้ผลและไม่ทำร้ายจิตใจลูก ลองมาดูวิธีดีๆ กันค่ะ

1. เข้าใจก่อนว่า Time-outs คืออะไร

Time-outs_web_1

หลายคนอาจเข้าใจว่าการ Time-outs คือการพาเด็กออกไปจากที่ที่เขากำลังทำผิด และปล่อยให้ลูกได้อยู่กับตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการ Time-outs แม้จะหมายถึงการพาลูกออกไปสงบสติอารมณ์แล้ว ก็ยังต้องทำอย่างอื่นร่วมด้วยค่ะ

เมื่อลูกเริ่มงอแง เอาแต่ใจ หรือไม่ทำตามข้อตกลง คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกออกจากที่นั่น แต่ต้องมีการพูดคุยเพื่อบอกเหตุผลสั้นๆ กับลูกไม่เกิน 10 ประโยค ว่าทำไมลูกถึงถูกพาออกมามานั่งเงียบๆ อยู่ตรงนี้ เมื่อลูกสงบสติอารมณ์ได้แล้วค่อยปลอบโยนลูกด้วยการแสดงออกเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นการกอดหรือลูบหัวเบาๆ เพื่อให้ลูกรู้ว่าแม้เขาจะทำตัวไม่น่ารัก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็พร้อมจะให้อภัยและรักเขาอยู่เสมอ

แต่ถ้าลูกยังคงร้องไห้งอแง ไม่ว่าจะทำอย่างไรหรือพาออกมาจากสถานที่เกิดเหตุอย่างไรลูกก็ยังคงไม่หยุดโวยวาย คุณพ่อคุณแม่ต้องประเมินสถานการณ์ว่า วิธี Time-outs ในเวลานั้นอาจไม่ได้ผล ดังนั้นลองเปลี่ยนเป็นใช้วิธีคอยนั่งอยู่ข้างๆ เพื่อปลอบใจลูกแทนก็ได้

2. ไม่แสดงอารมณ์โกรธหรือพูดต่อว่าลูกมากเกินไป

Time-outs_web_2

อีกหนึ่งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่มักเผลอทำพลาดอยู่บ่อยๆ ก็คือการแสดงอารมณ์โกรธ และพูดต่อว่าลูกมากเกินไป การแสดงออกด้วยวิธีนี้นอกจากจะทำให้ลูกเสียใจมากขึ้น สถานการณ์อาจรุนแรงยิ่งขึ้น ยังอาจส่งผลไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกมากขึ้น

วิธีที่ดีคือคุณพ่อคุณแม่จะต้องใจเย็น สงบ และไม่แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวหรือเกรี้ยวกราด ในเวลาที่กำลังใช้วิธี Time-outs กับลูก แต่ต้องพูดกับลูกด้วยน้ำเสียงที่เรียบและนิ่ง เพื่ออธิบายว่าลูกทำอะไรผิดอย่างกระชับและสั้นที่สุด ก่อนจะให้เวลาลูกได้อยู่กับตัวเองสักครู่

3. ดูว่าลูกพร้อมหรือยังกับการ Time-outs

Time-outs_web_3

ไม่ใช่เด็กทุกวัยจะเหมาะกับวิธี Time-outs โดยเฉพาะลูกที่อยู่ในช่วงวัยหัดเดิน ซึ่งเป็นวัยที่การจดจำ จดจ่อ และการมีสมาธิเมื่ออยู่คนเดียวเป็นไปได้ยาก ดังนั้นการ Time-outs ในบางครั้ง แทนที่จะทำให้ลูกได้นั่งอย่างสงบเพื่อทบทวนตัวเอง อาจไม่ได้ผล และกลับกลายเป็นทำให้ลูกไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเองถึงถูกแยกตัวให้ต้องมานั่งอยู่คนเดียว หรือบางครั้งลูกก็อาจจะเผลอใช้ช่วงเวลา Time-outs วิ่งเล่นหรือเล่นสนุกอยู่คนเดียวก็เป็นได้

แต่ถามว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกพร้อมสำหรับการ Time-outs แล้วหรือยัง วิธีการก็คือลองสังเกตว่าลูกเข้าใจในสิ่งที่ถูกห้ามหรือไม่ เช่น เมื่อเห็นว่าลูกกำลังรื้อข้าวของกระจัดกระจาย แล้วคุณพ่อคุณแม่เข้าไปตักเตือนว่า การรื้อของแบบนี้จะทำให้บ้านรก และข้าวของอาจจะหลงหายไปเมื่ออยู่ไม่เป็นที่ แล้วลูกสามารถรับรู้และเข้าใจเหตุผลว่าทำไมเราถึงไม่ควรรื้อของ หรือทำไมเราถึงต้องเก็บของให้เป็นที่ แสดงว่าลูกเริ่มโตพอที่จะเข้าใจเหตุผลและข้อตกลงต่างๆ ได้ เข้าใจได้ว่าว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ ถ้าเป็นแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถทำการ Time-outs เมื่อลูกงอแงหรือเจตนาไม่ทำตามข้อตกลงได้

4. ยืดหยุ่นกับลูกบ้าง

Time-outs_web_4

การใช้วิธี Time-outs กับลูก โดยเฉพาะลูกในช่วงวัยหัดเดิน แม้จะสามารถทำได้ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมีความยืดหยุ่นกับลูกด้วยเช่นกัน เพราะธรรมชาติของเด็กที่เต็มไปด้วยความซุกซน อยากรู้อยากเห็น และอยู่นิ่งได้ไม่นานนัก

การ Time-outs จึงไม่จำเป็นจะต้องกำหนดระยะเวลาตายตัวว่าลูกต้องนั่งอยู่ตรงนั้นกี่นาที แต่ อาจใช้วิธีดูว่าลูกสงบลงและพร้อมที่จะกลับมาอยู่สถานการณ์ปกติหรือยังก็เพียงพอ

รวมถึงหากลูกงอแงในสถานการณ์ที่เขาไม่คุ้นชินมาก่อน ไม่ว่าจะเจอคนที่ไม่คุ้นเคย หรือไปสถานที่แปลกตา ก็ไม่ควรจะเข้มงวดกับลูกมากจนเกินไป เพราะเป็นธรรมชาติที่ลูกอาจไม่ได้ตั้งใจฝ่าฝืนหรือดื้อรั้นเอาแต่ใจกับคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้นถ้าสังเกตได้ว่าพฤติกรรมไม่น่ารักของลูกเกิดจากสถานการณ์ที่ลูกไม่รู้จะรับมือกับมันอย่างไร คุณพ่อคุณแม่อาจเปลี่ยนเป็นใช้วิธีคอยอยู่ข้างๆ ปลอบใจเพื่อให้ลูกรู้สึกอุ่นใจแทนการทำโทษก็ได้

อ้างอิง
babycenter
cdc

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST