READING

ลูกไม่ไว้ใจ : 5 พฤติกรรมที่อาจทำลายความไว้ใจของลูก...

ลูกไม่ไว้ใจ : 5 พฤติกรรมที่อาจทำลายความไว้ใจของลูกไปตลอดกาล!

ลูกไม่ไว้ใจ

ความไว้ใจเป็นหนึ่งในความรู้สึกที่ลูกมักจะมีให้คุณพ่อคุณแม่โดยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเพราะสัญชาตญาณ ความผูกพัน หรือการเลี้ยงดู แต่ลูกมักจะรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยเมื่อได้เห็น อยู่ในอ้อมกอด หรือแม้แต่ได้ยินเสียงคุณพ่อคุณแม่อยู่ใกล้ๆ

แต่บางครั้งกลับเป็นคุณพ่อคุณแม่เสียเอง ที่ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจของลูก ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่การที่ ลูกไม่ไว้ใจ หรือสูญเสียความเชื่อใจในตัวคุณพ่อคุณแม่ มักทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่แข็งแรงมั่นคงอย่างที่ควรเป็น

แล้วพฤติกรรมอะไรบ้างที่คุณพ่อคุณแม่ทำแล้วอาจเป็นต้นเหตุให้ ลูกไม่ไว้ใจ และทำลายความเชื่อใจของลูกไปอย่างยากจะกู้คืน เราลองมาเรียนรู้ไปพร้อมกันค่ะ

1. พ่อแม่ที่ผิดสัญญาพร่ำเพรื่อ

KidsTrust_web_1

คุณพ่อคุณแม่มักใช้วิธีให้คำสัญญา เพื่อกระตุ้นให้ลูกทำตามความต้องการของคุณพ่อคุณแม่ หรือสร้างแรงจูงใจให้ลูกทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ เช่น ถ้าลูกสอบได้ที่หนึ่ง แม่จะซื้อของเล่นใหม่ให้ แต่เมื่อลูกทำได้ คุณพ่อคุณแม่กลับไม่ทำตามสัญญา หรือมีเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้สัญญานั้นไม่เป็นผล หากการผิดสัญญาเกิดขึ้นซ้ำๆ ก็จะทำให้ลูกรู้สึกว่าคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ไม่น่าเชื่อถือ และไม่อยากเชื่อใจคุณพ่อคุณแม่อีกต่อไป

2. พ่อแม่ที่เล่าเรื่องส่วนตัวของลูกให้คนอื่นฟัง

KidsTrust_web_2

คุณพ่อคุณแม่หลายคนคิดว่าลูกยังเด็กเกินกว่าที่จะต้องมีเรื่องส่วนตัวเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายตาพ่อแม่และผู้ใหญ่ที่มักมองว่าการทำอะไรผิดพลาดของเด็กๆ เป็นเรื่องน่ารักน่าเอ็นดู

ถึงแม้จะไม่ได้มีเจตนาร้าย แต่หากคุณพ่อคุณแม่ชอบนำเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องที่ลูกไม่อยากบอกใครไปเล่าให้คนอื่นฟังอยู่เสมอ ก็สามารถทำลายความไว้วางใจ และทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะเล่าเรื่องราวหรือพูดความในใจให้คุณพ่อคุณแม่ฟังอีกต่อไป

3. เผลอลงโทษด้วยการตี

KidsTrust_web_3

Jeffrey Bernstein ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเด็ก 10 Days to a Less Defiant Child กล่าวว่า  “พ่อแม่ต้องตระหนักว่าไม่ใช่แค่คำพูดที่ทำลายความไว้วางใจต่อลูกได้ แต่น้ำเสียงและภาษากายที่ก้าวร้าวก็สามารถทำให้ลูกไม่อยากไว้วางใจพ่อแม่ของตัวเองได้”” เพราะทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวหรือใช้ความรุนแรงกับลูก น้ำเสียงที่ใช้และท่าทางเหล่านั้นจะฝังใจ สร้างความทรงจำที่เลวร้าย และปลูกฝังให้ลูกรู้สึกหวาดกลัวมากกว่าที่จะรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยเมื่อได้อยู่ใกล้คุณพ่อคุณแม่

4. ไม่รับฟังหรือเชื่อคนอื่นมากกว่าลูก

KidsTrust_web_4

เวลาเกิดปัญหา คุณพ่อคุณแม่หลายครอบครัวมักเปิดโอกาสให้คนอื่นอธิบายมากกว่าลูก เช่น เมื่อเพื่อนบ้านบอกว่าเห็นลูกออกไปเล่นเถลไถลไกลจากที่ได้รับอนุญาต แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะถามและเปิดโอกาสให้ลูกได้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น กลับตำหนิและต่อว่าลูกทันที หรือเมื่อลูกพยายามอธิบาย แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ยังใช้อารมณ์และดุด่าโดยไม่ฟังเหตุผล

แท้จริงแล้วคุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักว่าทุกการกระทำของเด็กมีเหตุผลเสมอ และหากคุณพ่อคุณแม่ไม่เชื่อใจลูกก่อน ลูกเองก็ไม่อยากจะเชื่อใจพ่อแม่เช่นกัน

5. เผลอรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของลูก

KidsTrust_web_5

การเคารพความเป็นส่วนตัวของลูกเป็นวิธีพื้นฐานของการสร้างความเชื่อใจจากลูก แต่เมื่อไรที่พ่อแม่เข้าไปก้าวก่ายในพื้นที่ส่วนตัวของลูกโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น แอบอ่านสมุดบันทึก หรือรื้อค้นข้าวของในห้องของลูก  นั่นคือการกระทำที่บ่งบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ไว้ใจลูก ไม่เคารพตัวตนของลูก และการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว จะทำให้ลูกรู้สึกเหมือนถูกคุณพ่อคุณแม่จับผิดตลอดเวลา จนอาจเริ่มปิดบังและมีความลับกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นด้วย

อ้างอิง
The Healthy
MSN
Brightside

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST