READING

ทำยังไงในวันที่รู้สึกว่าลูกไม่รัก...

ทำยังไงในวันที่รู้สึกว่าลูกไม่รัก

ไม่รัก

คุณพ่อคุณแม่เคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่อยู่ดีๆ ลูกก็ไม่ให้ความสนใจ ดูเหมือนรำคาญ ไม่ค่อยอยากเล่นกับคุณพ่อคุณแม่ เวลาแกล้งถามว่ารักกันไหมเนี่ย ลูกก็ตอบว่าไม่รักขึ้นมาดื้อๆ

แล้วอะไรที่ทำให้ลูกน้อยมีพฤติกรรมเมินเฉยใส่คุณพ่อคุณแม่ มันต้องมีที่มาที่ไปใช่ไหมละคะ เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่คงจะต้องย้อนกลับมาสังเกตพฤติกรรมของตัวเอง ไปพร้อมกับหาวิธีรับมือและปรับความเข้าใจกับลูก ด้วยเทคนิคกู้ความรักจากลูกกลับมา ดังนี้ค่ะ

1. ทบทวนว่าเรามอบความรักความเอาใจใส่ให้ลูกแค่ไหน

ทบทวน

อันดับแรกเลยคุณพ่อคุณแม่ควรทบทวนว่าที่ผ่านมา เราเป็นพ่อแม่ที่รักและเอาใจใส่ลูกมากน้อยแค่ไหน มีเวลาให้ลูกมากพอหรือเปล่า อีกทั้งพฤติกรรมที่แสดงออกกับลูกไม่ว่าจะเวลาที่ลูกเป็นเด็กดีหรือเด็กดื้อ คุณพ่อคุณแม่ตอบสนองลูกด้วยท่าทีอย่างไร เพราะทุกพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่มีต่อลูก จะส่งผลต่อความสัมพันธ์และความไว้วางใจที่ลูกมีต่อคุณพ่อคุณแม่ได้

2. เป็นพ่อแม่ที่ใจดีแต่มั่นคงและเด็ดขาดเสมอ

ใจดีแต่มั่นคง

เมื่อลูกเข้าสู่วัยหัดเดิน ลูกจะเริ่มมีต้องการอิสระ อยากรู้ อยากทดลองลิมิตของตัวเอง นั่นเป็นที่มาของพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่มองว่าลูกกำลังจะเป็นเด็กดื้อ ที่ชอบฝืนกฎและไม่เชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่

นับเป็นช่วงวัยแห่งการกระทบกระทั่ง เพราะยิ่งคุณพ่อคุณแม่ขัดใจ หรือใช้วิธีตอบสนองไม่เหมาะสม ลูกก็ยิ่งหาวิธีแสดงออกที่ต่างออกไป ทำให้บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็ตัดปัญหาด้วยการยอมแพ้ และตามใจลูกมากขึ้นเรื่อยๆ 

แต่ความจริงก็คือ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับข้อตกลง ไม่หวั่นไหว และไม่ใช้อารมณ์ต่อสู้กับลูก ขอให้คิดเสมอว่าเราสามารถควบคุมและรักษากฎกติกาในครอบครัวได้ด้วยความรักและความใจดี ซึ่งจะทำให้ได้รับความร่วมมือจากลูกมากกว่าในระยะยาว

3. ถามความรู้สึกของลูก

ความความรู้สึก

ในวันที่ลูกแสดงท่าทีไม่น่ารักหรือใช้คำพูดที่ทำร้ายจิตใจคุณพ่อคุณแม่ เราสามารถลองถามความรู้สึกของลูกได้ ว่าทำไมลูกถึงพูดอย่างนั้น เป็นเพราะลูกกำลังไม่พอใจหรือกำลังโกรธคุณพ่อคุณแม่เรื่องอะไรกันแน่ 

เมื่อทราบสาเหตุแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถให้เหตุผล อธิบาย และปรับความเข้าใจกับลูกได้

4. รู้จักขอโทษเมื่อทำผิด

ขอโทษ

คุณพ่อคุณแม่บางคนรู้ว่าตัวเองทำผิดพลาดต่อลูก เช่น เผลอใช้อารมณ์ ตะคอกหรือตวาดลูกเสียงดัง แต่เมื่ออารมณ์เย็นลงแล้วก็เลือกที่จะปล่อยผ่าน ไม่ขอโทษ หรือแสดงความเสียใจที่ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมใส่ลูก

คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าลูกยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจคำขอโทษ แต่ความจริงแล้ว การเอ่ยปากขอโทษลูกเมื่อทำผิดพลาด จะช่วยให้ลูกมั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะพยายามแก้ไข ปรับปรุง และไม่ทำอย่างนั้นอีก ช่วยให้ลูกเรียนรู้การขอโทษ ให้อภัย และเพิ่มความไว้วางใจในตัวคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นอีกด้วย

อ้างอิง
amotherfarfromhome
todaysparent
lernerchilddevelopment

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST