มีคุณพ่อคุณแม่ไม่น้อยที่กำลังต้องเผชิญปัญหา ลูกติดโทรศัพท์มือถือ แม้ว่าจะพยายามหลีกเลี่ยงและหาทางแก้ไข แต่สมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ของเด็กในปัจจุบันอยู่ดี
และนอกจากสาระความรู้ โลกออนไลน์ยังเต็มไปด้วยสื่อที่ให้ความบันเทิง เย้ายวน และยั่วยุ จนทำให้ลูกเกิดพฤติกรรมติดหน้าจองอมแงม (Nomophobia) ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้จากพฤติกรรมและอาการของลูกที่แปลกไป เช่น รู้สึกวิตกกังวลและหงุดหงิด เมื่อไม่มีหรือไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อเปิดดูอะไรสักอย่าง ไม่สนใจสิ่งรอบตัว ขาดสมาธิ และไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรมตรงหน้าโดยไม่มีโทรศัพท์มือถือได้
อาการเหล่านี้ หากคุณพ่อคุณแม่ละเลย ไม่รีบหาทางรับมือ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมติดโทรศัพท์มือถือของลูกให้เร็วที่สุด ก็อาจเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพและพัฒนาการของลูกต่อไปได้
แต่การจะแก้ปัญหา ลูกติดโทรศัพท์มือถือ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องใช้ความละมุนละม่อม และวิธีที่สร้างสรรค์กว่าการดุ สั่งห้าม หรือยึดโทรศัพท์คืนจากลูกบ่อยๆ เราจึงมีเทคนิคดีๆ ที่อยากให้คุณพ่อคุณแม่เอามาปรับใช้ เพื่อไม่ให้การห้าม กลายเป็นการกระทบกระทั่งและทำร้ายจิตใจกันเกิดขึ้น
1. หาเวลาอยู่กับลูก
ปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานนอกบ้าน จึงมีเวลาอยู่กับลูกอย่างจำกัด แต่อย่างไรก็ตาม ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ เคยให้สัมภาษณ์กับ workpointTODAY โดยกล่าวว่า ธรรมชาติของเด็กเมื่อมีพ่อแม่เล่นด้วย เด็กจะให้ความสนใจกับพ่อแม่มากกว่าอุปกรณ์สื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตอยู่แล้ว
ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่หาเวลาทำกิจกรรมและสานสัมพันธ์กับลูก เช่น เล่นบอร์ดเกม อ่านหนังสือ หรือเล่นกีฬาด้วยกันบ่อยๆ ลูกก็จะเริ่มคลายความสนใจออกจากโทรศัพท์มือถือ เพราะกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ ทั้งสนุกและอุ่นใจกว่าเป็นไหนๆ
2. อธิบายให้ลูกเข้าใจผลเสียของการใช้โทรศัพท์มือถือ
จากบทความของ สันติ จันทวรรณ นักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลมนารมย์ ได้กล่าวไว้ว่า เด็กวัยก่อนเรียน หรือเด็กในช่วงอายุ 3-6 ปี มีพัฒนาการด้านการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล สามารถเรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวที่ต้องใช้หลักเหตุและผลได้
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการห้ามหรือออกคำสั่งกับลูกวัยนี้ ควรใช้การอธิบายเหตุผลให้ลูกเข้าใจ เช่น อธิบายว่าการใช้โทรศัพท์มากเกินไปส่งผลเสียต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กอย่างไรบ้าง
3. สอนให้ใช้โทรศัพท์เป็นเวลา
เมื่อลูกโตพอจะเริ่มให้ใช้โทรศัพท์มือถือ คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มจัดตารางเวลาการใช้โทรศัพท์อย่างเหมาะสมแต่แรก และคอยเป็นคนให้คำแนะนำการใช้โทรศัพท์ให้ลูกอย่างใกล้ชิด
แต่หากไม่มีการตกลงกันก่อน และลูกเริ่มมีอาการติดโทรศัพท์ไปแล้ว การพยายามให้ลูกกลับมาใช้กติกาที่เพิ่งตั้งขึ้น อาจเป็นเรื่องยากในช่วงแรกแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องใจแข็ง และเด็ดขาดกับข้อตกลงนั้นๆ ให้มากที่สุด เพื่อผลลัพธ์คือการเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกอย่างยั่งยืนนั่นเอง
4. เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก
เด็กๆ ชอบเลียนแบบพฤติกรรมของคนรอบตัว โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น ก่อนปรับพฤติกรรมลูก คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มจากการสร้างพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เชิงบวกให้ลูกเห็น เช่น ไม่หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาใช้ระหว่างมื้ออาหาร หลีกเลี่ยงการเล่นโทรศัพท์ในเวลาที่ทำกิจกรรมกับลูก ไม่เล่นโทรศัพท์ก่อนนอน และพยายามใช้โทรศัพท์ต่อหน้าลูกเมื่อจำเป็นเท่านั้น
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือน้อยลง ก็จะมีเวลาทำกิจกรรมในครอบครัวมากขึ้น นอกจากจะช่วยปรับพฤติกรรมลูกแล้ว การมีเวลาให้กันมากขึ้นก็ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้นอีกด้วย
ทั้งโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตมีทั้งประโยชน์และโทษ หากคุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังวินัยการใช้อุปกรณ์สื่อสารให้ลูกอย่างเหมาะสม เราเชื่อว่าการเปลี่ยนพฤติกรรม ลูกติดโทรศัพท์มือถือ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะได้รับอันตรายจากแสงสีฟ้าของหน้าจอ ลดโอกาสเกิดโรคสมาธิสั้น และพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ต่างๆ แล้ว การใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเหมาะสม จะช่วยให้ลูกมีทักษะและวินัยในการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ ดีขึ้นอีกด้วย
COMMENTS ARE OFF THIS POST