READING

ลูกขึ้นป.1 : เตรียมความพร้อมให้ลูกวัยอนุบาล ก่อนขึ...

ลูกขึ้นป.1 : เตรียมความพร้อมให้ลูกวัยอนุบาล ก่อนขึ้นชั้น ป.1

ลูกขึ้นป.1

เด็กอนุบาล 3 ถือว่า เป็นวัยท้ายสุดของการเป็นเด็กเล็ก หรือวัยแห่งการเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะสื่อสารได้ดี ดูแลตัวเองเบื้องต้น และเริ่มเรียนรู้ทางด้านวิชาการที่เพิ่มมากขึ้นในการก้าวขึ้นเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมการศึกษา

Dockett S. และ B. Perry จาก University of NSW ในปี 2007 ระบุว่า ความพร้อมของเด็กปฐมวัยที่จะก้าวสู่เด็กประถม หรือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมความพร้อมให้ ลูกขึ้นป.1 หากลูกได้รับการเตรียมตัวอย่างดี ก็จะทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย มีความมั่นใจ รวมถึงสภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนในโรงเรียนเหมาะสม จะส่งผลให้การเรียนในชั้นประถมของเด็กราบรื่น และมีส่วนที่ทำให้เด็กมีทัศนคติเชิงบวกต่อการเรียนรู้ที่ดี มีผลการเรียนดี และมีสังคมที่ดีขึ้นตามไปด้วย

แต่ความจริงแล้ว ไม่ต้องรอให้ ลูกขึ้นป.1 คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเตรียมความพร้อมให้กับลูกอนุบาล 1 – 2 ให้ค่อยๆ เตรียมตัวอย่างเป็นค่อยไปด้วยการเรียนรู้ตามวัย ก่อนจะเข้มข้นขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของอนุบาล 3 ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ค่ะ

1. ลูกยังเขียนชื่อไม่คล่อง ไม่เป็นไร ทักษะทางอารมณ์สังคมต้องพร้อม

primaryschool_web_1

Audrey Fellowes รองผู้อำนวยการและหัวหน้าโรงเรียนประถมศึกษา Clayfield College ในเมืองบริสเบน ระบุว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เด็กอนุบาล ขึ้นสู่ชั้นประถมหนึ่งได้นั้น ไม่ใช่ความพร้อมด้านวิชาการเสมอไป เด็กๆ อาจจะยังเขียนชื่อตัวเองได้ไม่คล่อง อ่านตัวอักษรได้ไม่ครบถ้วนหรือชัดเจน แต่ความพร้อมที่ต้องก็คือ ทักษะทางด้านอารมณ์และสังคมต่างหาก

• ลูกจะต้องสามารถควบคุมอารมณ์พื้นฐานของตัวเองได้ โกรธได้ เสียใจได้ เศร้าได้ แต่ต้องไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน และไม่ทำลายข้าวของ รวมถึงลูกควรเข้าใจการพ่ายแพ้ แต่ต้องเรียนรู้และฝึกฝนว่า แพ้แล้วเริ่มใหม่ได้ ไม่ใช่แพ้แล้วพาล หรือทำให้ผู้อื่นเสียใจ เช่นเดียวกับที่ลูกควรเรียนรู้ว่าการชนะก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี และลูกควรยินดีกับความชนะของคนอื่นด้วยเช่นกัน

• ลูกสามารถทำตามกฎกติกาได้ ทั้งกฎของบ้าน โรงเรียน และสังคม ซึ่งทักษะเหล่านี้ จะต้องลูกฝังและฝึกฝนกันอย่างต่อเนื่องไปจนถึงตอนโต เพื่อให้ลูกสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

• สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจนและเหมาะสม เช่น การปลูกฝังให้ลูกทักทายผู้ใหญ่ด้วยการยกมือไหว้ รู้จักการขอบคุณและขอโทษ รวมถึงการใช้คำพูดที่เหมาะสม เช่น การใช้ประโยคขอร้องแทนการออกคำสั่ง ไม่พูดแทรกผู้ใหญ่ กล้าถามเมื่อไม่เข้าใจ กล้าขอความช่วยเหลือ และกล้าปฏิเสธหรือปกป้องตัวเองหากกำลังจะถูกเอาเปรียบจากผู้อื่น

2. สอนให้พึ่งพาตัวเองได้ รับผิดชอบตัวเองและส่วนรวมเป็น

primaryschool_web_2

การพึ่งพาตัวเองสำหรับเด็กก่อนวัยประถม หมายถึงการดูแลรับผิดชอบตัวเองในการทำกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น อาบน้ำ สระผม แปรงฟัง เข้าห้องน้ำเองได้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงทำความสะอาดพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองได้ จดจำข้าวของของตัวเองได้ แต่งตัวเอง ติดกระดุม ใส่รองเท้า ใส่ถุงเท้า หวีผม เช็ดน้ำมูกด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือทิชชู่โดยไม่ป้ายไปกับแขนเสื้อ หรือกินขนมแล้วไปล้างมือ แทนการเช็ดกับชายเสื้อหรือกางเกงของตัวเอง นั่งที่โต๊ะอาหารเพื่อกินข้าวเองได้ หรือแม้แต่การจัดของใส่กระเป๋านักเรียนของตัวเองได้ถูกต้องครบถ้วน และถือได้ด้วยตัวเองเสมอ

ส่วนการรับผิดชอบตัวเองและส่วนรวม หมายถึง นอกจากดูแลและพึ่งพาตัวเองได้แล้ว ลูกควรเข้าใจว่าการกระทำของตัวเองส่งผลต่อคนรอบข้างอย่างไร เช่น ถ้าเล่นของเล่นแล้วไม่เก็บเข้าที่ จะทำให้บ้านรก ถ้าใช้ของอย่างไม่ระมัดระวัง จะทำให้ข้าวของเสียหาย หรือการรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง เช่น ทำการบ้านเสร็จแล้วค่อยไปเล่น จัดกระเป๋าและชุดนักเรียนก่อนนอน ทำงานบ้านที่ได้รับมอบหมายเสร็จค่อยไปทำอย่างอื่น สิ่งนี้จะพัฒนาไปเป็นความรับผิดชอบด้านการเรียน การแบ่งหน้าที่ ช่วยเหลือกันและกันในการทำงานเป็นกลุ่ม และการเล่นกีฬาเป็นทีมให้กับลูกในวัยประถมได้เป็นอย่างดี และช่วยให้ลูกเป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมห้องได้ดีขึ้น

3. เริ่มต้นกิจวัตรและตารางเวลาชีวิตเวอร์ชั่นใหม่

primaryschool_web_3

สำหรับเด็กประถมนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรจัดให้มีกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเข้ามาในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถบอกให้ลูกเตรียมตัวหรือสอนให้ลูกทำได้ด้วยตัวเองตั้งแต่ช่วงอนุบาล 3  เช่น สอนให้ลูกเตรียมตัวก่อนไปโรงเรียนด้วยตัวเอง เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนได้เองตามเวลา อาบน้ำแต่งตัวเองโดยไม่ต้องให้คุณพ่อคุณแม่คอยเคี่ยวเข็ญจัดสรรเวลาทำการบ้าน เวลาเล่น เวลาทำงานบ้าน เวลาพักผ่อน และเวลาเรียนอย่างเป็นระบบมากขึ้น

สิ่งที่แตกต่างของเด็กอนุบาลกับเด็กประถมคือ วิชาเรียนที่มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องปลูกฝังให้ลูกจัดกระเป๋าและเตรียมเสื้อผ้าสำหรับวันต่อไป

เทคนิคที่จะช่วยให้ลูกเห็นภาพและเข้าใจความเป็นเด็กประถมได้ดีก็คือ เรื่องเล่าสมัยเด็กของคุณพ่อคุณแม่ เช่น วันแรกของการเป็นเด็ก ป.1 เป็นยังไง แม่เคยตื่นเต้นจนร้องไห้ไม่ยอมไปโรงเรียนเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ต้องไปแล้วพบว่า ไปโรงเรียนประถมนั้น สนุกกว่าที่คิด หรือ การลืมกล่องดินสอตั้งแต่วันแรก แล้วแก้ไขสถานการณ์อย่างไร สิ่งที่สนุกที่สุดของการเป็นเด็กประถมคืออะไรเพื่อให้ลูกรู้ว่าเด็กทุกคนต้องเผชิญหน้ากับการเป็นเด็กประถมหนึ่งเมื่อถึงเวลา รวมทั้งคุณพ่อคุณแม่ก็เคยผ่านการเป็นเด็กประถมมาทั้งนั้น

แต่ถึงอย่างนั้น เด็กส่วนมากก็ยังมีความวิตกกังวล และกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ เช่น คุณครูจะดุหรือเปล่า เพื่อนใหม่จะเป็นอย่างไร จะต้องอยู่โรงเรียนนานขึ้นแค่ไหน แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถช่วยคลายความกังวลให้ลูกได้ด้วยการพูดคุยให้ลูกรู้ลักษณะการเรียนของเด็กประถมล่วงหน้า เพื่อให้ลูกเตรียมตัวและเตรียมใจ จะได้ไม่ตื่นตระหนกเมื่ออยู่ในสถานการณ์จริงนั่นเอง

4. ใช้เวลาร่วมกันเสมอ

primaryschool_web_4

การได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ ได้ใช้เวลาร่วมกัน ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เล่นสนุกไปด้วยกัน รวมทั้งอ่านหนังสือหรือนิทานก่อนนอนด้วยกัน นอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกเป็นที่รักแล้ว ในทางอ้อมยังถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการอ่าน การสะกดคำ เพิ่มคลังคำศัพท์ การบวกเลข ความรู้ทั่วไปอื่นๆ ให้กับลูกสู่วัยประถมต่อไปได้ เมื่อวันแรกของการเป็นเด็กประถมมาถึง คุณพ่อคุณแม่ต้องสร้างบรรยากาศในวันนั้นให้เต็มไปด้วยความตื่นเต้น สนุกและมีความสุข เพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นคงและ มั่นใจที่จะไปโรงเรียนอย่างแจ่มใส และไม่ว่าลูกจะกลับมาเล่าอะไรให้ฟัง หรือพบเจอกับสถานการณ์แบบไหน คุณพ่อคุณแม่คือ คนแรกที่จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยด้วยการรับฟังลูกอย่างเข้าใจเสมอนะคะ

อ้างอิง
schoolsearch.co.uk
abc.net.au
pilotpen

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST