READING

5 ลักษณะที่บ่งบอกว่าลูกอาจเป็นเด็กอ่อนไหวง่าย (sen...

5 ลักษณะที่บ่งบอกว่าลูกอาจเป็นเด็กอ่อนไหวง่าย (sensitive)

sensitive

เวลาที่พูดถึงเด็กเซนสิทีฟ เรามักจะนึกถึงเด็กที่มีจิตใจอ่อนไหว ร้องไห้ง่าย เสียใจง่าย ขี้น้อยใจ หรือสะเทือนจิตใจกับเรื่องทั่วไปได้ง่ายกว่าคนอื่น

Elaine Aron นักจิตวิทยาและผู้เขียนหนังสือ The High Sensitive Child กล่าวว่า เด็กที่มีความอ่อนไหวสูงจะมีระบบประสาทสัมผัสที่ตื่นตัวและตอบสนองรวดเร็วและมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตามเด็กที่เซนสิทีฟก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขามีความผิดปกติในด้านประมวลผลของประสาทสัมผัส (SPD) เพียงแต่พวกเขามีความไวในด้านประสาทสัมผัส (HSP) ซึ่งไม่มีผลในแง่ลบต่อพัฒนาการเด็กๆ แต่อย่างใด

แต่ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจนึกสงสัยว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าที่ลูกชอบร้องไห้งอแง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกเป็นเด็กเซนสิทีฟทำให้อ่อนไหวง่าย หรือลูกชอบร้องไห้เพราะเหตุผลอื่นกันแน่

วันนี้เรามีวิธีสังเกตความเซนสิทีฟในตัวลูกมาฝากค่ะ

1. ลูกเป็นเด็กที่มีความเห็นอกเห็นใจสูง

เห็นอกเห็นใจ

เด็กที่มีความเซนสิทีฟมักจะอ่อนไหวกับสิ่งต่างๆ ได้ง่าย สัญญาณแรกที่เห็นได้ชัดก็คือลูกจะมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ เพื่อน สัตว์เลี้ยง หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

นอกจากความเห็นอกเห็นใจแล้ว ลูกมักจะพยายามให้ความช่วยเหลือคนอื่น รวมถึงการมีอารมณ์ร่วมกับอารมณ์และความรู้สึกของคนอื่นเสมอ เช่น เมื่อคุณพ่อคุณแม่แสดงออกถึงความกังวล ลูกก็จะรู้สึกกังวลใจตามไปด้วย

2. มีประสาทสัมผัสที่ไว

ประสาทสัมผัส

ไม่ใช่แค่ด้านจิตใจที่อ่อนไหวง่าย แต่ความเซนสิทีฟยังรวมถึงความไวของประสาทสัมผัสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เสียง กลิ่น การสัมผัส เช่น เด็กบางคนไวต่อเสียง แม้จะเป็นเสียงที่ดังเพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างความรำคาญให้ได้ เด็กบางคนไม่ชอบใส่เสื้อที่มีตะเข็บหรือป้ายแท็กเพราะรู้สึกคันและไม่สบายตัว หรือเด็กบางคน ก็มักจะได้กลิ่นบางอย่างก่อนคนอื่นอยู่เสมอ

นอกจากนี้เด็กเซนสิทีฟยังเป็นนักช่างสังเกตตัวยง สามารถจดจำรายละเอียดต่างๆ ได้ดี เมื่อมีอะไรเปลี่ยนแปลงไป เขาจะสามารถตอบและรู้ได้ทันที

3. มองทุกสิ่งอย่างลึกซึ้ง

ลึกซึ้ง

อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของเด็กเซนสิทีฟ คือมักจะมองและคิดอะไรลึกซึ้งอยู่เสมอ สังเกตได้จากการเป็นเด็กชอบคิดและจินตนาการ ชอบถามคำถามที่ละเอียดและซับซ้อน หรือหมกหมุ่นอยู่กับสิ่งที่ชอบ รวมถึงการจดจำและเข้าใจคำพูดที่โตเกินวัยของตัวเองได้

4. อ่อนไหวกับคำพูดได้ง่าย

อ่อนไหว

Jadzia Jagiellowicz นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านอารมณ์ของ High Sensitive Society กล่าวว่า เด็กที่มีความอ่อนไหวสูงจะรวบรวมทุกสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พูด ก่อนนำไปคิดขยายความต่อ ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งในทางบวกและทางลบ เช่น คุณพ่อคุณแม่ตำหนิที่ลูกทำตัวไม่น่ารัก ลูกอาจนำกลับมาคิดและตีความว่าพ่อแม่ไม่รักอีกต่อไปแล้วก็ยังไง

ดังนั้น การจะว่ากล่าวตักเตือนลูกอาจต้องเป็นไปด้วยท่าทีที่สงบ ใช้คำพูดที่มีความหมายชัดเจน และไม่เข้มงวดกับลูกมากจนเกินไป เพราะเสี่ยงต่อการทำให้ลูกเกิดความเครียดได้

5. ไม่สบายใจเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง

เปลี่ยนแปลง

เด็กที่มีความเซนสิทีฟมักจะรู้สึกปรับตัวหรือรับมือไม่ได้ทันทีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน หรือทำตัวไม่ถูกเมื่อมีกิจกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งอาจสังเกตเห็นได้จากการดูกังวลใจ วิตกกังวล หรือหงุดหงิดมากกว่าปกติ

แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ความช่วยลูกได้ด้วยการบอกให้ลูกรู้ตัวล่วงหน้า ให้ลูกมีเวลาเตรียมตัว หรือพาลูกไปทำความรู้จักกับสิ่งนั้นก่อนเท่าที่จะทำได้

นอกจากนั้นการคอยถามและแสดงความเข้าใจยังช่วยลดความกังวลใจของเด็กเซนสิทีฟลงได้เป็นอย่างดี

อ้างอิง
todaysparent
beechacres

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST