READING

ทักษะทางสังคม (Soft Skills) และทักษะวิชาการ (Hard ...

ทักษะทางสังคม (Soft Skills) และทักษะวิชาการ (Hard Skills) : ฝึกลูกให้เรียนดีและใจดี

Soft Skills

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการเป็นพ่อแม่ก็คือการเตรียมพร้อมให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ มีความสุขและประสบความสำเร็จในเส้นทางที่ลูกเลือกด้วยตัวเอง

แต่การจะเดินทางไปถึงวันนั้น เด็กๆ ในวันนี้จำเป็นต้องมีสองทักษะที่สำคัญในชีวิต ได้แก่ ทักษะทางสังคม (Soft Skills) และทักษะวิชาการ (Hard Skills) หรือพูดง่ายๆ ก็คือเรียนรู้ที่จะเติบโตอย่างคนคนจิตใจดีและมีความรู้ความสามารถที่ดีด้วย

ทักษะทางสังคม (Soft Skills) เป็นทักษะพื้นฐานที่ลูกควรฝึกฝนตั้งแต่ยังเล็ก ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ที่จะสื่อสารอย่างเหมาะสม การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สามารถปรับตัวและยืดหยุ่นได้ดี มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม และมีทักษะการแก้ปัญหา

ส่วน ทักษะวิชาการ (Hard Skills) เป็นความสามารถเฉพาะทางที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้และวัดผลได้ เช่น การอ่าน การเขียน คณิตศาสตร์ ทักษะนี้จำเป็นต่อการเรียนในระดับอุดมศึกษา เมื่อคุณพ่อคุณแม่สนับสนุนได้อย่างถูกทาง ลูกจะมีความสามารถมากขึ้น มั่นใจในสิ่งความสามารถนั้นและพร้อมที่พบเจอความท้าทายและโอกาสที่อยู่ตรงหน้า โดยเฉพาะเรื่องการงานหรืออาชีพในอนาคต

หากลูกขาดทักษะด้านใดด้านหนึ่ง ย่อมลดโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้และเข้าสังคมต่อไป คุณพ่อคุณแม่จึงควรส่งเสริมให้ลูกพัฒนาทักษะทั้งสองด้านควบคู่กันไป

1. เพิ่มพลังพิเศษให้ลูกด้วย ‘คำชม’

SoftHardSkills_web_1

#คำชมคือพลังพิเศษ ทักษะและการเรียนรู้ของลูกจะพัฒนาได้ดี สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรมีเสมอคือ คำชมและกำลังใจที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการเรียนรู้ ชมเชยลูกเมื่อลูกทำตามคำแนะนำได้ดี หรือพยายามอย่างหนักกับการทำอะไรสักอย่างด้วยตัวเอง ที่สำคัญทักษะทั้งสองจะพัฒนาได้ดี คุณพ่อคุณแม่จะต้องหลี่กเลี่ยงคำพูดเชิงลบ เช่น เมื่อลูกทำผิด ให้เปลี่ยนจากการตำหนิต่อว่า เป็นการอธิบายว่าสิ่งที่ถูกต้องนั้นควรทำอย่างไร แล้วชื่นชมเมื่อเห็นลูกพยายามเรียนรู้หรือแก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเอง

ตรงกับที่นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ระบุว่า “ชมลูกที่พฤติกรรม แต่ไม่ชมลูกที่ผลการเรียนมากเกินไป เด็กจึงจะพัฒนา”

2. เติมพลังวิเศษให้ลูกด้วย ‘การรอคอย’ ของคุณพ่อคุณแม่

SoftHardSkills_web_2

#พลังวิเศษที่ได้จากพ่อแม่ เพราะการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยแต่ละคนไม่เท่ากัน หลายเรื่องรอได้ เช่น ขี้กลัว ไม่กล้าแสดงออก ไม่แบ่งของเล่น หวงของ แย่งของเล่นเพื่อน ไม่ชอบคนแปลกหน้า ไม่ชอบเข้าสังคม ขี้อาย ไม่กล้าหาญ รวมทั้งทักษะทางด้านวิชาการ เช่น ไม่ชอบเขียน หรือไม่ชอบบวกเลข

พฤติกรรมและการเรียนรู้เหล่านี้ ลูกจะทำได้ช้าเร็วต่างกัน คุณพ่อคุณแม่จึงควรค่อยๆ ฝึกฝนลูกอย่างใจเย็น ด้วยความเข้าใจและเชื่อมั่นในตัวลูก รอให้ลูกพร้อม ไม่ต้องรีบเร่งจนกลายเป็นกดดันลูก ก็จะช่วยให้ลูกเรียนรู้อย่างมีความสุขมากขึ้น

3. เปิดโอกาสลูกได้เล่นอย่างเต็มที่ (และมีความสุข)

SoftHardSkills_web_3

Dr. Michael Popkin ผู้เขียนชุดโปรแกรมการเลี้ยงดูบุตรแบบ Active Parenting ระบุว่า การเล่นกับลูกวัยอนุบาล เป็นการเสริมสร้างความผูกพัน และความสุขให้กับลูก ทั้งยังเป็นการสร้างความภูมิใจในตัวเอง ช่วยเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการ อารมณ์ หรือสังคม เมื่อลูกได้เล่น ลูกก็จะได้เรียนรู้ โดยเฉพาะการเล่นกับพ่อแม่ยิ่งเป็นช่วงเวลาที่ลูกได้พัฒนาทักษะและศักยภาพของตัวเองมากขึ้น

งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การเล่นช่วยเสริมสร้างการเคลื่อนไหวร่างกาย ฝึกฝนการตัดสินใจ ค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบหรือสนใจให้แก่เด็กๆ และการเล่นยังมีส่วนช่วยเพิ่มการควบคุมตัวเองของเด็ก วิธีการจัดการกับความรู้สึก และเรียนรู้ความรู้สึกของตัวเอง การเล่นบางอย่าง สามารถส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ทักษะความเป็นผู้นำ รวมทั้งการคิดวิเคราะห์ และแก้ปัญหาได้

#เล่นเกมเศรษฐีสนุกดีได้วิชา เกมนี้สามารถส่งเสริมทักษะด้านการคิดทั้งคำนวณ การอ่าน ฝึกฝนความอดทน และความเห็นอกเห็นใจ เมื่อลูกโตขึ้น อาจเลือกเกมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น เกมที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ การต่อรอง การจัดการ ซึ่งทั้งหมดเป็นคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้นำและการวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย รวมทั้งยังได้เรียนรู้การบริหารการเงินไปในตัวอีกด้วย

4. งานบ้านต้องทำ วินัยต้องไม่แผ่ว

SoftHardSkills_web_4

ทั้งทักษะทางสังคมและวิชาการ สามารถเริ่มจากพื้นฐาน ‘การมีวินัย’ ที่ดีตั้งแต่ยังเล็ก เพราะการมีวินัยจะช่วยให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเอง มีความรับผิดชอบ และรู้จักยับยั้งชั่งใจ ซึ่งเป็นทักษะที่ลูกควรมีเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

วินัยของเด็กปฐมวัย เริ่มตั้งแต่การกินข้าวด้วยตัวเองให้เสร็จตามเวลาช่วยเก็บจ้าง เช็ดโต๊ะ ล้างจาน เข้านอนให้เป็นเวลา เก็บที่นอน ที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องมอบหมายงานบ้านให้ลูกทำอย่างเหมาะสมตามวัย รวมไปถึงสอนให้ลูกรับผิดชอบการทำกิจวัตรประจำวันของตัวเองได้

Manuela Ocampo นักการศึกษาปฐมวัยและผู้เขียนหนังสือ A Children’s Book About Empathy แนะนำเทคนิคการสร้างวินัยและฝึกให้ลูกทำงานด้วยการ ‘แบ่งทำทีละส่วน’ เริ่มต้นด้วยการทำให้ดู จากนั้นให้ลูกลองทำขั้นตอนแรก  เมื่อลูกทำได้ ก็ค่อยๆ ฝึกฝนขั้นตอนต่อไป จนกว่าลูกจะทำทั้งหมดด้วยตัวเองได้

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ระบุว่า เด็กเล็กวันนี้จะเติบโตเป็นวัยรุ่นที่ดีได้ด้วยการใช้หลักสามอย่างคือ อ่านนิทาน เล่น ทำงานบ้าน เพื่อสร้าง Executive Functions (EF) หรือทักษะสมองเพื่อจัดการชีวิตให้สำเร็จ สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก เมื่อเริ่มทรงตัวได้ ใช้มือได้ คุณพ่อคุณแม่ก็ใช้หลักทำให้ดูก่อน โตขึ้นหน่อยก็จับมือทำ แล้วค่อยๆ ทำด้วยกัน ก่อนจะปล่อยให้ลูกทำด้วยตัวเองทั้งหมด

อ้างอิง
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
newlifestudentcare.org.sg
simplyfun.com
raisingchildren.net.au
extension.usu.edu

 

อ่านบทความ: ลูกไม่มีเพื่อนเล่น: 4 เทคนิคส่งเสริมทักษะเข้าสังคมให้ลูกวัยอนุบาล

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST