READING

ลูกกลัวคนแปลกหน้า (Stranger Anxiety) ทำยังไงดี!?...

ลูกกลัวคนแปลกหน้า (Stranger Anxiety) ทำยังไงดี!?

ลูกกลัวคนแปลกหน้า

พอลูกเติบโตถึงวัยที่คุณพ่อคุณแม่อยากจะเริ่มพาออกนอกบ้าน หรือเริ่มเข้าสังคม ทำความรู้จักกับเพื่อนคุณพ่อคุณแม่ เข้ากลุ่มเล่นสนุกกับเพื่อนวัยใกล้เคียงกัน

แต่พอพาออกไปแล้ว ปรากฏว่า ลูกกลัวคนแปลกหน้า ไม่กล้าเล่น ไม่เข้าหา หรือหวาดกลัวจนร้องไห้งอแง เกาะแขนคุณพ่อคุณแม่แน่นจนไม่เป็นอันได้ทำความรู้จักหรือเล่นสนุกกับคนอื่น

ความจริงแล้ว อาการ ลูกกลัวคนแปลกหน้า มีชื่อเรียกว่า Stranger Anxiety ซึ่งเกิดขึ้นกับเด็กได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 6-9 เดือน เพราะเป็นช่วงวัยที่เด็กกําลังเริ่มมีความสนใจสิ่งรอบข้างมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้อาการกลัวคนแปลกหน้าอาจจะมากหรือน้อยแตกต่างกัน และเด็กแต่ละคนก็มีวิธีการแสดงออกเมื่อรู้สึกกลัวคนแปลกหน้าไม่เหมือนกัน เช่น บางคนแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ทุบตี ไม่ให้เข้าใกล้ แต่เด็กบางคนก็หวาดกลัวร้องไห้งอแง และหันหน้าหนีเข้าหาคุณพ่อคุณแม่ ไม่กล้ามองหรือสบตาคนแปลกหน้าเลยก็ได้

ดังนั้น เพื่อไม่ให้อาการกลัวคนแปลกหน้าของลูกกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางพัฒนาการ การเรียนรู้ และการพัฒนาทักษะการเข้าสังคมของลูก คุณพ่อคุณแม่ควรมีวิธีรับมือและแก้ไขอาการกลัวคนแปลกหน้าของลูก ด้วยวิธีต่อไปนี้

1. ไม่บังคับถ้าลูกยังไม่พร้อม

StrangerAnxiety_web_1

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้คนแปลกหน้าจู่โจมเข้าหาลูกอย่างไม่ทันตั้งตัว หรือยังไม่พร้อม และไม่บังคับให้ลูกเข้าคนอื่นโดยไม่เต็มใจ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด ไม่ปลอดภัย และสูญเสียความไว้วางใจในตัวคุณพ่อคุณแม่อีกด้วย

2. ไม่ต่อว่าลูกในเชิงลบ

StrangerAnxiety_web_2

แม้ใจจริงคุณพ่อคุณแม่จะต้องการให้ลูกเข้าสังคมได้ง่าย ร่าเริง อัธยาศัยดี เป็นที่รักของทุกคน แต่ถ้าหากพาลูกออกไปเจอคนแปลกหน้าแล้วลูกมีอาการกลัว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรต่อว่าหรือตำหนิลูกในเชิงลบ เช่น ต่อว่าที่ลูกเป็นเด็กขี้กลัว หรือตำหนิว่าลูกทำตัวไม่น่ารัก และลงโทษด้วยการขู่ว่าจะไม่พามาด้วยอีกเพราะคำพูดเหล่านี้จะทำให้ลูกยิ่งรู้สึกกดดัน และรู้สึกว่าการพบเจอคนแปลกหน้าเป็นเรื่องยากลำบากและน่ากลัว

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรใช้วิธีค่อยๆ ปลอบ ให้กำลังใจ และแนะนำให้ลูกรู้จักคนที่กำลังเผชิญหน้า เช่น น้าคนนี้เป็นเพื่อนของคุณแม่ ลูกลองเข้าไปคุยกับเขาดูไหมคะ

3. ไม่ทิ้งลูกไว้กับคนอื่น

StrangerAnxiety_web_3

หากคุณพ่อคุณแม่มีภารกิจที่ต้องทำ และต้องฝากลูกไว้กับคนอื่นบ่อยๆ ก็ควรต้องพูดและอธิบายให้ลูกเข้าใจเหตุผลทุกครั้ง และไม่ควรทิ้งลูกไว้กับคนอื่นแล้วหายไปโดยไม่ได้บอกให้ลูกรับรู้ เพราะหากทำให้ลูกรู้สึกหวาดกลัว ไม่ปลอดภัย และกลัวว่าเมื่ออยู่กับคนแปลกหน้าแล้วคุณพ่อคุณแม่จะหายไป ก็จะทำให้ลูกหวาดกลัวคนแปลกหน้ามากขึ้น

4. ยอมรับและเข้าใจในความกลัวของลูก

StrangerAnxiety_web_4

และสุดท้าย คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจว่าอาการกลัวคนแปลกหน้า เป็นหนึ่งในสัญชาตญาณการป้องกันตัวเองของลูก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้เวลา และเข้าใจในความกลัวของลูก และคอยเตือนคนแปลกหน้า หรือญาติผู้ใหญ่ให้รู้วิธีเข้าหาลูกอย่างเหมาะสมมากขึ้น

 

(อ่านบทความ: มารยาทในการเข้าหาเด็กอย่างถูกต้อง)

อ้างอิง
parents
whattoexpect
Siam Inter Women

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST