READING

เลี้ยงลูกแบบทีม (T.E.A.M) : สงบศึกกับลูกวัยต่อต้าน...

เลี้ยงลูกแบบทีม (T.E.A.M) : สงบศึกกับลูกวัยต่อต้าน ด้วยวิธีการเลี้ยงลูกแบบ T.E.A.M

เลี้ยงลูกแบบทีม

ลูกวัยต่อต้าน หมายถึงเมื่อลูกอายุได้ประมาณ 2-3 ขวบ เป็นช่วงวัยที่ลูกเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง อยากทำอะไรด้วยตัวเอง แม้บางทีรู้ว่าทำไม่ได้ หรือคุณพ่อคุณเคยบอกว่าไม่ให้ทำ แต่ก็อยากจะขอลองด้วยตัวเองดูสักตั้ง

เลี้ยงลูกแบบทีม (T.E.A.M) หมายถึง Togetherness, Encouragement, Autonomy และ Minimal Interference จึงเป็นแนวทางการเลี้ยงลูกที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ลดการปะทะกับลูกวัยต่อต้าน ซึ่งเป็นวัยที่ชอบปฏิเสธ ไม่อยากทำตามคำสั่ง ชอบฝ่าฝืน หรือเรียกกันว่ายิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุอย่างได้ผล

Michaeleen Doucleff คุณแม่ นักข่าวแห่ง Science Desk และผู้เขียนหนังสือ Hunt Gather Parent วัฒนธรรมการเลี้ยงดูมนุษย์ตัวน้อยแบบโบราณให้มีความสุขและเติบโตอย่างมีคุณภาพ เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งเธอก็เจอกับความเกรี้ยวกราดของลูกสาววัยสองขวบ แต่ด้วยอาชีพนักข่าว ทำให้เธอมีโอกาสได้เรียนรู้และเก็บข้อมูลการเลี้ยงลูกจากชาวพื้นเมืองหลายพื้นที่ทั่วโลก แล้วพบกับแนวคิดการเลี้ยงลูกแบบ T.E.A.M ที่ทำให้เธอสามารถสงบศึกกับลูกวัยต่อต้านมาได้

ดังนั้น เราลองมาทำความรู้จัก การ เลี้ยงลูกแบบทีม หรือ T.E.A.M เพื่อนำไปปรับใช้และรับมือกับเจ้าตัวเล็กกันดีกว่าค่ะ

1. Together ให้ลูกมีส่วนร่วมกับครอบครัว

TEAM_web_1 (1)

Doucleff อธิบายว่า สไตล์การเลี้ยงลูกของคุณแม่ชนพื้นเมืองในหมู่บ้านมายา ซึ่งตั้งอยู่ในคาบสมุทรยูคาทาน จะให้ความรู้สึกราวกับไหลไปตามแม่น้ำอันกว้างใหญ่ คดเคี้ยวผ่านหุบเขาบนภูเขาอย่างสงบ อ่อนโยน และมีประสิทธิภาพ ไม่มีการตะโกน ไม่มีการทะเลาะวิวาท แม้จะมีการต่อต้านตามวัยบาง แต่ก็เป็นเรื่องเล็กน้อย

คุณพ่อคุณแม่ชาวมายาใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับลูก ทำงานบ้าน ทำงานอดิเรก การออกไปข้างนอก ในทุกกิจกรรมของครอบครัว ลูกจะมีส่วนร่วมด้วยเสมอ ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจที่จะได้เห็นเด็กๆ ทำอะไรด้วยตัวเอง และพ่อแม่ก็เป็นฝ่ายเพิ่มความมั่นใจให้ลูกด้วยการขอความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ จากลูกเป็นครั้งคราว

ชาวมายาจะสนับสนุนให้ลูกทำงานบ้านตั้งแต่วัยเตาะแตะ และค่อยๆ ให้ทำงานบ้านที่ซับซ้อนมากขึ้นเมื่อลูกโตขึ้น เวลาผ่านไป ลูกจะได้เรียนรู้ทักษะชีวิตที่มีประโยชน์ เรียนรู้ความสำคัญของตัวเองที่มีต่อบ้าน และเรียนรู้วิธีที่จะทำให้บ้านสงบร่มเย็น

Lucia Alcala นักจิตวิทยาจาก California State University ระบุว่า การให้ลูกมีส่วนร่วมเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่ยังเล็ก สำหรับเด็กแล้วถือว่าเป็นความภูมิใจ ที่เขาได้ช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่อย่างแท้จริง

นอกจากลดความวัยทองลูกแล้ว การได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมร่วมกัน และการทำงานบ้านตามวัย ยังช่วยให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างคนที่มีเป้าหมายและวางแผนที่ชีวิตของตัวเองได้ ดังที่ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ระบุว่า งานบ้านสำหรับเด็กๆ แล้วไม่ใช่เพื่อให้บ้านสะอาด แต่เป็นขั้นตอนสำคัญ ที่ลูกจะได้ฝึกกำหนดเป้าหมาย และวางแผน ก่อนที่จะไปเติบโตออกจากอกคุณพ่อคุณแม่ไป และวางแผนชีวิตของตนเอง

2. Encouragement ให้กำลังใจลูกอยู่ข้างๆ

TEAM_web_2 (1)

ครอบครัวชาวอินูอิต (Inuit) เน้นการเลี้ยงลูกด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี สนับสนุนลูกเชิงบวก ผ่านการสร้างความมั่นใจให้กับลูก และให้ลูกรู้จักการพึ่งพาตัวเอง หลักง่ายๆ นี้นอกจากจะลดการปะทะอารมณ์กับลูกแล้ว ยังทำให้ลูกมีทักษะชีวิตที่ดีอีกด้วย

แนวการเลี้ยงลูกจากชาวอินูอิต ทำให้นึกถึงคำกล่าวของ Rudolf Dreikurs นักการศึกษาและจิตแพทย์ชาวอเมริกันชื่อดังในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่ระบุว่า ‘เด็กต้องการกำลังใจ เหมือนต้นไม้ต้องการน้ำ’

เช่นเดียวกับการศึกษาของ Carol Dweck ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ระบุว่า การให้กำลังใจคือ การช่วยให้เด็กๆ เติบโต มีความกล้าหาญ มีความสามารถ มีความยืดหยุ่น สนุกสนานกับชีวิต มีความสุข มีจิตใจเอื้ออารีต่อผู้อื่น และที่สำคัญ เด็กที่ได้รับกำลังใจจากความพยายามของตัวเอง มักจะเต็มใจเลือกงานที่ท้าทายมากขึ้น

บางครั้งเด็กๆ ไม่ต้องการคำพูดใดๆ เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่นั่งอยู่ใกล้ๆ ปล่อยวางบางสิ่ง และเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ก็เป็นการส่งกำลังใจที่ดีที่สุดให้กับลูก ซึ่งสามารถใช้ได้ในทุกช่วงวัย เพื่อให้ลูกได้มีโอกาสรู้จักคำว่าผิดพลาด เรียนรู้และแก้ไขสิ่งต่างๆ ชื่นชมไปกับความสำเร็จ ทั้งยังทำให้ลูกเติบโตได้ดี

3. Autonomy การให้อิสระอย่างเหมาะสม

TEAM_web_3 (1)

William Stixrud นักประสาทจิตวิทยาคลินิก และ Ned Johnson เจ้าของสถาบันกวดวิชาชื่อดังในสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนหนังสือ The Self-driven child ระบุว่า เด็กที่ถูกคุณพ่อคุณแม่จัดการพฤติกรรมและตารางเวลาอยู่ตลอด มักจะรู้สึกไร้พลังในชีวิต เกิดเป็นความเครียด ต่อต้าน และอาจพัฒนาการกลายเป็นความวิตกกังวลและซึมเศร้าได้

เพื่อให้ลูกวัยต่อต้าน ลดการต่อต้านตามวัยลงอย่างละมุนละม่อม สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้โอกาสลูกคือ อิสระอย่างเหมาะสม รวมทั้งการปล่อยให้ลูกเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างด้วยตัวเอง

จากการศึกษาของ Sheina Lew-Levy นักมนุษยวิทยา ที่ทำร่วมกับครอบครัวชาวนักล่าและคนเก็บของป่าในแอฟริกา ด้วยการนับจำนวนครั้งที่ผู้ใหญ่อบรมเด็กด้วยคำพูด หรือออกคำสั่งกับเด็กๆ พบว่า ผู้ปกครองกลุ่มนี้ พูดเพียง 3 ครั้งต่อชั่วโมงเท่านั้น

หากคุณพ่อคุณแม่ลองใช้บททดสอบนี้ บางทีอาจจะได้คำตอบดีๆ จากผลลัพธ์ในครั้งนี้ เหมือนกับที่ Doucleff ทดลองแล้วพบว่า เพียง 15 นาทีแรก เธอก็เริ่มออกคำสั่งและเรียกลูกซ้ำๆ จนท้ายสุดจบไปที่มากกว่า 60 ครั้งต่อชั่วโมง

วิธีการของครอบครัวนักล่าและเก็บของป่า คือพยายามที่จะไม่บอกลูก (รวมทั้งผู้ใหญ่กันเอง) ว่าต้องทำอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณพ่อคุณแม่จะเพิกเฉยหรือไม่สนใจในสิ่งที่ลูกทำ พวกเขาจะคอยเฝ้ามองอยู่ไม่ไกล เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กๆ จะปลอดภัยอย่างแน่นอน และคุณพ่อคุณแม่มีความมั่นใจว่า ลูกๆ จะรู้วิธีการเรียนรู้ได้ดี มีความสามารถโดยที่ไม่ต้องมีผู้ใหญ่มาคอยกำชับหรือช่วยเหลือตลอดเวลา

Sheina Lew-Levy อธิบายเพิ่มเติมว่า อะไรก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่คอยกำกับ ส่วนใหญ่จะเป็นการขัดขวางวิธีการเรียนรู้ของเด็ก และยังทำให้เกิดความขัดแย้ง ปะทะอารมณ์กันได้เสมอ

4. Minimal Interference ความพอดีและมีพื้นที่ให้เติบโต

TEAM_web_4 (1)

แนวทางการเลี้ยงลูกฉบับครอบครัวชาวเอสกิโม ก็คือ พูดให้น้อยที่สุด ไม่โต้เถียงกับลูก ไม่ตะคอก ไม่ดุด่า ไม่มีแม้แต่การเจรจาต่อรอง แต่จะใช้วิธีขยับตัวให้ห่างจากลูกเล็กน้อย อาจจะแค่ข้ามไปอีกห้อง หรือก้าวออกมาจากลูกสักสิบก้าว เมื่อลูกเริ่มแสดงพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่ไม่เหมาะสม

Elizabeth Tegumiar ล่ามที่แปลภาษาให้กับ Sidonie Nirlungayuk ชาวเอสกิโมวัย 74 ปี ระบุว่า ผู้ใหญ่ชาวเอสกิโมมักจะมองว่า การโต้เถียงกับเด็กเป็นเรื่องเสียเวลาและไม่มีประโยชน์ ซ้ำยังทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะโต้เถียงผู้ใหญ่มากขึ้น เพราะเข้าใจว่า เป็นวิธีที่สามารถเรียกร้องความสนใจได้ โดยเฉพาะกับคุณพ่อคุณแม่

ดังนั้นการเว้นระยะห่างและความเงียบที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นการสื่อสารกับลูกอย่างใจเย็น และเป็นการแสดงให้ลูกเห็นว่า พฤติกรรมที่ลูกทำนั้นไม่เหมาะสม และเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีนี้ ลูกก็จะเรียนรู้ตามไปด้วย

จากทั้งสามคำ เมื่อรวมกันแล้ว ก็จะมาจบที่คำว่า Minimal Interference คือการรบกวนให้น้อยที่สุด ในบริบทนี้อาจหมายถึงความพอดี รวมไปถึงการมีพื้นที่ให้ลูกเติบโต เติบโตจากการอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ใช้เวลาร่วมกัน การเสริมแรงสนับสนุนเชิงบวก โอบกอดลูกด้วยกำลังใจที่ดี การให้อิสระแต่ก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลย และการขยายพื้นที่ให้ลูกได้เติบโตด้วยตัวของเขาเอง

อ้างอิง
time
gogoodtimer
calmsage
positivediscipline
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST