READING

คุยกับลูกเรื่องสงคราม : พูดเรื่องสงครามอย่างไรให้ก...

คุยกับลูกเรื่องสงคราม : พูดเรื่องสงครามอย่างไรให้กระทบใจลูกน้อยที่สุด

คุยกับลูกเรื่องสงคราม

ในขณะที่ผู้ปกครองกำลังติดตามและให้ความสนใจกับสถานการณ์เหตุสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส—กองกำลังติดอาวุธในเขตฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง ภาพระเบิด สงคราม และความสูญเสียที่เด็กๆ เห็นและได้ยินผ่านสื่อ อาจจะนำมาซึ่งความสับสน หวาดกลัว สงสัย  และเกิดคำถามในใจมากมายนับไม่ถ้วน

จึงถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องเริ่ม คุยกับลูกเรื่องสงคราม ในขอบเขตที่ลูกสามารถรับรู้และเข้าใจได้ เพื่อไม่ให้ลูกต้องรู้สึกวิตกกังวล เกลียดชัง และหวาดกลัวความโหดร้ายของผู้คนตามลำพัง

แต่การจะ คุยกับลูกเรื่องสงคราม คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องใช้ศิลปะและจิตวิทยาในการอธิบายเพื่อปกป้องและถนอมจิตใจของลูกให้ได้มากที่สุด ลองมาอ่านคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศกันค่ะ

1. ใช้ภาษาที่เหมาะสมกับวัย

war_web_1

Dr. Deborah Gilboa ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดูบุตร ระบุว่า ช่วงวัยที่ดีที่สุดของการคุยกับลูกเรื่องสงครามคือ อายุ 8 ปีขึ้นไป แต่ถ้าจู่ๆ ลูกน้อยมาถามด้วยความสงสัย นั่นอาจเป็นเพราะลูกได้ยิน ได้ฟังหรือเห็นภาพข่าวผ่านตา คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถอธิบายเรื่องสงครามให้ลูกฟังได้ ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม

ด็อกเตอร์กิลโบยังแนะนำต่อว่า สงครามเป็นเรื่องน่ากลัว ดังนั้น การอธิบายเรื่องสงครามให้เด็กเข้าใจจึงเป็นเรื่องยาก  คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเลือกใช้ภาษาที่เหมาะสมตามช่วงวัยของลูกให้มากที่สุด

โดยเฉพาะวัยอนุบาลถึงประถมต้น คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงได้ แต่ต้องสั้น กระชับ ชัดเจน เข้าใจง่าย พูดด้วยน้ำเสียงตามปกติ เช่น อธิบายสั้นๆ ว่า สงครามเกิดขึ้น เพราะความคิดเห็นที่แตกต่างกันในระดับประเทศ หรือความขัดแย้งที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณและยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมย้ำให้ลูกเข้าใจว่า สงครามเกิดขึ้นในที่ที่เราจะไม่ตกอยู่ในอันตราย

การเริ่มบทสนทนาง่ายๆ นอกจากจะช่วยให้ลูกคลายความสงสัยแล้ว ยังเป็นโอกาสในการแก้ไขความเข้าใจผิดที่ลูกอาจคิดหรือจินตนาการไปเองอีกด้วย

นอกจากนี้ควรตั้งเป้าหมายว่าจะใช้ข้อเท็จจริงส่วนไหนมาอธิบายให้ลูกฟัง อยากให้ลูกรับรู้และเรียนรู้เรื่องอะไรจากเรื่องสงครามที่เกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องตอบคำถามอย่างทั้งหมดในครั้งเดียว แต่สามารถขอเวลาลูกเพื่อหาข้อมูลที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นได้ และคุณพ่อคุณแม่ยังใช้โอกาสนี้ ชวนลูกคิดวิเคราะห์และสอบถามความเห็นลูกเพิ่มเติมได้อีกด้วย

2. ตอบคำถามลูกเสมอ แม้ว่าอาจจะเจอกับคำถามสุดโต่งไปหน่อย

war_web_2

ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรยูนิเซฟ ระบุว่า ภาพข่าวหรือการรายงานความเคลื่อนไหวของข่าวสงคราม สำหรับผู้ใหญ่อาจเป็นเพียงผู้รับสาร แต่สำหรับเด็กเล็กอาจจะยังไม่สามารถแยกแยะระหว่างภาพเสียงบนหน้าจอกับความเป็นจริงได้ มีความเป็นไปได้ว่า เด็กๆ อาจเชื่อว่า ตัวเองกำลังตกอยู่ในอันตราย แม้ว่าความขัดแย้งนั้นจะอยู่ไกลก็ตาม

ในขณะที่เด็กโต อาจเกิดความกังวลจากข่าวในโซเซียลมีเดีย เช่น กลัวว่าเหตุการณ์จะบานปลาย และลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่ จนอาจจะมีอันตรายมาถึงตัวในไม่ช้า

หากลูกเกิดคำถามมากมายที่อาจจะดูสุดโต่ง เช่น พวกเราจะตายกันหมดหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่จะต้องเป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังโดยให้ความสนใจอย่างเต็มที่โดยเป็นไปตามธรรมชาติ พร้อมทุกตอบคำถาม ให้ความมั่นใจ เพื่อคลายความกังวล และลดข้อสงสัยให้ได้มากที่สุด

ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลว่าจะต้องตอบคำถามลูกให้ได้ดีที่สุด เพียงแค่ตอบคำถามให้เข้าใจง่าย อยู่ข้างๆ รับฟังทุกความคิดเห็น และเข้าใจในทุกๆ ความรู้สึกของลูกก็พอแล้วค่ะ

3. หลีกเลี่ยงให้ลูกรับรู้ข่าวสงครามที่มากเกินไป

war_web_3

Dr. David Schonfeld กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมในสาขากุมารเวชศาสตร์ทั่วไปที่โรงพยาบาลเด็กในลอสแอนเจลิส แนะนำว่า ไม่ควรเปิดการรายงานข่าวสงครามหรือข่าวที่มีเนื้อหารุนแรงให้ลูกเห็นบ่อยๆ แม้ว่าลูกอาจจะไม่ได้แสดงความสนใจในทันที หรือแม้แต่กำลังเล่นอย่างอื่นอยู่ก็ตาม เพราะลูกจะยังคงได้ยินการรายงานข่าวนี้อย่างต่อเนื่อง จนอาจจะไปกระตุ้นให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกกลัว หดหู่ และไม่สบายใจได้

สำหรับเด็กเล็ก ควรหลีกเลี่ยงคำอธิบายรายละเอียดที่หนักและยากเกินไป ไม่จำเป็นต้องคาดเดาสถานการณ์ในอนาคต และถึงจะควรหลีกเลี่ยงแต่ก็ไม่ควรถึงกับไม่ยอมตอบคำถามใดๆ กับลูกเลย

4. เลี่ยงประเด็นหนัก ปรับโหมดให้อ่อนโยน

war_web_4

Amy Morin นักจิตบำบัด แนะนำ ให้คุณพ่อคุณแม่เปลี่ยนประเด็นจากข้อเท็จจริงเรื่องสงคราม ให้ลูกมองเห็นแง่มุมอื่นๆ นอกจากการสู้รบ เช่น ชี้ให้ลูกมองเห็นการให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หรือความช่วยเหลือในระดับประเทศ แม้แต่คนไม่รู้จักกัน ก็ยังช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในภาวะสงครามนอกจากจะช่วยให้ลูกเรียนรู้ว่าสงครามสร้างความสูญเสียและรุนแรงก็จริง แต่ลูกยังได้เรียนรู้เรื่องการเห็นอกเห็นใจ การให้ความช่วยเหลือและการมีจิตใจเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกตั้งแต่ยังเล็ก

 

อ่าน ‘สงคราม’ ให้ลูกฟัง
อ้างอิง
unicef.org
today.com
verywellfamily.com

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST