เด็กชายในโรงเรียนทางเลือก ที่มีโอกาสได้เลือกกิจกรรมความชอบนอกห้องเรียนที่หลากหลาย, เด็กหญิงตัวน้อยที่ต้องห่างแม่มาเข้าโรงเรียนประจำ, เด็กหญิงกับการต้องเอาตัวรอดให้ได้จากสภาพแวดล้อมในชุมชมแออัดที่อยู่รอบโรงเรียน, ศาสนาที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตวัยเริ่มต้นเรียนของเด็กๆ, ชาติพันธุ์และพื้นที่ห่างไกล กับความฝันและการมีเป้าหมายว่าต้องเรียนไปเพื่ออะไรของเด็กบนภูเขา และเด็กชายที่กำลังทำความรู้จักธรรมชาติและโลกใบนี้ โดยมีห้องเรียนเป็นที่ไหนก็ได้ กับรูปแบบการโฮมสกูล
เส้นทางที่แตกต่างนี้เกิดขึ้นกับเด็กๆ ของเราที่เพิ่งก้าวออกจากวัยอนุบาลที่เอาแต่เล่น เข้าสู่โลกของการเรียนรู้ในฐานะเด็ก ‘ชั้นหนึ่ง’ กับรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไปตามบริบทสังคม ฐานะ และถิ่นที่อยู่ ฉายภาพจุดเริ่มต้นของระบบการศึกษาไทย ที่ดูเหมือนว่า จะยังให้ความสำคัญกับช่วงรอยต่อจากปฐมวัยสู่ความเป็นเด็กโตได้ไม่ราบรื่นนัก
เรื่องราวทั้งหมดถูกเล่าออกมาในรูปแบบภาพยนตร์สารคดีความยาว 90 นาที ชื่อเรื่อง ชั้นหนึ่ง (First Grade) ที่เพิ่งเปิดฉายแบบออนไลน์ให้กับกลุ่มผู้สนใจที่ได้ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้า และมีแผนการที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
เราจึงตื่นเต้นเป็นพิเศษเมื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะแม้ประเทศเราจะมีหนังสารคดีที่เล่าประเด็นการศึกษามาแล้วบ้าง เช่น Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน หรือ Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ แต่ครั้งนี้ภาพยนตร์ ชั้นหนึ่ง เลือกที่จะพาผู้ชมไปดูชีวิตในอีกหนึ่งช่วงวัยที่สำคัญ ช่วงวัยที่เป็นรอยต่อในการผลัดใบจากความเป็นเด็กปฐมวัย เข้าสู่นักเรียนวัยประถม จากเด็กวิ่งเล่น เข้าสู่วัยนั่งโต๊ะ เป็นจุดเริ่มต้นของการที่เด็กคนหนึ่งจะได้เริ่มรู้ตัวว่า จากนี้ไปอีกสิบกว่าปี ชีวิตของหนูๆ จะมีแต่การ เรียน เรียน แล้วก็เรียน ต่อไป
เพื่อทำความเข้าใจกับหนังเรื่องนี้ให้มากขึ้น เราจึงชวน ผศ.ดร.โสภาวรรณ บุญนิมิตร และ ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ สองผู้กำกับภาพยนตร์ อาจารย์ และคุณพ่อคุณแม่ของลูกแฝดวัยเห่อเดิน พูดคุยกันในบ่ายวันหนึ่ง ที่ทั้งลูกของเราและของอาจารย์ไม่ยอมนอน เป็นผู้สัมภาษณ์และผู้ให้สัมภาษณ์ที่เชื่อมต่อกันผ่านโปรแกรมประชุมออนไลน์ และเสียงร้องไห้ของเด็กน้อย
ปุ่ม mute เฉพาะเสียงลูกอยู่ตรงไหนกัน…
“จริงๆ ด้วยวัย ป.1 เขาต้องถูกทรีตเป็นเด็กปฐมวัย แต่การศึกษาไทยให้เวลากับเด็กปฐมวัยสั้นเกินไป เด็กป.1 ก็เลยไม่ได้ถูกให้ความสำคัญกับพัฒนาการเท่าไร”
เราไม่ค่อยเห็นเรื่องของเด็กปฐมวัยในภาพยนตร์ไทยสักเท่าไร ทำไมถึงสนใจประเด็นนี้
ด้วยความที่เราเป็นคนทำหนังและเป็นอาจารย์ด้วย เลยคิดว่าอยากทำโปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และในหลายๆ ปีที่ผ่านมาเราก็พบกับปัญหาหลายอย่าง เช่น นักศึกษาไม่กะตือรือร้นที่จะเรียนรู้เท่าไร นักศึกษาหลายคนก็เป็นโรคซึมเศร้า เราเลยคิดว่า ลองกลับไปที่ต้นกระบวนการดีไหมว่ามันเกิดอะไรขึ้น ไปเริ่มต้นที่ก้าวแรกของระบบการศึกษา นั่นก็คือประถมศึกษาปีที่ 1
เราไปรีเสิร์ชต้นทางของการศึกษาไทย ด้วยการเข้าไปดูการเรียนการสอนในโรงเรียนระดับชั้น ป.1 ทั่วประเทศให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ระหว่างนั้นเองเราก็ไปพบประเด็นสำคัญคือเด็กอายุช่วง 7-8 ปี ซึ่งคือเด็กชั้น ป.1 เป็น gap ที่หายไป เพราะจริงๆ ด้วยวัย ป.1 เขาต้องถูกทรีตเป็นเด็กปฐมวัย แต่การศึกษาไทยให้เวลากับเด็กปฐมวัยสั้นเกินไป เด็กป.1 ก็เลยไม่ได้ถูกให้ความสำคัญกับพัฒนาการเท่าไร
ส่วนหนึ่งที่เราสนใจเรื่องปฐมวัยมากขึ้นในระหว่างที่รีเสิร์ช ก็เพราะตอนนั้นเราเพิ่งมีลูกด้วย เลยทำให้จากเดิมที่หนังเริ่มต้นจากการเน้นการสอบเข้า ป.1 เป็นหลัก แต่ระหว่างทางที่เราทำก็ได้ไปพบครูก้า (กรองทอง บุญประคอง) แห่งโรงเรียนจิตตเมต์ (ปฐมวัย) เลยได้พบว่าพัฒนาการของเด็กปฐมวัยเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่หนังกำลังจะพูด
คือเราตั้งชื่อเรื่องไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ‘ชั้น1’ ซึ่งมีความหมายหลายนัยยะ แง่หนึ่งคือคำที่เรียกเด็กชั้น ป.1 ในอีกแง่หนึ่งก็จะไปสอดคล้องกับค่านิยมการที่อยากจะให้ลูกดีที่สุด อีกความหมายหนึ่งก็คือเด็กปฐมวัยที่เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา ทำให้เราพบว่าเด็กปฐมวัยไม่ควรถูกสอบวัดผลเพื่อเข้า ป.1
หนังส่วนแรกพูดถึงความสำคัญของปฐมวัย พอเข้าสู่ส่วนสอง ที่เป็นการพาไปดูเด็กชีวิตเด็กป.1 จากทั่วประเทศ มีการเลือกโรงเรียนที่น่าสนใจอย่างไร
เรียกว่าเป็นการประนีประนอมกันระหว่างสิ่งที่มีกับสิ่งที่ได้มา สารคดีแตกต่างกับสื่ออื่นๆ ตรงที่ เราอยากจะเล่าเป็นลักษณะของการเฝ้าสังเกต (observe) เมื่อเข้าช่วงที่เป็นการติดตามเด็กประถมทั่วประเทศ จะไม่มีบทบรรยาย บทสัมภาษณ์ก็จะเป็นของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ จะไม่มีนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็น พอเราตั้งไว้แบบนี้แล้ว เมื่อลงพื้นที่ไปถ่ายจริง จึงพยายามที่จะแบ่งตามแนวทางของโรงเรียน พยายามกระจายให้มันหลากหลาย จริงๆ เราถ่ายมาเยอะกว่านี้มาก แต่มันก็มีหลายข้อจำกัด บางทีภาพที่ได้มาเอามาเล่าเป็นเรื่องราวแล้วไม่พอบ้าง บางที่เราไปถ่ายซ้ำ พอในช่วงตัดต่อก็ต้องมาคัดออกเพื่อให้หนังสมบูรณ์ที่สุด
พอไปภาคเหนือเราก็พบปัญหาของเรื่องชาติพันธุ์ ก็เลยคิดว่าเป็นมุมที่น่าสนใจที่คนทางนั้นกำลังเผชิญปัญหาที่มันแตกต่างจากมุมที่เราพูดถึง หรืออย่างโรงเรียนสัตยาไส ก็น่าสนใจตรงที่เป็นโรงเรียนประจำที่เข้มข้นมาก ดูเหมือนเป็นโรงเรียนทางเลือกแต่อาจารย์อาจอง (อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา—ผู้ก่อตั้ง) ไม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีแนวการศึกษาที่มันแหวกแนว ท่านคิดง่ายๆ แค่ว่าการที่ปลูกฝังความดีให้เด็กตั้งแต่เล็กๆ ก็น่าจะดีที่สุด เราเลยคิดว่าชัดเจนและแตกต่าง
เรื่องการศึกษามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมันเลยต้องแตกต่างและชัดเจน ถ้าเรามีเวลากับหนังเรื่องนี้มากกว่านี้ก็จะมีภาพจากอีกหลายโรงเรียนที่เราไปถ่ายเอาไว้
มีอะไรที่พอได้ลงพื้นที่ ได้เจอของจริงแล้วเซอร์ไพรส์ตัวเองบ้างไหม
ขอยกตัวอย่างที่เอ็กซ์ตรีมที่สุด ก่อนทำเราก็รีเสิร์ชข้อมูลเยอะมาก แต่พอเราไปเจอโรงเรียนจริงๆ บางทีเขาก็ไม่พร้อมที่จะเอาทฤษฎีของเด็กปฐมวัยเข้าไปใช้ อย่างโรงเรียนในคลองเตยขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียนที่น่าสงสารที่สุด เพราะเด็กเปอร์เซ็นต์การดร็อปค่อนข้างสูง โรงเรียนตั้งอยู่กลางชุมชนคลองเตย เราก็เห็นเด็กคนหนึ่ง คุณแม่เขาเลี้ยงลูกในแบบที่ต้องเอาตัวรอดออกจากพื้นที่แบบนั้นให้ได้ เขาจึงเน้นมากว่าลูกจะต้องตั้งใจเรียน ต้องอ่านหนังสือ ต้องสอบให้ได้ ซึ่งถ้าเราเอาไปเทียบกับทฤษฎีเด็กปฐมวัยมันก็อาจจะไม่ถูก แต่ปรากฏว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดี่สุดที่ใช้กับโรงเรียนนั้น เพราะไม่อย่างนั้นเด็กจะเกเร เราก็เลยรู้ว่าบางอย่างอะไรที่ดีหรือไม่ดีเราก็ต้องดูถึงบริบทของเรื่องนั้นด้วย
ในฐานะของคนทำหนังเราก็ไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินใจว่าอะไรดีหรือไม่ดี แต่ถามว่ามีเสียงของเราอยู่ในนั้นไหม มีทัศนคติของเราอยู่ในนั้นไหม มันก็มีเจือๆ อยู่บ้าง
มีบางคนถามว่าเราไม่พยายามนำเสนอเหรอว่าระบบการศึกษาแบบไหนดี แนวทางแบบไหนดี เราก็บอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของเรา เพราะแต่ละบ้านก็มีความจำเป็นที่แตกต่างกัน
สถานการณ์ตอนนี้ในแง่ของโรงเรียนและผู้ปกครอง แต่ละฝ่ายมีความเข้าใจถึงความสำคัญของปฐมวัยมากน้อยแค่ไหน
ในเชิงของโรงเรียนมีความเข้าใจ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเป็นความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ว่าเขาจัดการศึกษาแบบนี้มันเหมาะกับเขาแล้ว แต่ในทางผู้ปกครองยังต้องการความเข้าใจอีกพอสมควร หลังจากที่ พรบ. การศึกษาออกมาว่าห้ามมีการสอบเข้า ป.1 พอเราไปลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ปกครองมา หลายท่านก็ยังไม่ทราบ การสร้างความเข้าใจกับพ่อแม่จึงเป็นเรื่องจำเป็น
เรื่องการสอบที่ไม่ได้เพิ่มต่อเพราะคิดว่าการถกเถียงมันจบไปแล้วว่าดีหรือไม่ การสอบไม่ใช่ทางออกที่ดีอยู่แล้วสำหรับเด็กปฐมวัย แต่เท่าที่คุยกับครูก้าท่านก็บอกว่า ในเชิงปฏิบัติมันยังไม่สามารถทำได้ เพราะมันยังมีช่องโหว่อยู่ ทางคณะกรรมการเองก็ยังไม่มีการวางแนวทางที่ชัดเจนออกมา บางโรงเรียนก็ยังมีการจัดสอบอยู่แต่ก็เลี่ยงไปใช้คำอื่นแทนคำว่าสอบ
สื่อภาพยนตร์ โดยเฉพาะความเป็นสารคดี จะช่วยถ่ายทอดประเด็นการศึกษาได้อย่างไร
ประเด็นเกี่ยวกับการศึกษาก็จะแบ่งออกเป็นสองแบบ แบบนึงที่เราคุ้นเคยคือ สารคดีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาต่างๆ ถ้าเราจะทำเรื่องชั้นหนึ่งให้เป็นแบบนั้นก็คงพูดถึงเรื่องการสอบเข้า ปัญหาของประเทศเราที่ไม่สามารถจะจัดการศึกษาถูกต้องตามหลักพัฒนาการเด็กปฐมวัยได้ แบบนี้จะเรียกว่าเทรนด์คลาสสิก
แต่เรากำลังพบอีกเทรนด์นึงซึ่งมาพร้อมๆ กับการตื่นตัวการจัดรูปแบบการศึกษาแบบใหม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเด็กปฐมวัยเลย หรือว่าเด็กโต ว่าการศึกษาที่เราทำอยู่มันล้าสมัยไปแล้วหรือยัง เพราะมันก็ร้อยกว่าปีมาแล้วที่จับเด็กมานั่งเรียนอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมหันหน้าไปทางเดียวกัน ทำให้เกิดเป็นเทรนด์การเรียนที่ไม่คุ้นตา เป็นสารคดีที่พูดถึงการเรียนแนวทางเหล่านั้นขึ้นมา
เช่น สารคดีจากประเทศนอร์เวย์เรื่อง childhood (2017) เล่าเรื่องโรงเรียนกลางป่าที่คุณครูพาเด็กเข้าไปโดยที่ไม่สอนในแบบที่เราคุ้นชิน คอนเซ็ปต์คือพาเด็กเข้าไปในป่าให้เด็กเล่นกันเอง ให้เด็กเล่นมีด คือผู้ใหญ่มักจะกลัวว่าเด็กจะได้รับอันตราย แต่จริงๆ เด็กเขาดูแลตัวเองได้ มันก็เหมือนเป็นสารคดีที่เสนอการเรียนแบบใหม่ๆ เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงเยอะ เพราะเล่าเรื่องเด็กอนุบาลผ่านการสังเกต และไม่ได้ขับเน้นประเด็นชัดเจน
จริงๆ ชั้นหนึ่ง จะมีอีกเวอร์ชันนึงที่เราเน้นเรื่องผู้ใหญ่ ว่าเขาทำอะไรบ้างกับเด็กที่เขาคิดว่าดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ก่อตั้งโรงเรียน เพราะยังมีเด็ก และโรงเรียนอีกเยอะมากที่เรายังไม่ได้ใส่เข้ามา
เพราะหลังจากนี้ จะขึ้นชั้นประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัย ถ้าเรายังไม่ทิ้งคอนเซ็ปต์การพัฒนาแบบเด็กปฐมวัย เราคงผลิตประชากรรุ่นใหม่ที่เขาสามารถเอาตัวรอดในโลกอนาคตได้ดีกว่าพวกเรา
แสดงว่าเหมือนตอนนี้คนเริ่มกลับมาให้ความสนใจกับการศึกษาของเด็กปฐมวัย
ในวงเสวนาก็มีประเด็นที่พูดถึงเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ว่าการปฏิรูปการศึกษาในยุคปัจจุบันที่ดีที่สุด คือต้องกลับไปมองการศึกษาแบบเด็กปฐมวัย เหมือนกับว่าใช้คอนเซ็ปต์การศึกษาแบบเด็กปฐมวัยนี่แหละจนถึงขั้นอุดมศึกษาเลย เพราะการศึกษาแบบเด็กปฐมวัยมุ่งเน้นให้เด็กมีความคิดที่หลากหลาย แตกต่างได้ มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะที่พูดมาทุกทักษะมีความสำคัญมากไม่ใช่เฉพาะกับเด็กปฐมวัย
เพราะในการศึกษามหาวิทยาลัยเราก็พบว่าทุกวันนี้มันล้าสมัยมาก เราไม่ได้ฝึกให้เด็กคิดแบบที่จะสามารถเอาตัวรอดได้ในโลกอนาคต เรายังเอาความรู้เก่าๆ เรื่องอดีตมาใส่หัวเด็กซะเป็นส่วนใหญ่ ผมว่าทฤษฎีปฐมวัยมันเริ่มขยายไปเองเกินไปกว่าที่จะใช้ได้แค่เฉพาะเด็กปฐมวัยแล้ว เด็กอุดมศึกษาก็สามารถเอาวิธีนี้ไปประยุกต์ ใช้ได้
ผมเลยคิดว่าการเรียนการศึกษาในแบบเด็กปฐมวัยจึงกลายเป็น hot issue เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อยากดู เพราะมันเป็นต้นทางของการปฏิรูปการศึกษาในยุคนี้ได้ดีมากๆ เพราะหลังจากนี้จะขึ้นชั้นประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัย ถ้าเรายังไม่ทิ้งคอนเซ็ปต์การพัฒนาแบบเด็กปฐมวัย เราคงผลิตประชากรรุ่นใหม่ที่เขาสามารถเอาตัวรอดในโลกอนาคตได้ดีกว่าพวกเรา
ในมุมของพ่อแม่ เราคิดว่าการที่เราได้เห็นโลกที่หลากหลายของเด็กปฐมวัย และเด็กป.1 ก็ช่วยปูพื้นความรู้ ความเข้าใจให้กับเรา ช่วยทำให้เรารู้ว่าเรื่องอะไรบ้างที่เราควรระวังและสนใจเป็นพิเศษ
หนังเรื่องนี้ดำเนินควบคู่มากับตอนที่อาจารย์ได้เป็นคุณพ่อคุณแม่พอดี การได้เห็นเด็กปฐมวัยในหลายรูปแบบ ทำให้รู้สึกอย่างไร
ข้อแรกเราก็ดีใจ ที่เราเซอร์เวย์ไว้ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่มีลูก ทำให้เราเห็นว่าอะไรบ้างที่เราสนใจ อะไรบ้างที่เราควรจะเตรียมพร้อม แล้วก็ทิศทางไหนที่เราควรจะวิ่งไป
ในมุมของพ่อแม่ เราคิดว่าการที่เราได้เห็นโลกที่หลากหลายของเด็กปฐมวัย และเด็กป.1 ก็ช่วยปูพื้นความรู้ ความเข้าใจให้กับเรา ช่วยทำให้เรารู้ว่าเรื่องอะไรบ้างที่เราควรระวังและสนใจเป็นพิเศษ
ถามว่ามีแนวทางอยู่ในใจหรือยังหลังจากหาข้อมูล เราก็ชัดเจนว่าเราสนใจที่จะพัฒนาในแนวทางเลือก เน้นการเล่น อย่างในหนังก็จะมีซีนเด็กปีนต้นไม้ ผมว่ามันเป็นอย่างตัวอย่างที่ดีมากของวิธีคิดว่าเราจะใส่ใจลูกได้ในลำดับไหน เราเข้าไปใกล้เขาเกินไปไหม ไปชี้แนวทางว่าให้ปีนกิ่งไม้นี้สิ หรือแม้กระทั่งไปบังคับให้เขาปีนต้นไม่ในขณะที่เขายังไม่พร้อม หรือว่าเราอยู่ไกลเขาไปไหม ผมว่ามันเป็นการหาบาลานซ์ว่าเราจะวางตัวเองอยู่ตรงไหนในขณะที่ลูกกำลังเรียนรู้โดยที่เราไม่ไปขัดขวางเขา
จริงๆ ตอนเราทำก็มีความหวังนะ เพราะเราได้พบเจอคนจำนวนนึงเลยที่ทุ่มพลังกายพลังใจเพื่อทำให้เรื่องของการศึกษาปฐมวัยได้เป็นที่เผยแพร่ในวงกว้าง เราเริ่มทีจะเห็นแนวทางอะไรที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน มีทางเลือกให้กับลูกมากกว่าแต่ก่อน
แล้วก็มีความมั่นใจมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนเรากลัวความเป็นโฮมสกูลมากๆ กังวลว่าจะเป็นคุณครูให้ลูกไม่ได้ แต่หลังจากที่เราเข้าไปทำสารคดีเรื่องนี้ก็ทำให้เรามั่นใจว่าการบ่มเพาะลูกด้วยการโฮมสกูลเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้ แล้วในปัจจุบันเครือข่ายของผู้ที่ทำโฮมสกูลมีมากขึ้นจนกระทั่งทำให้เรามั่นใจว่าถ้าเราจะทำโฮมสกูลก็จะสามารถช่วยๆ กันไปได้
คนที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดเลยคือคนที่ไม่รู้เลยว่าปฐมวัยคืออะไร ไม่รู้ว่าการศึกษาแบบปฐมวัยต้องพัฒนายังไง คนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญมากที่ผมอยากจะให้หนังวิ่งไปหาให้ได้
ในมุมของคนทำหนัง อยากให้หนังไปได้ถึงไหน
จริงๆ อยากให้คนที่ดูเป็นทั้งคนทั่วไป เป็นพ่อแม่ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของการศึกษาและนำไปแก้ไข ผมว่าหนังตัวนี้เป็นแค่ตัวนำร่อง จากที่เราได้ฟีดแบ็กจากคนที่ได้รับชมหนังมาก็จะแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มนึงเป็นคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะชอบพาร์ตแรกของหนังที่พูดถึงเรื่องการเติบโตแบบเด็กปฐมวัยควรจะมีพัฒนาการอย่างไร อีกกลุ่มนึงคือกลุ่มที่สนใจในเรื่องของการศึกษาก็อาจจะไปสนใจพาร์ตหลังตรงที่ว่าแต่ละโรงเรียนเขามีรูปแบบการสอนยังไง
เจตนาของคนทำหนังอยู่ในนี้อยู่แล้ว ว่าอยากให้หนังเรื่องนี้ไปได้กว้างที่สุด ไม่ใช่แค่ในเฉพาะกลุ่มของพ่อแม่และคนในวงการการศึกษา อยากให้คนทั่วๆ ไปได้ชมหนังเรื่องนี้ด้วย อยากจะให้คอนเซ็ปต์เหล่านี้เข้าไปอยู่ในชีวิตคนส่วนใหญ่ให้ได้ แต่ผมว่าคนที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดเลยคือคนที่ไม่รู้เลยว่าปฐมวัยคืออะไร ไม่รู้ว่าการศึกษาแบบปฐมวัยต้องพัฒนายังไง คนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญมากที่ผมอยากจะให้หนังวิ่งไปหาให้ได้ แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าคุณจะชอบพาร์ตไหนก็แล้วแต่ ดูรวมๆ แล้วคุณก็จะเห็นว่าการศึกษาไทยควรจะต้องพัฒนาและปรับปรุงตรงไหนบ้าง
ยังมีแผนที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อยู่ไหม
เหตุผลในการฉายในโรงภาพยนตร์มีสองเหตุผล ข้อแรกคือการฉายหนังในโรงภาพยนตร์จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมมากขึ้น ถึงแม้จะไม่ใช่หนังที่มีชื่อเสียงอะไร แต่มันทำให้เราได้มีวาระที่เราได้พูดถึงเรื่องประเด็นสำคัญได้ดังมากขึ้นหน่อย
เหตุผลที่สองคือเราได้มอบประสบการณ์การชมเรื่องราวในโรงใหญ่ๆ จอกว้างๆ ซึ่งมันคงจะเอฟเฟคมากถ้าเราได้ไปนั่งดูความสดใส ได้เห็นพลังของเด็กๆ ในหนังที่เราไม่ได้เห็นบ่อยๆ ในโรงภาพยนตร์ การที่เราจะพาหนังที่มีแต่เด็กเข้าไปอยู่ในโรงภาพยนตร์ มันก็เป็นแผนการที่เราอยากจะทำให้ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามคงต้องดูว่าเมื่อไรที่สถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น รอจนกระทั่งเวลาที่ทุกคนกลับมามีชีวิตเหมือนเดิม ผมว่าเรื่องนี้ก็คงยังไม่ล้าสมัย ถึงเด็กในเรื่องจะโตกันหมดแล้ว แต่ประเด็นปัญหาในหนังก็ยังพูดได้เสมอ
เหมือนตอนนี้เรื่องของการศึกษายังเป็นการแก้ปัญหารายวัน พ่อแม่ยังคงต้องนั่งให้ลูกเรียนออนไลน์กันอยู่ มีเรื่องให้ปวดหัวอีกเยอะ เขาก็ยังไม่มีสมาธิจะมาดูหนังของเราเท่าไหร่ ผมอยากรอให้ทุกคนพร้อมจริงๆ เมื่อนั้น เป้าหมายของเราคือถ้าเรามีโอกาส เราก็จะเอาหนังเรื่องนี้เข้าโรงภาพยนตร์ให้ได้
สุดท้ายแล้ว ยังมีความหวังกับระบบการศึกษาบ้านเราอยู่ไหม
ประเทศเรากว่าจะเป็นอย่างฟินแลนด์ได้คงต้องใช้เวลาอีกนาน แม้เราจะมองว่าการจัดการการศึกษาของฟินแลนด์จะเพอร์เฟ็กต์ แต่ฟินแลนด์เองก็ใช้เวลาไม่น้อยเลย ใช้เวลาพัฒนามาเป็นหลายสิบปีเลยตั้งแต่ปี 1970 เขาก็เริ่มจะไหวตัวกันแล้วว่าการศึกษามาถูกทางหรือผิดทาง ผมไม่รู้หรอกว่าอนาคตอีกหลายสิบปีประเทศเราจะทำให้ดีแบบฟินแลนด์หรือเปล่า แต่จะช้าก็ไม่ได้ เพราะทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนเร็ว เราจะมานั่งพัฒนาปีต่อปีมันคงช้าไป
ความหวังของผมจึงไม่ได้เป็นความหวังที่ใหญ่โตว่าประเทศเราจะเปลี่ยนระบบการศึกษาได้ แต่ที่บอกว่ามีความหวังคือ อย่างน้อยๆ ลูกเราก็มีผู้เชี่ยวชาญที่ทำให้ลูกเราได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง เพราะมีครูอีกหลายๆ คนที่ไม่รอระบบการศึกษาไทย อะไรที่ทำได้ก็ทำเลยเพราะลูกเราโตขึ้นทุกวัน
ติดตามความคืบหน้าและข่าวสารเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทาง https://www.facebook.com/dreamsequenze
COMMENTS ARE OFF THIS POST