THE ROOKIE MOM คุณแม่มือสมัครเลี้ยง รายการพอดแคสต์ที่สร้างสรรค์และดูแลการผลิตโดย Salmon Podcast จับมือกับ M.O.M โดยมีแม่นิดนก รับหน้าที่เป็นแม่และเป็นโฮสต์ประจำรายการ
สำหรับ Ep. นี้ เราจะมาพูดคุยกันถึง #แบนสิงโต หนึ่งในหนังสั้นสั้นจากโปรเจกต์ #HATETAG ที่มีการหยิบยกสถานการณ์ด้านมืดใน ‘กรุ๊ปไลน์ผู้ปกครอง’ ของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 3 ในโรงเรียนสมมติแห่งหนึ่ง
เอาเป็นว่าแค่เห็นคอนเซ็ปต์อย่างนี้ มีหรือแม่นิดนกจะพลาด แต่จะพูดในมุมของคนเป็นแม่อย่างเดียวก็คงไม่รอบด้าน Ep. นี้จึงทำการเชิญชวน โอ๋—ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ผู้กำกับ และ เผือก—พงศธร จงวิลาศ นักแสดงนำในเรื่องมาพูดคุยถึงแรงบันดาลใจ ทำไมต้อง #แบนสิงโต กรุ๊ปไลน์ผู้ปกครองในชีวิตจริงจะฮาร์ดคอร์เหมือนในหนังจริงไหม แล้วการแสดงความเห็นของพ่อแม่ผู้ปกครอง ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงชีวิตลูกอย่างไรต้องเกริ่นกันก่อนว่า #HATETAG เป็นโปรเจ็กต์หนังสั้น 10 เรื่องจากหลากหลายผู้กำกับที่ตั้งใจนำเสนอเรื่องราวการ Cyberbullying ในแง่มุมต่างๆ และ #แบนสิงโต ก็เป็นหนังสั้นจากผลงานการกำกับของคุณโอ๋—ภาคภูมิ ผู้กำกับเจ้าของผลงานกำกับภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่าง Homestay, ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ และ สี่แพร่ง
ส่วนเรื่องราวของ #แบนสิงโต จะมีที่มาอย่างไร เราให้ผู้กำกับและเจ้าของไอเดียเป็นคนอธิบายจะดีกว่า
อ้อ… บอกก่อนเลยว่า การรีแคปนี้อาจจะมีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วน แต่ว่าเราก็พยายามข้ามส่วนที่สำคัญต่ออรรถรสในการดูไปแล้วนะคะ 🙂
• #แบนสิงโต เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคุณพ่อที่พบว่าลูกถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนคนหนึ่งในโรงเรียน ที่ชื่อว่าสิงโต ซึ่งเป็นเด็กที่ชอบแกล้งเพื่อนมาก แต่พอค้นลึกลงไปก็เริ่มรู้ว่าการแกล้งเพื่อนของสิงโต มีเบื้องลึกเบื้องหลังจากไลน์กรุ๊ปของผู้ปกครองในโรงเรียน
• แรงบันดาลใจของเรื่องนี้มาจากการเห็นน้องชายที่จริงจังกับไลน์กรุ๊ปผู้ปกครองมาก ถึงขนาดตกใจเมื่อเห็นผู้ปกครองคนหนึ่งทักเข้ามา จึงเลยเกิดความสงสัยว่าเพราะอะไร
• ต่อมาจึงได้รู้ว่าสังคมของพ่อแม่อนุบาลก็มีการแก่งแย่งชิงดี ด่าทอ ต่อว่ากัน ผ่านกรุ๊ปไลน์นี่เอง
นอกจากเรื่อง cyberbullying ที่ใช้กรุ๊ปไลน์เป็นเครื่องมือแล้ว เรื่องนี้ยังพูดถึงการ body shaming ที่เกิดกับตัวละครที่ชื่อสิงโตอีกด้วย
• ตัวละครสิงโต ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเด็กที่ชื่อสิงโตจริงๆ และเขาก็ชอบแกล้งเพื่อนจริงๆ แต่เบื้องหลังก็คือตัวเขาเองก็โดนบูลลี่มามาก ตอนนี้ผมเองก็ยังไม่ได้คำตอบว่าสิงโตตัวจริงมีรูปร่างหน้าตาหรือความแตกต่างจากคนอื่นยังไงถึงได้โดนบูลลี่ขนาดนี้ ในหนังจึงต้องเพิ่มเรื่องรูปลักษณ์ของสิงโตที่แตกต่างจากเพื่อนเข้ามาด้วย
• แบ็กกราวน์ของคุณแม่สิงโต ก็ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของกรุ๊ปไลน์ผู้ปกครองที่มีการด่าทอคุณแม่คนหนึ่งด้วยถ้อยคำรุนแรง จึงนำมาจินตนาการว่าแม่คนนั้นจะมีรูปพรรณสัณฐานยังไง ก็เลยได้ตัวละครแม่ของสิงโตออกมา
แม่นิดนกจึงตั้งคำถามว่า “ในสังคมเราตอนนี้ ถ้ามีกรณีที่เด็กมีรูปร่างหน้าตาไม่เป็นอย่างที่เราคุ้นเคย เหตุการณ์จะรุนแรงเหมือนในเรื่องหรือเปล่า” ซึ่งคุณเผือกก็ได้ตอบว่า
• คิดว่าเป็นไปได้ เพราะเราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าคนเราจะสามารถยับยั้งชั่งใจในการพิมพ์อะไรสักอย่างออกมาได้ขนาดไหน และบางทีเราก็ได้เห็นการพิมพ์ข้อความอะไรที่ไม่คาดคิดเหมือนกัน
แม่นิดนกเล่าว่า ปัญหาเด็กแกล้งหรือรังแกกัน คุณครูอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของเด็กเล่นกัน เป็นเรื่องของพัฒนาการ แต่พอลองหาความจริงไปเรื่อยๆ อาจจะพบว่ามันไม่ใช่แค่การเล่นกันก็ได้
ก่อนจะกลับมาถามว่า คุณเผือกเคยมีประสบการณ์ที่ลูกเล่นกับเพื่อนแล้วเจ็บตัวกลับมาบ้างไหม
• มีตลอด แต่ส่วนตัวไม่มีปัญหา เพราะเรารู้สึกว่าลูกต้องเจ็บลูกต้องร้อง เขาต้องเรียนรู้ ข้อนี้ผมกับภรรยาเป็นเหมือนกัน บางทีมีเด็กข้างบ้านมาเล่นสกูตเตอร์ของเขา เขาเกิดหวงของจะรีบวิ่งไปเอาคืนจนหกล้มหัวทิ่มเป็นแผล ก็จะได้เรียนรู้ว่าเขาล้มเพราะตัวเองใจร้อนจะรีบวิ่งไปเอาของคืน ก็ไม่เป็นไร เจ็บก็เจ็บ
• ด้วยความที่ลูกยังไม่ได้อยู่ในสังคมโรงเรียนเต็มตัว เลยไม่รู้ว่าคอมมูนิตี้ในนั้นมันเข้มข้นขนาดไหน แต่ธรรมชาติของพ่อแม่ ถ้าลูกเจ็บก็ต้องปกป้องลูกตัวเองก่อนอยู่แล้ว แต่มันคงต้องผ่านการคุยกันก่อนว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร
• ผมค่อนข้างจะเป็นคนที่ระวังไม่ให้ลูกไปทำคนอื่นมากกว่าระแวงคนอื่นมาทำลูก ถ้าลูกคนอื่นมาทำลูกเรา จะรู้สึกว่าไม่เป็นไร แต่ถ้าลูกเราไปทำคนอื่น เราจะบอกลูกทันทีว่าไม่ทำแบบนี้นะครับ อย่าทำคนอื่นเจ็บ และถ้าทำลูกก็จะต้องขอโทษ
ในฐานะคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในสังคมโรงเรียนเต็มตัวแล้ว แม่นิดนกจึงเล่าประสบการณ์ที่ลูกสาวของตัวเองได้เจอบาง
• เวลาลูกโดนเพื่อนเข้ามาแกล้งหรือมาตี เขาจะมาเล่าให้ฟัง ซึ่งมันมักจะเป็นเด็กคนเดิมซึ่งเรารู้ว่าเด็กคนนี้เวลาโกรธหรือมีเรื่องไม่พอใจ เขาจะตีคนอื่นทันที เราก็จะบอกลูกเสมอว่าไม่ใช่เพราะเพื่อนคิดไม่ดีหรือไม่ชอบหนู เขาอาจจะควบคุมอารมณ์ตอนนั้นไม่ได้ แต่แม่รู้ว่าหนูไม่ชอบที่เขามาตี ก็ให้บอกเพื่อนว่าไม่ให้ตี แล้ววิ่งหนีไปเลย ซึ่งลูกก็ใช้วิธีนี้จริงๆ
• ไม่แน่ใจว่ามันเป็นแนวทางปฏิบัติของโรงเรียนหรือเปล่า แต่ถ้าลูกเรามีแผลมา คุณครูก็จะรีพอร์ตว่าเกิดอะไรขึ้น แต่จะไม่บอกว่าใครทำ ซึ่งตัวเองก็ไม่เคยถาม เพราะส่วนใหญ่ถ้ามีเดี๋ยวลูกก็จะบอกเอง ซึ่งเราคิดว่าเป็นแนวทางที่โอเค พ่อแม่จะได้ไม่บาดหมางกัน
เราพยายามข้ามส่วนที่สปอยล์เนื้อหาสำคัญในหนังออกไป จึงตัดมาสู่คำถามที่ถามคุณโอ๋ว่า “ในฐานะที่ยังไม่ได้อยู่ในวงการพ่อแม่ ในสายตาของคนนอกที่มองเข้ามาเห็นปัญหาหรือเรื่องราวเหล่านี้ รู้สึกอย่างไร”
• เวลาผมมองน้องชายก็คิดว่าจะประคบประหงมลูกอะไรขนาดนั้น เช่น เรื่องการเรียนของลูก เวลาของลูก ทุกอย่างมันดูเป็นกิจลักษณะไปหมด จนบางทีคิดว่ามันเยอะเกินไปหรือเปล่า แต่พอเรามาอยู่กับหลาน เราก็รักเขา ถึงมันจะเป็นความรักแบบลุง แต่ก็รู้ว่าทุกอย่างมันคือความรักนันแหละ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ทุกคนที่มาเผชิญหน้ากัน มันก็คือสงครามที่มาจากความรัก
• วิธีการเลี้ยงลูกยุคนี้มันแตกต่างจากตอนเราเล็กๆ แล้ว เราเติบโตมาแบบธรรมชาติ เราจะมองแค่ว่าคนคนหนึ่งต้องการอะไร ในขณะที่การเลี้ยงลูกในทุกวันนี้มีทฤษฎีมากมายไปหมด ซึ่งภรรยาผมจะเป๊ะมากๆ ในขณะที่ผมชิลมาก ครอบครัวเราก็ต้องใช้วิธีคุยกัน เพื่อพยายามบาลานซ์ให้ได้
“หลังจากที่คนได้ดูโปรเจกต์ #HATETAG นี้ อยากให้สังคมคุยเรื่องอะไรกันต่อ”
โอ๋—ภาคภูมิ
• จริงๆ การทำเรื่อง Cyberbullying เป็นที่โจทย์ยากมาก เราไม่อยากทำหนังสั้นที่สอนคนอื่น เพราะรู้สึกว่าคนสมัยนี้รับอะไรได้เอง คิดอะไรได้เอง เราแค่อยากทำหนังเพื่อลดช่องว่างบางอย่างให้มันแคบลง ให้เขาทำความเข้าใจกันมากขึ้น เหมือนเราเป็นเพื่อนที่เอาสตอรี่บางอย่างมาโชว์ให้ดู แล้วให้เขาเข้าใจกันเอง ผมเชื่อว่าพอเกิดความเข้าใจแล้ว เรื่องเหล่านี้จะลดน้อยลง
เผือก—พงศธร
• โซเชียลฯ ทำให้เราเห็นด้านมืดกันมากขึ้น และมันไม่ได้เกินเลยจากความเป็นจริงเลย อย่างกรุ๊ปไลน์ก็มาจากเรื่องจริง ซึ่งพอรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้ เราก็อาจจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง บางคนอาจจะเอาไปเตือนคนรอบข้าง บางคนอาจจะนำมาปรับปรุงตัวเอง ถ้าได้ดู ไม่ว่าจะตอนไหนก็ตาม อย่างน้อยก็คงมีอะไรสะกิดใจเราบ้าง ถึงสุดท้ายคุณอาจจะพิมพ์ออกมาเหมือนเดิม แต่ถ้าได้เกิดการยั้งคิดก่อนพิมพ์สักหน่อย ก็คงจะดีมาก
และปิดท้ายที่แม่นิดนกสรุปสิ่งที่ได้หลังจากดูหนังเรื่องนี้แล้ว
• คิดว่าชาวแม่น่าจะอินกับ #แบนสิงโต ได้ง่าย เพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้เจอโรงเรียนที่ดุเดือดอย่างในเรื่อง แต่มันคงสะกิดเราให้เราได้นึกว่าสิ่งที่เราเม้าท์มอยกัน มันอาจจะไปทำร้ายใคร เหมือนในหนังก็ได้
สำหรับ #แบนสิงโต หนังสั้นเรื่องที่ 4 จากโปรเจ็กต์ #HATETAG สามารถรับชมได้ทางแอปพลิเคชั่น Line TV
และคุณพ่อคุณแม่สามารถรับฟังพอดแคสต์ THE ROOKIE MOM Ep.86 ได้จากช่องทางต่างๆ ต่อไปนี้ค่ะ
.
.
.
Spotify : https://spoti.fi/3zmzjLP
Apple Podcasts : https://apple.co/3gurA5U
Podbean : https://bit.ly/3xiOVht
YouTube : https://bit.ly/3xgMYSQ
Website: https://bit.ly/3gnfFIh
COMMENTS ARE OFF THIS POST