READING

INTERVIEW: คุยกับ ‘เฟิร์ส’ นครินทร์ เศรษฐิศักดิ์โก...

INTERVIEW: คุยกับ ‘เฟิร์ส’ นครินทร์ เศรษฐิศักดิ์โก—MasterChef Junior Thailand: เบื้องหลังสเตชั่นทำอาหารของเด็กๆ นั้นเต็มไปด้วยสปิริต

MasterChef Junior Thailand รายการแข่งขันทำอาหาร ที่เปิดโอกาสให้เด็กที่มีความฝันและหลงใหลในการทำอาหารได้มาแสดงความสามารถ นอกจากความน่ารักสมวัยแล้ว เรายังได้เห็นแง่มุมของความเป็นนักสู้ และความเป็นผู้ใหญ่ที่แอบซ่อนอยู่ในตัวเด็กๆ เหล่านี้

 

เพราะความน่ารักและความไร้เดียงสาของเด็กๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เราชวน ‘เฟิร์ส’ นครินทร์ เศรษฐิศักดิ์โก—โปรดิวเซอร์รายการ MasterChef Junior Thailand มาพูดคุยถึงเบื้องหลังการทำงานกับเด็กครั้งนี้ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

“เราก็อยากพรีเซนต์ว่าเด็กไทยไม่ได้ด้อยกว่าเด็กชาติอื่น ทำไมออสเตรเลียทำได้ ทำไมอเมริกาทำได้ แล้วทำไมเด็กไทยจะทำไม่ได้”

ทำไมถึงเลือกมาทำ MasterChef Junior Thailand

ต้องย้อนว่าบริษัทเราทำมาตั้งแต่รายการ Iron Chef เป็นการแข่งขันของเชฟมืออาชีพ และก็มา MasterChef Thailand ที่เป็นการแข่งขัน home cook ของผู้ใหญ่ ก็เล็งเห็นว่ายังมีอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจ ก็คือเด็ก เพราะเราก็อยากพรีเซนต์ว่าเด็กไทยไม่ได้ด้อยกว่าเด็กชาติอื่น ทำไมออสเตรเลียทำได้ ทำไมอเมริกาทำได้ แล้วทำไมเด็กไทยจะทำไม่ได้

ความรู้สึกเมื่อทราบว่าต้องมาทำรายการ MasterChef Junior Thailand

ท้าท้ายครับ ท้าท้ายมาก เพราะรู้ว่าการทำงานมันต้องละเอียดกว่าการทำงานกับผู้ใหญ่ ด้วยความเป็นเด็ก จุดที่เราต้องระวังหรือต้องคิดมันเยอะกว่ามาก เช่น เรื่องอุปกรณ์ครัว เรื่องความปลอดภัย ต้องรอบคอบกว่าของผู้ใหญ่อีกเท่าหนึ่ง อย่างมีดเราก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบมีด เพื่อให้เหมาะสมกับเด็ก และเราก็ต้องสอนวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ

มีการสอนเด็กๆ ใช้งานอุปกรณ์ทุกอย่างก่อนเข้าแข่งขัน

เรามีการทำเวิร์กชอปใช้อุปกรณ์ให้กับเด็กทุกคน แต่ก็ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคนจะเก็บประสบการณ์กลับไปได้มากน้อยขนาดไหน บางคนยังเด็กมาก สอนใช้เตาอบไปวันเดียวก็ลืมแล้ว แต่ถึงวันจริง ถ้าเกิดน้องลืม เราก็จะมีทีมงานเข้าไปช่วยเหลือ

เรามีทั้งทีมพยาบาลและทีมฟู้ด ซึ่งต้องเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเท่าตัวจากของผู้ใหญ่ ในสตูดิโอมีทีมงานคอยดูน้องตลอดเวลา ถ้าน้องใช้อุปกรณ์ไม่เป็น หรือมีคนใช้อุปกรณ์ผิดวิธี ถ้าน้องยังพอทำต่อไปได้เราก็จะปล่อย แต่ถ้าเริ่มคิดว่าอาจเกิดอันตรายขึ้น ก็จะมีคนวิ่งเข้าไปช่วยทันที

ขั้นตอนในการเลือกน้องๆ เข้าร่วมการแข่งขัน

ในรอบออดิชั่น 2,000 คน น้องๆ ต้องทำอาหารมาจากบ้านให้เราชิม และเราก็จะถามว่าทำยังไง หนูเล่าขั้นตอนให้ฟังหน่อย และหนูทำเมนูอะไรได้อีกบ้าง พอเลือกรอบนั้นเสร็จ ก็จะได้มาทำอาหารจริงๆ เป็นรอบที่ได้มาเจอกรรมการจริง และคัดจาก 40 คน เหลือ 26 คนสุดท้าย

การทำงานกับน้องๆ ใน MasterChef Junior Thailand เป็นอย่างไรบ้าง

(หัวเราะ) ปวดหัวกว่าผู้ใหญ่มาก เพราะความอดทนเขาจะน้อยกว่าผู้ใหญ่ การทำงานต่างๆ ต้องมีการพักเบรก ไม่สามารถลุยถ่ายยาวๆ ได้เหมือนผู้ใหญ่ ต้องแบ่งเวลาให้ไปอยู่กับผู้ปกครองชัดเจนขึ้น เพราะระหว่างถ่ายทำ ผู้ปกครองจะอยู่ที่สตูดิโอด้วย แต่แยกอยู่อีกห้อง ไม่ได้เข้ามาในหน้าเซตที่เราถ่าย แต่พอแข่งเสร็จปุ๊บ เราก็จะปล่อยให้เด็กออกไปเจอกับผู้ปกครองเลย

ผู้ปกครองก็เป็นอีกส่วนสำคัญในการทำงาน

ผู้ปกครองค่อนข้างมีส่วนมาก เพราะการทำงานกับเด็กเหมือนเราต้องทำร่วมกันสามส่วน คือรายการ ผู้ปกครอง และเด็ก พอกลับบ้านไป ผู้ปกครองก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กพัฒนาฝีมือได้ เราจะคุยกับผู้ปกครองตั้งแต่แรก ว่าเราทำงานกับเด็กฝั่งเดียวไม่ได้ ต้องให้ผู้ปกครองเป็นหนึ่งในทีมงานที่ช่วยกัน เพื่อพัฒนาฝีมือเด็กไปเรื่อยๆ เพราะผู้ใหญ่อาจคิดเองได้ ว่าฉันต้องลุกขึ้นมาฝึก แต่เด็กต้องให้พ่อแม่ช่วยไกด์ ว่าหนูมาหัดทำอันนี้ไหม

ความยากง่ายระหว่างการทำงานกับเด็กและผู้ใหญ่

ของเด็กค่อนข้างยากกว่าในรายละเอียดการทำงาน การคิดบททดสอบต่างๆ อย่างที่บอกตอนต้นว่าทุกอย่างต้องรัดกุมมากๆ ว่ามันต้องไม่อันตรายกับเด็ก และต้องห่วงเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก

ที่จริงบททดสอบของเด็กก็จะคล้ายกับของผู้ใหญ่ แต่เราก็จะดูว่าเด็กสามารถทำไปได้ถึงขนาดไหน ซึ่งก็จะมีทีมเชฟให้คำปรึกษา รวมถึงคณะกรรมการด้วย เราต้องคิดโจทย์ร่วมกัน ว่าถ้าเป็นแบบนี้ คิดว่าเด็กจะโอเคไหม เด็กจะทำได้ไหม

เคยไปอ่านเจอใน #MasterChefJuniorThailand ในทวิตเตอร์ว่ามีเหตุการณ์ที่เด็กร้องไห้งอแงกันจนต้องยกกอง

เคยมีอยู่ครั้งนึง น่าจะเป็นการถ่ายครั้งแรกรอบออดิชั่น คือเด็กเขาจะมีความอุปาทานหมู่ มันเป็นครั้งแรกที่ได้เข้ามาในสตูดิโอจริง มีความเครียด มีความกดดัน มันไม่เหมือนตอนเขาทำอาหารอยู่ที่บ้าน พอมาเจอบททดสอบแล้วมีคนต้องออกตั้งแต่บททดสอบแรกก็เริ่มกลัว พอกลัวปุ๊บก็เริ่มอารมณ์มาละ พอคนหนึ่งร้องไห้ปุ๊บ ทุกคนก็ค่อยๆ ร้องตามหมดเลย เราต้องให้ผู้ปกครองเข้ามาช่วยปลอบ ปลอบแล้วก็ยังไม่หาย เราเลยตัดสินใจว่าวันนี้คงถ่ายต่อไม่ได้แล้ว เด็กคงไม่สามารถเรียกสติหรืออารมณ์กลับมาทำอาหารได้ เลยตัดสินใจยกกอง

ปกติถ้ามีน้องร้องไห้จะทำอย่างไรบ้าง จะจัดการกับปัญหาอย่างไร

ถ้าหน้าเซตกำลังถ่ายทำอยู่ ก็จะเป็นพี่ๆ กรรมการเข้าไปดูแล เข้าไปช่วย กึ่งสอนไปในตัวว่าการร้องไห้ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เพราะฉะนั้น ต้องพยายามเรียกสติกลับมา และก็สู้ต่อ เพื่อให้ทุกอย่างมันจบ อย่าคิดอะไรไปก่อน อย่ากลัว

เด็กก็จะคิดตามคำพูดของกรรมการ เหมือนเราทั้งสอนเด็กในรายการและสอนเด็กที่ดูอยู่ทางบ้านด้วย ว่าการร้องไห้มันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา

ภาพลักษณ์ของกรรมการใน MasterChef Thailand ที่ผ่านมาค่อนข้างดุ พอผู้แข่งขันเป็นเด็ก เคยคิดว่าต้องเปลี่ยนกรรมการไหม

ไม่เปลี่ยนครับ เราตั้งใจใช้กรรมการชุดเดิม แต่อยากให้เห็นอีกมุมหนึ่งของกรรมการ จริงๆ ถึงเป็นกรรมการสำหรับเด็ก ก็จะมีความตรงในการคอมเมนต์อยู่ แต่จะมีจุดที่ติและปลอบ ไม่ใช่ติอย่างเดียว จะมีการปลอบด้วยการให้ข้อคิดหรือชมเพื่อให้กำลังใจปิดท้าย เด็กจะได้ไม่รู้สึกแย่

ตอนกรรมการรู้ว่าซีซั่นนี้ต้องรับมือกับเด็ก มีปฏิกิริยาอย่างไรกันบ้าง

ทุกคนก็รู้สึกว่าน่าสนุก ถ้าได้ดูไปเรื่อยๆ จะเห็นว่ามีบางจุดที่แตกต่างกับการแข่งขันของผู้ใหญ่ เช่น สัปดาห์ก่อนที่กรรมการแต่งชุดมาสคอตเป็นปลา เป็นสัตว์ทะเล แล้วก็มาเต้น Baby Shark

ที่จริงเราเป็นคนเตรียมชุดไว้ให้ แต่พอให้กรรมการเขาไปเปลี่ยนชุดปุ๊บ เชฟเอียน (พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย) ก็เริ่มเปิดเพลง Baby Shark ขึ้นมา และเขาก็เต้นกันเองในห้อง เขาก็ถามว่าเต้นเพลงนี้ด้วยดีไหม เราก็โอเค เลยได้เอามาใช้ในรายการ

เวลามีคอมเมนต์ด้านลบไปถึงตัวเด็ก รายการมีวิธีรับมืออย่างไร

จริงๆ ก็ยังไม่ได้ลบเยอะขนาดนั้น ด้วยความที่เป็นเด็ก เขาก็ไม่ได้โดนด่าเหมือนผู้ใหญ่ แต่จะมีฟีดแบ็กว่าน้องคนนี้ร้องไห้บ่อยจัง คนนี้ร้องไห้ตลอดเวลา ตอนนั้นออนแอร์ไปแค่สามเทป แต่ถ้ารอดูไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นพัฒนาการของน้องๆ เหมือนรายการเราฝึกเด็กให้โตขึ้น แต่เราจะพูดคุยกับผู้ปกครองให้เข้าใจ ว่ามันต้องมีฟีดแบ็กด้านลบอยู่แล้ว คนที่พิมพ์คีย์บอร์ด บางทีเขาดูปุ๊บ เขาก็พิมพ์ทันที

เราแคร์ผู้ปกครองกับเด็กมากกว่า ว่าสภาพจิตใจโอเคไหม แต่ยังไงรายการก็ต้องเลือกนำเสนอในแง่มุมดีๆ ของเด็กอยู่แล้ว

 

“เราค่อนข้างกังวลว่าเด็กจะไหวไหม แต่พอเริ่มถ่ายทำไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าเด็กก็ทำได้ไม่แพ้ผู้ใหญ่เลย เจอแดดร้อน ร้องไห้ แต่ก็ทำทุกอย่างให้เสร็จตามเวลา เด็กพวกนี้เก่ง เราต้องยอมรับในสปิริตของเด็ก”

สิ่งประทับใจน้องๆ ใน MasterChef Junior Thailand

ก่อนที่จะทำคือเราค่อนข้างกังวลและเครียดมาก ว่าเด็ก 8-13 ปี จะมีความอดทน ใจสู้ขนาดไหน ด้วยความที่เราทำของผู้ใหญ่มา เรารู้ว่ามันหนักมาก กับการแข่งขันรายการนี้ ขนาดผู้ใหญ่ยังเหนื่อยเลย แล้วของเด็กก็มีการแข่งเป็นทีม (Team Challenge) ที่ออกไปแข่งข้างนอก ต้องไปตากแดดเหมือนกัน เราค่อนข้างกังวลว่าเด็กจะไหวไหม แต่พอเริ่มถ่ายทำไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าเด็กก็ทำได้ไม่แพ้ผู้ใหญ่เลย เจอแดดร้อน ร้องไห้ แต่ก็ทำทุกอย่างให้เสร็จตามเวลา เด็กพวกนี้เก่ง เราต้องยอมรับในสปิริตของเด็ก

แล้วก็เรื่องความอดทนของเด็ก น้องๆ อดทนมาก และก็สู้มาก ถึงเห็นว่าจะร้องไห้ แต่ถึงร้องไห้เขาก็ยังทำไปด้วย ไม่ได้ร้องไห้งอแง แล้วไม่ยอมทำอาหารต่อ ถึงน้ำตาไหลแต่มือก็ยังหั่นผัก เรารู้สึกว่ามันเป็นอีกแง่มุม ถ้าตอนเราเป็นเด็ก เรามาเจอสถานการณ์แบบนี้ เราคงร้องไห้ ร้องหาพ่อแม่ไปแล้ว แต่น้องๆ เหล่านี้พร้อมที่จะสู้ และก็พิสูจน์ให้เห็นว่าน้องรักการทำอาหารจริงๆ เวลาได้รับคำชมก็ยิ้มแก้มปริ ดีใจว่าอาหารตัวเองอร่อย

จากการทำงานครั้งนี้คิดว่าตัวเองได้อะไรกลับไปบ้าง

เหมือนเติมไฟให้กับตัวเอง เด็กอายุแค่นี้เขายังสู้ ไม่ท้อเลย ถ้าเราเจอปัญหาหรืออะไรก็ตาม เราอายุขนาดนี้แล้วก็ต้องสู้ ไม่ใช่มัวมานั่งจมอยู่กับปัญหา และก็ไม่กล้าไปทำอะไร เด็กๆ ไม่ได้จมกับปัญหาเลย เขารู้ว่าจุดอ่อนเขาคืออะไร เขาก็เอาไปพัฒนาตัวเองเพื่อให้มันดีขึ้น

ฝากถึงคนที่ติดตามน้องๆ ในรายการ MasterChef Junior Thailand

ฝากเป็นกำลังใจให้กับเด็กๆ รายการอาจไม่ได้รุนแรงเท่ากับผู้ใหญ่ แต่อยากให้มาร่วมยิ้มไปกับความน่ารัก และความเก่งของเด็กๆ มาช่วยให้กำลังใจพวกเขากัน

 

สัมภาษณ์วันที่ 6 กันยายน 2561

Pitchaya T.

ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเป็นของขวัญจากธรรมชาติ ที่ช่วยยืนยันว่ามนุษย์คนนี้คือเด็ก :)

RELATED POST