พอเด็กๆ ได้กลับไปเรียนที่โรงเรียนกันมากขึ้น พวกเราก็เลยมีโอกาสได้ทำคอลัมน์ School กันบ่อยขึ้นตามไปด้วย
วันนี้พวกเราจะพาไปดูโรงเรียนน่ารักย่านทองหล่อ อีกย่านธุรกิจที่แสนจะคึกคักของกรุงเทพมหานคร
Melodies International Kindergarten โรงเรียนนานาชาติ ที่หยิบยกทั้งหลักสูตร การเรียนการสอน และแนวคิดแบบญี่ปุ่นมาปรับใช้กับเด็กๆ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนนานาชาติ สัญชาติญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้
พอได้ยินอย่างนี้ ใครจะทำให้เรารู้จักโรงเรียนแห่งนี้ได้ดีไปกว่า ดร.พรหมจวรรณ อุดมมานะ ผู้บริหารโรงเรียน หรือ คุณครูนานา ของเด็กๆ ที่สละเวลาพาพวกเราเดินชมและเล่าเรื่องราวของโรงเรียนสัญชาติญี่ปุ่นแแห่งนี้
เริ่มต้นจากโรงเรียนญี่ปุ่นสำหรับเด็กญี่ปุ่นในประเทศไทย
โรงเรียน Melodies International Kindergarten ก่อตั้งขึ้นในปี 2524 ถ้านับจนถึงปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้ก็อายุ 41 ปี แล้ว
นอกจากอายุของโรงเรียนจะเก่าแก่กว่าที่เราคิด คุณครูนานายังเล่าว่าในวัยเด็ก เธอก็คือศิษย์เก่าของโรงเรียนแห่งนี้ เพราะคุณแม่ของครูนานาคือผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้ขึ้นมาด้วยความรักและความตั้งใจสุดๆ นั่นเอง
ความเป็นย่านธุรกิจของสุขุมวิทและทองหล่อ ทำให้มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานและพักอาศัยในบริเวณนั้นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนญี่ปุ่นที่มีการย้ายครอบครัวมาทำงานระยะยาวในประเทศไทยมากขึ้น คุณแม่จึงตัดสินใจเปิดโรงเรียนอนุบาลแห่งนี้ขึ้น ด้วยความตั้งใจว่าจะช่วยให้เด็กญี่ปุ่นที่ต้องย้ายประเทศตามคุณพ่อคุณแม่มามีโรงเรียนที่เหมาะสมกับตัวเองมากขึ้น
และเพราะเห็นคุณแม่คลุกคลีอยู่กับเด็กและแวดวงการศึกษามาตลอดชีวิต ครูนานาจึงมีความฝันจะเป็นคุณครูตั้งแต่ยังเด็ก จนเรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA)และกลับมาทำงานด้านวิชาการเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย ก่อนจะรับช่วงต่อจากคุณแม่เข้ามาดูแลและบริหารงานโรงเรียน Melodies International Kindergarten เต็มตัว
แม้จุดประสงค์แรกของโรงเรียนคือการเป็นพื้นที่สำหรับเด็กญี่ปุ่นที่เข้ามาพักอาศัยชั่วคราวในประเทศไทย แต่เมื่อพบว่าเด็กส่วนหนึ่งที่จบการศึกษาหรือย้ายออกจากประเทศไทยแล้ว ไม่ได้กลับไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นเสมอไป ภาษาอังกฤษ จึงเป็นสิ่งที่โรงเรียนตั้งใจจะปูพื้นฐานให้เด็กๆ มากขึ้น
“โรงเรียนเราเริ่มเปิดภาคนานาชาติตั้งแต่ปี 2538 เพราะเราเริ่มเห็นว่าเด็กๆ หลายคน เมื่อย้ายออกจากโรงเรียนก็ไม่ได้กลับประเทศญี่ปุ่น คุณพ่อคุณแม่จะต้องไปทำงานประเทศอื่นต่อ เช่น สหรัฐอเมริกาและอินเดีย เราเลยอยากจะช่วยเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ สามารถไปเรียนต่อที่อื่นได้โดยต้องกังวลเรื่องภาษา”
ถึงแม้จะเปิดโรงเรียนภาคนานาชาติ แต่ความแตกต่างของ Melodies International Kindergarten ก็คือการเรียนการสอนภายใต้หลักสูตรและแนวคิดของประเทศญี่ปุ่น นั่นคือ happy strong และ independence หรือการเน้นให้เด็กๆ มีความสุข แข็งแรงทั้งกายใจ และรู้จักพึ่งพาตัวเองได้
นอกจากจะเป็นโรงเรียนที่เหมาะกับเด็กและครอบครัวต่างชาติในประเทศไทยแล้ว ด้วยแนวทางที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของโรงเรียน ทำให้ที่นี่กลายเป็นโรงเรียนนานาชาติที่ได้รับความสนใจจากครอบครัวคนไทยเช่นเดียวกัน
“การเรียนการสอนทั้งหมดจะดูตัวเด็กเป็นหลัก จะไม่มีการมาบอกว่าเด็กทําได้หรือไม่ได้ จะไม่มีการบอกว่าให้คะแนนเท่าไหร่ เพราะว่าเราเชื่อว่าเด็กๆ แต่ละคนไม่เหมือนกัน”
หลักสูตรจากกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศญี่ปุ่น
ปัจจุบัน Melodies International Kindergarten ใช้หลักสูตรตามหลักกระทรวงศึกษาธิการของประเทศญี่ปุ่น โดยแบ่งการเรียนการสอนออกเป็นสองส่วน คือภาคภาษาญี่ปุ่นและภาคนานาชาติ
โดยภาคภาษาญี่ปุ่น เน้นรองรับเด็กญี่ปุ่นที่คุณพ่อคุณแม่มาอาศัยหรือทำงานที่ประเทศไทย แต่ยังมีเป้าหมายที่จะให้ลูกสามารถกลับไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นได้
ส่วนภาคนานาชาติก็ยังคงใช้หลักสูตรจากประเทศญี่ปุ่น แต่ใช้การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด
“เราต้องการเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ เข้าสู่ชั้นประถมศึกษา ซึ่งตามหลักสูตรของประเทศญี่ปุ่น การเตรียมความพร้อมหมายถึง หนึ่ง—เด็กสามารถอ่านชื่อตัวเองออก สอง—สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้ สาม—นั่งฟังคุณครูได้ และสี่—สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
แต่ถ้าพูดถึงการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น จริงๆ มันค่อนข้างนามธรรมนะคะ เช่น การอ่านชื่อตัวเองให้ออก หมายความว่าเด็กจะต้องอ่านหนังสือให้ออกก่อน ซึ่งการอ่านหนังสือเราก็ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องจำตัวอักษรได้แต่จะเป็นในเชิงการอ่านหนังสือนิทานด้วยกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดครูก็จะช่วยดูว่าในช่วงนั้น เด็กๆ กำลังสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ เพราะการเรียนการสอนทั้งหมดจะดูตัวเด็กเป็นหลัก จะไม่มีการมาบอกว่าเด็กทําได้หรือไม่ได้ จะไม่มีการบอกว่าให้คะแนนเท่าไหร่ เพราะว่าเราเชื่อว่าเด็กๆ แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนตอนสามขวบอาจจะยังทำเรื่องนี้ไม่ได้ แต่สี่ขวบอาจจะทำได้ เราก็เลยจะไม่ดูว่าสี่ขวบต้องทำเรื่องนี้ได้แล้วนะ ห้าขวบต้องได้แบบนี้”
เรียนผ่านกิจกรรมการเล่น เล่น และเล่น
“โรงเรียนของเราค่อนข้างจะเน้นเรื่องเล่นและทำกิจกรรมเป็นหลัก วิชาการค่อนข้างน้อย เด็กๆ จะได้ออกมาเล่นข้างนอกทุกวัน วันละประมาณหนึ่งถึงสองกิจกรรม
อย่างช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เด็กๆ จะได้เขียนโปสการ์ดส่งหาเพื่อนต่างห้อง แต่ละห้องก็จะมีกล่องโปสการ์ดไว้ พอเขียนเสร็จก็นำไปหย่อนในกล่องหน้าห้องนั้นๆ ฟังดูเหมือนเป็นกิจกรรมเล่นๆ แต่จริงๆ มันมีส่วนประกอบของวิชาอยู่ในนั้นด้วย”
อยากให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตัวเองและคนอื่น
เมื่อพูดถึงโรงเรียนและการสอนเด็กๆ ในประเทศญี่ปุ่น เรามักจะนึกถึงภาพเด็กๆ ที่สามารถดูแลและช่วยเหลือตัวเองได้ เดินทางโรงเรียนและกลับบ้านเองได้
“คอนเซ็ปต์ที่โรงเรียนญี่ปุ่นส่วนใหญ่สอนเหมือนกันหมดคือการช่วยเหลือตัวเอง เด็กอายุขวบครึ่งก็สามารถถือกระเป๋าได้เอง จัดการข้าวของของตัวเองได้ รู้ว่าต้องเก็บอะไรตรงไหน วางตรงไหน กินข้าวก็ต้องพยายามกินด้วยตัวเองได้ นี่คือเรื่องพื้นฐานของเด็กเล็กที่ต้องดูแลตัวเองได้ พอโตขึ้นสักอนุบาลสอง เขาก็จะเริ่มดูแลคนอื่นได้ เช่น ช่วยถือของให้เพื่อน หรือช่วยน้องที่เล็กกว่าบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าลูกยังเล็กเลยพยายามช่วยทำทุกอย่าง แต่ในแนวคิดของญี่ปุ่น เขาจะต้องทําได้ด้วยตัวเอง และช่วยเหลือตัวเองในการใช้ชีวิตเบื้องต้นได้”
นอกจากการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันแล้ว โรงเรียนยังมีการเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ สามารถดูแลตัวเองได้ในสถานการณ์คับขัน เช่น จัดให้มีการซ้อมหนีไฟ ซ้อมรับมือแผ่นดินไหวปีละสามครั้ง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการช่วยเหลือตัวเองและคนอื่นที่จำเป็นจะต้องเรียนรู้เช่นกัน
อาหารการกินสไตล์ญี่ปุ่น
นอกจากหลักสูตรการเรียนการสอน อาหารก็เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น
“อาหารกลางวันที่โรงเรียนจะเป็นอาหารญี่ปุ่นทั้งหมด ปรุงโดยเชฟชาวญี่ปุ่นและมีนักโภชนาการชาวญี่ปุ่นช่วยดูแลเรื่องคุณภาพและสารอาหาร ให้เหมาะสมกับความต้องการของเด็กๆ ด้วย”
COMMENTS ARE OFF THIS POST