ถ้าพูดถึงบทบาทในการเลี้ยงดูลูก แต่ละครอบครัวก็คงจะมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันไป
บางครอบครัว คุณแม่รับบทเป็นคนเข้มงวด ระเบียบต้องได้ วินัยต้องดี ส่วนคุณพ่อก็รับบทคนใจดี เป็น พ่อชอบสปอยล์ลูก หรือบางครอบครัวก็กลับกันเป็นคุณพ่อสายโหด แต่มีคุณแม่คอยเปิดโหมดโอ๋และตามใจลูก ทั้งนี้ครอบครัวไหน ใครจะรับบทบาทไหนในการเลี้ยงดูลูก ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงหรือจะปล่อยให้เป็นไปเองโดยธรรมชาติก็ไม่ผิดนัก
แต่จากงานวิจัยของ Dr. David Bredehoft ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยคอนคอร์เดีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (Concordia University) พบว่า ความจริงแล้ว คุณพ่อมีแนวโน้มที่จะเป็นคนตามใจลูกมากกว่าคุณแม่ โดยเฉพาะคุณพ่อที่มีลูกสาว และในบางสถานการณ์การ คุณพ่ออาจตามใจลูกมากเกินไปจนส่งผลเสียต่ออุปนิสัย และการใช้ชีวิตประจำวันของลูกได้
เราจึงรวบรวม 5 สถานการณ์ที่ไม่ว่าคุณพ่ออยากจะตามใจลูกมากแค่ไหน ก็ต้องลองสวมบทเป็นคนใจร้าย เลิกตามใจ และไม่สปอยล์ลูก เพื่อฝึกให้ลูกเป็นเด็กที่มีระเบียบวินัยและเติบโตขึ้นไปอย่างมีคุณภาพมาฝากค่ะ
1. เมื่อเทคโนโลยีเป็นภัยต่อลูก
คุณพ่อมักจะเป็นคนที่อยากให้ลูกเป็นเด็กที่ใช้เทคโนโลยีได้คล่องแคล่ว เพราะคุณพ่อรู้ดีว่าเทคโนโลยี มีความจำเป็นและสำคัญกับการเรียนรู้ของลููกมากแค่ไหน ในขณะที่คุณแม่ มักจะมีข้อมูลมากมายมารองรับเหตุผลที่พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไปก่อนเวลาอันสมควร
ดังนั้น คุณพ่อจึงควรเตือนตัวเองว่า คงจะไม่ดีนัก หากลูกเล่นโทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ได้อย่างคล่องแคล่วและเพลิดเพลินจนลืมเวลากินข้าว ไม่ทำการบ้าน หรือไม่เข้านอนตามเวลา และหากคุณพ่อเป็นคนที่อนุญาตให้ลูกเล่นโทรศัพท์มือถือได้ ก็ควรเป็นคุณพ่อนี่แหละ ที่ต้องกำหนดเวลาเล่นโทรศัพท์ของลูกอย่างจริงจัง ไม่ว่าลูกจะร้องไห้งอแง หรืออ้อนวอนแค่ไหน คุณพ่อก็ต้องหนักแน่น ไม่ใจอ่อน เพื่อให้ลูกได้เห็นคุณพ่อในโหมดที่เข้มแข็งและเด็ดขาดบ้าง
2. เมื่อลูกทำผิด
หลายครั้งที่เราพบว่าคนที่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น กลับไม่รู้จักการเอ่ยปากขอโทษ พฤติกรรมนี้ส่วนหนึ่งมาจากการถูกตามใจ อยากได้อะไรต้องได้ และปล่อยให้ลูกเข้าใจว่าตัวเองมีสิทธิ์ทำอะไรก็ได้ เพราะมีคุณพ่อคุณแม่คอยให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้ภายหลังเสมอดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อควรทำก็คือคอยตักเตือนเมื่อลูกทำผิด และแนะนำสิ่งที่ถูกต้องให้ลูกเสมอ เช่น ลูกใช้ถ้อยคำหยาบคายหรือใช้กำลังกับเพื่อนที่เข้ามาแย่งของเล่นคุณพ่อควรถามถึงเหตุผล ว่ากล่าวตักเตือน และสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปันควบคุมอารมณ์ รวมถึงขอโทษที่ใช้ความรุนแรงกับเพื่อน แม้ลูกอาจมองว่าคุณพ่อไม่เข้าข้าง แต่คุณพ่อต้องใจแข็งเพื่อสอนสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับลูกนะคะ
3. เมื่อลูกขอให้ทำบางอย่างให้ (มากเกินไป)
พอลูกโตพอที่จะจับทางคุณพ่อได้แล้ว ลูกก็มักใช้ความเป็นเด็กตัวเล็กที่บอบบางและอ่อนแอ มาอ้อนและขอให้คุณพ่อทำบางอย่างให้ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ตัวเองทำได้ก็ตาม ซึ่งคุณพ่อผู้มีสัญชาตญาณการปกป้องและเป็นผู้นำ ก็อดไม่ได้ที่จะใจอ่อนและยอมให้ความช่วยเหลือลูกโดยไม่จำเป็นเสมอ
ดังนั้น คุณพ่อต้องกล้าที่จะปฏิเสธและขัดใจลูก ไม่ลงมือทำทุกอย่างที่ลูกร้องขอ แต่ควรบอกให้ลูกลองทำด้วยตัวเองก่อน หรือคุณพ่ออาจสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วให้ลูกลองทำตาม โดยมีคุณพ่อคอยดูอยู่ใกล้ๆ ช่วงแรกลูกอาจมีอาการงอแง หรือน้อยใจว่าคุณพ่อไม่รักไม่ตามใจบ้าง แต่เมื่อลูกเริ่มคุ้นเคยกับการช่วยเหลือและพึ่งพาตัวเองได้ ลูกก็จะเข้าใจในความหวังดีของคุณพ่อค่ะ
4. เมื่อลูกเริ่มใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
เรื่องเงินๆ ทองๆ อาจต้องยอมรับว่าคุณแม่มักจะมีความละเอียดรอบคอบ และถี่ถ้วนมากกว่าคุณพ่อ ดังนั้นเวลาลูกอยากได้ของเล่นชิ้นใหม่ เครื่องเขียนใหม่ เสื้อผ้าใหม่ จึงมักจะพุ่งเป้ามาที่การเอ่ยปากขอให้คุณพ่อเป็นคนซื้อให้ และหากคุณพ่อใจอ่อน ซื้อให้ตามใจลูกทุกครั้ง ก็จะกลายเป็นการส่งเสริมนิสัยใช้จ่ายฟุ่มเฟือยให้ลูกได้
เราอยากให้คุณพ่อลองปรับเปลี่ยนวิธีการตอบสนองต่อคำขอของลูก เช่น ให้ลูกเก็บเงินซื้อของที่อยากได้ด้วยตัวเอง ชวนลูกซ่อมแซมของเล่นที่ชำรุดเล็กน้อย หรือกำหนดเงื่อนไขเพื่อแลกกับของที่ลูกอยากได้ แม้จะต้องขัดใจลูกบ้าง แต่จะส่งผลดีต่อตัวลูกในอนาคตอย่างแน่นอนค่ะ
COMMENTS ARE OFF THIS POST