READING

ลูกชอบทำร้ายตัวเอง พฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมอ...

ลูกชอบทำร้ายตัวเอง พฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม

self-harm

เมื่อลูกอยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 1–5 ปี คุณพ่อคุณแม่น่าจะพอสังเกตเห็นพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจที่แตกต่างและหลากหลายไปตามช่วงวัยและลักษณะนิสัยของเด็กแต่ละคนได้ เช่น พฤติกรรมอาละวาด พฤติกรรมถดถอย ร้องไห้งอแง ติดแม่ไม่ยอมห่าง ขว้างปาสิ่งของ และอาจเลยไปถึงการใช้ความรุนแรง หรือ ‘ทำร้ายตัวเอง’ เมื่อไม่พอใจ เช่น ดึงผมตัวเอง เอาหัวโขกพื้น ทุบตีหรือกัดตัวเอง เพื่อส่งสัญญาณให้คุณพ่อคุณแม่หันมาสนใจหรือเรียกร้องให้คุณพ่อคุณแม่ตามใจให้มากที่สุด

พฤติกรรมทำร้ายตัวเองของลูกเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบมากคือลูกมีความรู้สึกคับข้องใจ มีความเครียด อึดอัด และสับสน  โดยเฉพาะเมื่อลูกเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง อยากเรียนรู้และลองทำอะไรด้วยตัวเอง เมื่อถูกห้ามหรือขัดขวาง ก็มักจะแสดงอารมณ์หงุดหงิด โมโห อาละวาด และอาจรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเองได้

แล้วคุณพ่อคุณแม่จะรับมือและแก้ไขพฤติกรรมทำร้ายตัวเองของลูกอย่างเหมาะสมได้อย่างไร เรามีวิธีค่ะ

1. ไม่คาดคั้นและเร่งรัดคำตอบจากลูก

Self-Harms_web_1

เวลาที่ลูกทำร้ายตัวเอง คุณพ่อคุณแม่มักต้องการเหตุผลหรือคำตอบจากลูกว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น แต่ความจริงแล้วการถามและคาดคั้นเพื่อเอาคำตอบจากลูก จะยิ่งตอกย้ำ และทำให้ลูกมีความเครียดมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกลงมือทำร้ายตัวเอง สิ่งที่ควรทำก็คือการเข้าไปกอดและปลอบประโลมด้วยความเข้าใจ ไม่คาดคั้นและเร่งรัดให้ลูกอธิบาย แต่รอเวลาให้ลูกใจเย็น ปรับความเข้าใจ และคอยถามลูกว่าอยากให้พ่อแม่ช่วยอย่างไรบ้าง

2. ไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อหยุดความรุนแรง

Self-Harms_web_2

คุณพ่อคุณแม่พยายามห้ามปรามลูกด้วยการใช้ความรุนแรง เพื่อหยุดและแก้ไขความรุนแรงของลูก เช่น ทำโทษรุนแรงเมื่อลูกทำร้ายตัวเอง แต่การทำอย่างนั้นจะยิ่งเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมก้าวร้าวให้ลูกมากขึ้น

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรใช้ความอ่อนโยน พูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล ไม่ตำหนิหรือใช้ความรุนแรงในการลงโทษลูก ช่วยกันหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน เช่น ถ้าลูกรู้สึกเสียใจ คุณพ่อคุณแม่สามารถทำอะไรได้บ้าง หรือเวลาที่ลูกหงุดหงิด เรามาระบายความรู้สึกออกมาด้วยการระบายสีกันดีไหม เพื่อช่วยปรับอารมณ์ของลูก และทำให้ลูกรู้ว่ามีวิธีแสดงออกให้คุณพ่อคุณแม่สนใจได้อีกมากมายโดยไม่ต้องทำร้ายตัวเอง

3. หลีกเลี่ยงให้ลูกดูสื่อที่มีเนื้อหาความรุนแรง

Self-Harms_web_3

เด็กๆ อาจจดจำภาพการทำร้ายตัวเองมาจากสื่อต่างๆ ที่ตัวเองเข้าถึงได้ เช่น ละครโทรทัศน์ ภาพและคำบรรยายในข่าว สื่ออนไลน์ หรือแม้แต่พฤติกรรมของคนรอบข้างก็นับเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่ลูกสามารถซึมซับพฤติกรรมมาทำตามได้

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการให้ลูกเข้าถึงสื่อที่มีเนื้อหารุนแรง ด้วยตั้งค่าจำกัดการเข้าถึงสื่อบางประเภท หรือคอยให้คำแนะนำ เมื่อเลี่ยงภาพความรุนแรงไม่ได้ สังเกตพฤติกรรมของตัวเองและคนใกล้ชิด และคอยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับลูก

4. ปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ

Self-Harms_web_4

แต่หากลูกชอบทำร้ายตัวเองบ่อยและรุนแรงเหมือนคนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ นั่นเป็นสัญญาณอันตรายที่บอกว่าลูกควรได้รับคำปรึกษาจากคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง หากปล่อยให้เกิดขึ้นต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเวชได้ จึงต้องรีบหาทางแก้ไขให้เร็วที่สุดนะคะ

อ้างอิง
verywellfamily
thaichildcare
themighty

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST