READING

INTERVIEW: คุยกับ FOOD FOR GOOD เพราะปัญหาโภชนาการ...

INTERVIEW: คุยกับ FOOD FOR GOOD เพราะปัญหาโภชนาการเด็ก ไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กอีกต่อไป

FOOD FOR GOOD

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นการวิพากษ์วิจารณ์ คุณภาพอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนในโรงเรียนผ่านตากันอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ปริมาณอาหารกับเด็กๆ ที่น้อยเกินไป คุณภาพของอาหารไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเด็กๆ และปัญหาที่มาจากการได้รับงบประมาณที่ไม่เพียงพอ

ยังไม่ต้องพูดถึงนักเรียนในโรงเรียนที่ห่างไกล นอกจากความเหลื่อมล้ำในคุณภาพการศึกษาแล้ว แม้แต่อาหารและโภชนาการที่ควรเป็นคุณภาพชีวิตพื้นฐาน ก็ยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่ได้รับการแก้ไข

โครงการ FOOD FOR GOOD จึงเกิดขึ้นโดยกลุ่มคนที่ต้องการสร้างกลไกและการมีส่วนร่วมของสังคม เพื่อแก้ปัญหาเรื่องโภชนาการของเด็กไทยโดยเฉพาะ เราจึงเดินทางมาพบ คุณชมพู่–ประภาพรรณ บรรลุศิลป์ รองผู้อำนวยการ, คุณเกด–รัชฎา บุลนิม ผู้จัดการงานพัฒนาเด็กและ คุณมด–ธมนวรรณ อั๋นประเสริฐ นักโภชนาการประจำโครงการ ถึงแนวคิดและแนวทางที่จะสังคมควรตระหนักรู้และช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

ความเป็นมาขององค์กร FOOD FOR GOOD  Thailand จุดประสงค์ขององค์กรคืออะไร

คุณชมพู่: FOOD FOR GOOD อยู่ภายใต้มูลนิธิยุวพัฒน์ ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 9 ของการทำงาน ช่วงแรกของการเริ่มต้น เราก็ตั้งคำถามว่านอกจากปัญหาเรื่องของการศึกษาแล้วยังมีปัญหาอะไรอีกบ้างที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน และค้นพบว่าอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเด็กและการเจริญเติบโต แต่ปัจจุบันเด็กไทยยังประสบปัญหาทุพโภชนาการอยู่จำนวนมาก เราเริ่มต้นจากการระดมทุน ช่วงแรกใช้ชื่อว่า ‘พี่อิ่มท้องน้องอิ่มด้วย’ ขอรับบริจาครายได้ส่วนหนึ่งจากการขายเมนูอาหาร ในร้านอาหารที่ร่วมโครงการ มีร้านอาหารใจดีเข้าร่วมจำนวนมาก

ช่วงแรกๆ เราเพียงแต่นำเงินที่ระดมทุนได้ กระจายไปสนับสนุนมูลนิธิ และโรงเรียนต่างๆ สุดท้ายแล้วเงินนั้นก็หมดไปโดยที่ต้นตอของปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข ผลลัพธ์ได้เพียงการเพิ่มมื้ออาหารคุณภาพให้อิ่มท้อง แต่ไม่ใช่เรื่องของการดูแลภาวะโภชนาการเด็กที่ต่อเนื่องแบบที่เราคาดหวัง และคำว่าดีขึ้นต้องดีขึ้นแบบไหน หรือต้องดูจากอะไร เราจึงเริ่มจากตั้งคำถามว่าเราอยากเห็นผลลัพธ์ปลายทางคืออะไร วิเคราะห์ และหาวิธีการทำงานเพื่อไปสู่ปลายทางที่เราอยากเห็น ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยคุณครูเป็นหลักที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้น ได้มาเป็น FOOD FOR GOOD อย่างทุกวันนี้

ในเชิงรูปธรรม งานของ FOOD FOR GOOD คืออะไรบ้าง

คุณชมพู่: เราทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ชวนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเรื่องนี้ ทำทั้งเรื่องระดมทุน เพื่อเข้าไปเสริมค่าอาหาร เกษตร และน้ำดื่ม สำหรับโรงเรียนที่ขาดแคลน และเสริมองค์ความรู้ให้คุณครูและแม่ครัวสามารถจัดการงานอาหารและโภชนาการในโรงเรียนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

FOOD FOR GOOD มีนักโภชนาการประจำโครงการ ที่ดูแลเรื่องโภชนาการ คอยติดตามให้คำแนะนำ ส่งเสริมความรู้ให้นักเรียน และผู้ปกครอง รวมถึงสนับสนุนให้มีการทำเกษตรหมุนเวียนเพื่อให้เกิดแหล่งอาหารปลอดภัยในโรงเรียน เช่น โรงเรียนมีพื้นที่พร้อมสำหรับปลูกผักสวนครัวก็ส่งเสริมให้โรงเรียนปลูกผักสวนครัวสำหรับเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารกลางวันให้เด็กๆ และส่งเสริมให้โรงเรียนชักชวนหน่วยงานในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม อย่างเช่น สาธารณะสุขในพื้นที่ ปศุสัตว์อำเภอ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้เห็นความสำคัญเรื่องโภชนาการอีกด้วย

“สิ่งที่ FOOD FOR GOODต้องการจะสื่อสาร คือ ปัญหาโภชนาการของเด็กไทย เป็นหนึ่งในปัญหาที่เร่งด่วนและต้องได้รับการแก้ไข ปัญหานี้อาจจะไม่ได้แสดงผลกระทบทันที เช่น ถ้าเรากินอาหารที่มีไขมันเกิน1วัน พรุ่งนี้น้ำหนักอาจจะยังไม่ขึ้น แต่หากกินสะสมไปเรื่อยๆ วันหนึ่งมันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้”

ทำไมปัญหาโภชนาการในเด็กถึงเป็นเรื่องสำคัญ

คุณมด: ปัญหาโภชนาการดูเหมือนเป็นปัญหาที่ไม่ใช่ปัญหา เหมือนเวลาที่เด็กได้รับสารอาหารไม่ครบ 5 หมู่ เราก็ไม่ได้มองถึงเอฟเฟ็กต์ที่จะเกิดตามมาทีหลัง ก็เลยอยากชวนให้ทุกคนลองมองปัญหานี้ให้ไกลออกไปว่า ถ้าหากเด็กได้รับโภชนาการไม่ครบถ้วน จะเกิดผลกระทบอะไรต่อตัวเด็กและสังคมต่อไปบ้าง

คุณชมพู่: สิ่งที่ FOOD FOR GOODต้องการจะสื่อสาร คือ ปัญหาโภชนาการของเด็กไทย เป็นหนึ่งในปัญหาที่เร่งด่วนและต้องได้รับการแก้ไข ปัญหานี้อาจจะไม่ได้แสดงผลกระทบทันที เช่น ถ้าเรากินอาหารที่มีไขมันเกิน1วัน พรุ่งนี้น้ำหนักอาจจะยังไม่ขึ้น แต่หากกินสะสมไปเรื่อยๆ วันหนึ่งมันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้

FOOD FOR GOOD ช่วยเหลือโรงเรียนประเภทไหนบ้าง

คุณชมพู่: ก่อนอื่น ต้องเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีประเภทโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนเด็กนักเรียนน้อย เพราะยิ่งมีจำนวนนักเรียนน้อย ก็จะมีต้นทุนที่สูงกว่าโรงเรียนที่มีเด็กนักเรียนเยอะ และโรงเรียนขยายโอกาสที่เด็กนักเรียนมัธยมไม่ได้รับงบค่าอาหารกลางวัน

ทุกครั้งที่มีการพูดเรื่องอาหารกลางวันเด็ก ก็จะนึกถึงงบประมาณที่แต่ละโรงเรียนได้รับ ดังนั้น ปัญหาทุพโภชนาการของเด็กเกิดจากการได้งบประมาณไม่เพียงพอใช่หรือเปล่า

คุณชมพู่: จากการทำงาน 9 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าปัญหางบประมาณก็เป็นส่วนหนึ่ง เนื่องจากโรงเรียนมีงบประมาณจำกัด อาจจะไม่สามารถซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาทำอาหารให้นักเรียนได้ในปริมาณที่เพียงพอ แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหาของการมีเงิน แต่ไม่รู้จะนำเงินที่มีมาซื้ออะไรที่เหมาะสม นั่นก็คือเรื่องของความรู้โภชนาการของผู้ปกครอง รวมถึงคุณครูที่ต้องดูแลงานอาหารกลางวันในโรงเรียน ปัญหาทั้งสองอย่างนี้ทำให้ประเทศไทยมีเด็กที่มีปัญหาทุพโภชนาการเพิ่มมากขึ้น

สมัยก่อนเราก็จะเห็นว่า ถ้าเราพูดถึงเด็กที่มีปัญหาทุพโภชนาการ จะไปในทางโภชนาการขาด จะมีลักษณะร่างกายผอม เตี้ย หรือตัวเล็ก แต่ปัจจุบันกลับสัดส่วนของโภชนาการเกินมากขึ้น มีขนมกรุบกรอบที่หาซื้อได้ง่ายและราคาไม่แพง ทำให้เด็กหลายคนมีภาวะอ้วน

แล้วงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็ก ที่ได้มา 21 บาทต่อคนต่อวัน ความจริงแล้วเพียงพอไหม 

คุณเกด: ปีนี้จะได้เพิ่มแล้วนะ (หัวเราะ) ขนาดโรงเรียนที่มีจำนวนเด็ก 1 ถึง 40 คน จะได้คนละ 36 บาท, จำนวนเด็ก 41 ถึง 100 ได้คนละ 27 บาท จำนวนเด็ก 101 ถึง 120 ได้คนละ 24 บาท และโรงเรียนที่มีจำนวนเด็ก 121 คนขึ้นไป ได้คนละ 22 บาท

คุณชมพู่: ใช้คำว่าพอดีดีกว่า เพราะเราไม่ได้คิดเอางบประมาณมาคำนวณเป็นจาน แต่เราคำนวนเป็นราคาวัตถุดิบ ซึ่งถ้าหากซื้อในจำนวนที่เยอะ ราคาก็จะถูกลง ดังนั้น โรงเรียนขนาดใหญ่ที่ได้งบประมาณคนละ 22 บาท ก็ไม่ได้น้อยนะ แต่ถ้าได้เพิ่มเยอะกว่านี้ก็ดี (หัวเราะ)

กลไกการช่วยเหลือของ FOOD FOR GOOD เป็นอย่างไรบ้าง

คุณชมพู่: เราเข้าไปทำงานร่วมกับโรงเรียน สนับสนุนงบประมาณค่าอาหาร เกษตร น้ำดื่ม ควบคู่ไปกับการให้ความรู้กับคุณครู เพื่อโรงเรียนมีระบบการจัดการดูแลอาหารและโภชนาการของเด็กนักเรียนที่ถูกต้องเหมาะสม ตั้งแต่วางแผนเมนูอาหาร การตักเสิร์ฟ และการดูแลโภชนาการรายบุคคล ก่อนการสนับสนุนงบประมาณในแต่ละปี เราจะเริ่มต้นด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรก่อน  เพื่อที่เราจะได้มั่นใจว่าคุณครูมีความรู้และมีเครื่องมือ นำไปปรับใช้ และจัดงานงบประมาณได้อย่างเหมาะสม

คุณมด: พอเราสนับสนุนงบประมาณค่าอาหารไปส่วนหนึ่งแล้ว เราก็จะให้โรงเรียนวางแผนว่าจะใช้งบประมาณส่วนนี้ในการซื้อวัตถุดิบยังไง และวางแผนเมนูอาหารรายสัปดาห์ที่ตรงกับหลักโภชนาการว่าเด็กวัยเรียนควรได้รับปริมาณอาหารเท่าไรในแต่ละวัน หลังจากนั้นก็จะส่งเสริมให้คุณครูสื่อสารกับแม่ครัวด้วยองค์ความรู้ที่ได้รับไปก่อนหน้านี้

แต่มากไปกว่านั้นก็คือเราต้องรู้ว่าเด็กได้กินอาหารจริงไหม เพราะเวลาที่พูดว่ามีเงินมาช่วยค่าอาหารเด็ก เราจะไปนึกถึงว่าค่าอาหารนี้ซื้อเนื้อสัตว์เพิ่มได้ 20 กิโลฯ แต่เราไม่เคยรู้ว่าเด็กที่ผอมหรือได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ เขาจะได้กินเนื้อสัตว์นี้เพิ่มหรือเปล่า แล้วเด็กที่อ้วน จะได้กินอาหารยังไง

“สิ่งที่เราพูดย้ำๆ กับคุณครูมาโดยตลอดก็คือการดูแลเด็กอ้วนและเด็กผอม ครูหลายคนยังมีความคิดว่าถ้าเด็กอ้วน ก็ต้องให้เด็กกินน้อยลง หรือถ้าเด็กผอม ก็ต้องให้กินเยอะๆ แต่ความจริงแล้วมันคือการปรับสัดส่วนสารอาหาร เช่น เด็กอ้วนก็อาจจะลดปริมาณข้าวลง และเพิ่มโปรตีนมากขึ้น”

มีองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารเด็กเรื่องไหนที่อยากส่งต่อหรือเน้นย้ำกับคุณครูมากที่สุด

คุณมด: สิ่งที่เราพูดย้ำๆ กับคุณครูมาโดยตลอดก็คือการดูแลเด็กอ้วนและเด็กผอม ครูหลายคนยังมีความคิดว่าถ้าเด็กอ้วน ก็ต้องให้เด็กกินน้อยลง หรือถ้าเด็กผอม ก็ต้องให้กินเยอะๆ แต่ความจริงแล้วมันคือการปรับสัดส่วนสารอาหาร  เช่น เด็กอ้วนก็อาจจะลดปริมาณข้าวลง และเพิ่มโปรตีนมากขึ้น

คุณชมพู่: ปัญหาอีกอย่างที่เจอบ่อยก็คือ การประเมินโภชนาการเด็ก จากการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงเด็ก แต่โรงเรียนส่วนใหญ่เครื่องมือวัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนักยังไม่ได้มาตรฐาน ล่าสุดเราไปที่โรงเรียนหนึ่ง ไม้วัดส่วนสูง 150 เซนติเมตร แต่เราพอเอาสายวัดไปลองวัดดู ปรากฏว่าได้ 151 เซนติเมตร นั่นแปลว่าถ้าเด็กสูง 151 เซนติเมตร แต่โรงเรียนวัดได้ 150 เซนติเมตร การประเมินโภชนาการเด็กก็คลาดเคลื่อน

คุณเกด: อีกอย่างคือ การนำไปปฏิบัติจริงของคุณครู ยังไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าที่ควร เพราะบางโรงเรียนคุณครูที่มาอบรมก็ไม่ได้ดูแลเรื่องอาหารเพียงคนเดียว แต่อาจจะมีคุณครูเวรผลัดเปลี่ยนมาดูแลแทน แล้วไม่มีการถ่ายทอดข้อมูลให้กัน มันก็จะเป็นความไม่ต่อเนื่อง เราก็ได้เรียนรู้ร่วมกับโรงเรียน และนำมาพัฒนางานต่อไป

ดูเหมือนปัญหาการสื่อสารภายในโรงเรียนจะเป็นปัญหาสำคัญ

คุณชมพู่: ใช่ค่ะ ปัจจัยของความสำเร็จต้องเริ่มจากผู้บริหารโรงเรียนมีนโยบายรองรับการทำงานของคุณครู เพื่อให้คุณครูทั้งโรงเรียนทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ต้องยอมรับว่าภาระของคุณครูค่อนข้างหนัก ยิ่งโรงเรียนที่มีครูจำนวนน้อยมาก บางคนทำหลายหน้าที่ ซึ่งพอเราทำงานมาเรื่อยๆ เราก็พบว่าอยากผลักดันให้โรงเรียนมีคุณครูด้านโภชนาการ และเป็นคนที่ขับเคลื่อนเรื่องอาหารของเด็กจริงๆ

ปัญหาโภชนาการเด็กไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมหรือเปล่า

คุณชมพู่: ก่อนหน้านี้ เราทำงานโดยมุ่งไปที่เรื่องเด็กควรได้รับอาการแค่ไหน แต่ความจริงแล้วปัญหามันใหญ่กว่านั้น เช่น ในแง่สุขภาพถ้าเกิดเราได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสมตั้งแต่เด็ก สุขภาพก็จะไม่ดี เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เจ็บป่วย แล้วเราก็ส่งต่อสิ่งนี้ให้ลูกหลานของเรา กลายเป็นค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนในแง่สติปัญญา ถ้าเราได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ มันก็จะไม่พัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น หรือเมื่อเด็กกินไม่อิ่มท้อง ก็จะไม่มีสมาธิในการเรียน พอเรียนไม่ได้ ก็ไม่มีความรู้ แล้วก็จะไม่ได้ถูกพัฒนาให้เป็นประชาชนที่มีคุณภาพ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากเรื่องสำคัญอย่างการกินอาหาร

ต่อมาก็คือ เรื่องอาหารเด็ก ย่อมไม่ใช่เรื่องของเด็กอยู่แล้ว เพราะเด็กยังดูแลตัวเองไม่ได้ ไม่สามารถจัดการเรื่องอาหารของตัวเองได้ มันจึงเป็นเรื่องของผู้ใหญ่อย่างเราว่าเอาอาหารอะไรให้เด็กกิน

เพราะเอาเข้าจริง ทุกวันนี้เด็กอาจจะไม่รู้ว่าอะไรมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ แต่ว่าเป็นพ่อแม่หรือคุณครูนี่แหละที่ต้องคอยดูแลและจัดการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ให้

บางครอบครัวก็กังวลว่าทำไมลูกไม่กินผัก ก็ต้องย้อนกลับมาดูว่าพ่อแม่ของเด็กกินผักหรือเปล่า หรือตอนที่ลูกกิน ได้นั่งกินกับลูกไหม เพราะสุดท้ายแล้วเด็กก็ซึมซับพฤติกรรมจากสภาพแวดล้อมอยู่ดี

คิดว่ารัฐบาลควรให้การสนับสนุนอะไรในภาพใหญ่

คุณชมพู่: จริงๆ รัฐบาลก็เห็นปัญหานี้อยู่ มีการเสนอเรื่องงบประมาณสนับสนุนค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กมัธยม แต่ยังไม่มีการอนุมัติเป็นนโยบายออกมา มันเลยยังเป็นช่องว่างของโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งนี่แหละที่ FOOD FOR GOOD ช่วยเหลืออยู่

คุณมด: ที่จริงความเหลื่อมล้ำขึ้นอยู่กับบริบท แต่ที่เห็นได้ชัดคือความเหลื่อมล้ำทางความรู้ เพราะคุณครูไม่รู้ว่าจะจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ยังไง เพราะฉะนั้นเราจึงอยากให้โฟกัสที่ศักยภาพของคุณครูมากกว่า เพราะเราจะคาดหวังผลงานของคุณครู โดยไม่เติมความรู้ให้ครูเลยไม่ได้

คุณเกด: มันเป็นเรื่องของการพัฒนาคน เพราะเราก็เห็นใจคุณครูที่มีภาระต้องรับผิดชอบเยอะมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกันมายาวนาน และรายงานที่เราไปศึกษาเขาก็ระบุมาว่างบประมาณที่ได้ไป อาจจะไม่ได้ใช้งานตรงจุด หรือว่าความรู้ในโรงเรียนยังไม่มีประสิทธิภาพ คือเหมือนปัญหาที่มีการรับรู้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

“โภชนาการที่ดีคือรากฐานของการเจริญเติบโต เด็กก็เหมือนรถ ถ้าได้น้ำมันดีเขาก็จะวิ่งได้ดี เพราะฉะนั้นเด็กที่ได้รับอาหารเพียงพอเหมาะสมตั้งแต่เล็ก เขาก็จะแข็งแรงสมบูรณ์ เราคิดว่าการแก้ไขปัญหาไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน”

สุดท้ายแล้วคิดว่าปัญหานี้จะแก้ไขได้อย่างไร

คุณชมพู่: เราเชื่อว่า โภชนาการที่ดีคือรากฐานของการเจริญเติบโต เด็กก็เหมือนรถ ถ้าได้น้ำมันดีเขาก็จะวิ่งได้ดี เพราะฉะนั้นเด็กที่ได้รับอาหารเพียงพอเหมาะสมตั้งแต่เล็ก เขาก็จะแข็งแรงสมบูรณ์ เราคิดว่าการแก้ไขปัญหาไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน

สัมภาษณ์วันที่ 1 มีนาคม 2566

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST