READING

INTERVIEW: คุณพ่อหัวดื้อ—วิชัย มาตกุล ครีเอทีฟไดเร...

INTERVIEW: คุณพ่อหัวดื้อ—วิชัย มาตกุล ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ แห่งแซลมอนเฮาส์

ในยุคที่สื่อโฆษณาหันมาเรียกร้องพื้นที่ทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากลองมองหาต้นตอหรือที่มาของคลิปโฆษณาหลายชิ้น ที่สร้างเสียงหัวเราะให้กับชาวเน็ต (อย่างเราๆ) คงต้องมีอย่างน้อยสักหนึ่งคลิป ที่มาจากฝีมือการคิดและเขียนบทของ ‘วิชัย มาตกุล’ นักเขียนเจ้าของหนังสือขายดิบขายดีอันดับต้นๆ (แห่งสำนักพิมพ์ย่านรัชดา) ที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ใหญ่ ของบริษัทผลิตโฆษณาออนไลน์สุดกวนอย่างแซลมอนเฮาส์ และผลิตงานโฆษณาที่ทั้งดื้อ ทั้งประชดประชัน จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะทางของเขาไปแล้ว

 

แต่ในอีกด้าน นอกจากหนังสือ Don’t Worry, Be Daddy ที่วิชัยเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์มีลูกคนแรกเอาไว้เมื่อสองปีก่อน เราก็ไม่ค่อยได้เห็นเขาพูดถึงเด็กชายไทธรรม์ออกสื่อจริงจังสักเท่าไร

ถือโอกาสที่ M.O.M ตั้งใจจะต้อนรับเดือนแห่งเทศกาลวันพ่อ ด้วยการชวนเขามาพูดคุยถึงเรื่องราวพ่อๆ ลูกๆ กันสักหน่อย

บางทีก็อยากรู้เหมือนกันว่า คนดื้ออย่างวิชัย เมื่อต้องเจอกับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘ลูก’ แล้ว… ใครจะดื้อกว่ากัน

ตั้งแต่รู้ว่าจะมีไทธรรม์ ชีวิตของ ‘วิชัย มาตกุล’ เปลี่ยนไปยังไงบ้าง

เรากลัวตายว่ะ คือเรารู้สึกว่ามันมีเป้าหมายเกิดขึ้น แล้วไม่ใช่เป้าหมายแบบที่คิดว่าเราต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้นะ แต่คือเรารู้สึกว่าเราต้องทำอะไรเพื่อใคร

ก่อนหน้านั้นไม่เคยรู้สึกแบบนี้เหรอ

ก็มะ (มยุรี—ภรรยา) เขาอยู่กับเรา แต่เขาก็ทำงานของเขา เราก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราตายไป เขาก็อยู่ได้ เก็ตมั้ย เขาก็ทำงานของเขาไป มีผัวใหม่ไป (หัวเราะ) เออ มันคือแบบนี้ เรารู้สึกว่าเขาก็น่าจะอยู่ได้

แต่พอมีลูกแล้ว มะไม่ได้ทำงาน เราทำงานคนเดียว มันเลยกลัวตายฉิบหาย มันเกิดการรู้แจ้งขึ้นมาว่า ตัวเองต้องทำอะไร มันเริ่มมีเป้าหมายเกิดขึ้น ไม่ใช่เป้าหมายว่าเราจะไปให้ถึงจุดนั้นจุดนี้นะ แต่มันรู้ว่าเราไปทิศไหนอะ จุดหมายอยู่ตรงไหนไม่รู้ แต่ไปทางนี้ เพราะงั้นกูตายไม่ได้, จบ เชี่ย… หล่อ (หัวเราะ)

ทำไมถึงให้มยุรีออกจากงาน

คือกูไม่ได้ให้เขาออก เขาออกเอง…

เดี๋ยวนะ ไม่มีการปรึกษาหรือขอความเห็นอะไรก่อนเลยเหรอ

ไม่ เหตุการณ์มันคืออย่างนี้ ปีนั้นมีชัตดาวน์กรุงเทพฯ ใช่มั้ย วันนึงมะก็โทร.มาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยเลย “เฮ้ย ตัวเอง เค้าลาออกจากงานแล้วนะ พรุ่งนี้เค้าไม่ไปทำงานแล้ว” ตอนนั้นเขาท้องได้ 2-3 เดือน คือเราก็รู้สึกไม่ค่อยอยากให้เขาไปทำงานอยู่แล้ว เพราะว่าเหตุการณ์บ้านเมืองมันไม่ค่อยดีไง แต่ไม่ได้บอกให้เขาลาออก เพราะเรารู้สึกว่าตอนนั้นงานการเรามันก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ มีสองแรงมันก็ต้องดีกว่ามีแรงเดียวแน่นอน แต่เรารู้ว่าเขาไปทำงานยาก เพราะมันมีปิดกรุงเทพฯ พอดี

แล้วจริงๆ ตั้งใจไว้หรือเปล่าว่า ถ้ามีลูกแล้วจะให้มยุรีออกจากงาน

ก็วางแผนไว้ คือเราคิดไว้ว่าถ้ามีลูก เราก็อยากให้มะอยู่บ้าน แต่ไม่ได้ถึงกับอยู่บ้านถาวรนะ คือไม่ได้คิดไกลขนาดนั้น แค่คิดว่า “เฮ้ย พอมีลูกแล้ว เดี๋ยวตัวเองก็เลี้ยงลูกที่บ้านนะ” มันต้องมีสักช่วงนึง อย่างน้อยก็ครึ่งปีที่เราจะต้องทำงานหาเงินคนเดียวนะ เสร็จแล้วตัวเองก็ออกมาทำงานนะ

ตัดภาพมา มะหยุดไปแล้วสามปี เราก็เออ งั้นก็ไม่ต้องกลับไปทำงานแล้ว ก็เลี้ยงลูกแบบนี้แหละ

พอทำงานคนเดียว ก็ยิ่งเหมือนเป็นหัวหน้าครอบครัวเต็มตัว กังวลอะไรมากที่สุด

เรากลัวว่าเราจะเลี้ยงเขาไม่ดี แล้วก็กลัวว่าเราจะไม่มี motivation ในการทำงาน

มันเป็นเรื่องเดียวกันใช่ไหม

ใช่ จริงๆ มันคือถ้าเราไม่มีเงิน เราก็จะเลี้ยงเขาไม่ดีไง คือเรากลัวว่าเราทำงานอยู่ดีๆ แล้วเราอาจจะ เฮ้ย! ไม่ทำแม่งแล้ว เชี่ย กูเบื่อเว้ย กลัวตัวเองจะเป็นอย่างนั้น แล้วก็กลัวว่าอาจจะทำงานเยอะไป แล้วไม่มีเวลาให้เขา คือไม่มีเวลามันก็เรื่องนึง แต่ไม่มีเวลาด้วยแล้วไม่มีเงินด้วยนี่เรื่องใหญ่ ไม่มีเวลาแต่มีเงิน เงินก็ยังแก้ไขปัญหาได้ในระดับนึง เอาเงินไป อยากเที่ยวอะไรก็ไปเที่ยวเอา

แล้วอีกอย่างที่กลัวมากกว่านั้นคือ กลัวว่าเราจะหวงและยึดถือ privacy ของตัวเองมาก จนมันแบบ เชี่ย อะไรนักหนาวะ กูอยากเที่ยวบ้างนะโว้ย คือเรากลัวว่าเราจะไปถึงจุดนั้นเร็วกว่าที่คิด

ถ้ามันมีแววจะเป็นแบบนั้น แล้วตอนนี้คิดว่าตัวเองอยู่ในจุดไหน

ตอนนี้มันอยู่ในจุดที่เราเริ่มขอ สมมติวันหยุด เราก็เล่นกับลูกไปสิ แต่ว่ากลางคืน เราขอเล่นเกมนะ จะนอนกี่โมงก็เรื่องของกูนะ แต่โชคดีที่มะเขารู้ว่า บางอย่างต้องให้เราเลย เช่น เรื่องซื้อรองเท้า คือก็ไม่ได้ซื้อบ่อย แต่ก็ขอว่ะ นี่มันคือจุดหมายปลายทางของเราในอีกสองเดือนข้างหน้า กูอยู่เพื่อสิ่งนี้ ให้กูเถอะ (หัวเราะ) แต่สรุปคือเรากลัวว่า motivation เราจะหมดไป

เหมือนจะค่อนข้างหวงความเป็นตัวเอง หรือการตามใจตัวเอง อย่างเรื่องรองเท้าหรือของเล่น พอมีลูกแล้วจำเป็นต้องลดลงหรือเปล่า

จริงๆ รองเท้าเราเพิ่งมาซื้อช่วงปีนี้เองนะ ของเล่นก็ลดลงเยอะ เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็ทำงานเยอะมากจนไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น

ซึ่งไม่เกี่ยวกับลูก

ไม่เกี่ยวกับลูก แต่เรารู้สึกว่า เฮ้ย มึงหยุดทำงานไม่ได้เว้ย คือการมีลูกมันก็เรื่องนึง แต่พอมะออกจากงาน เราก็ทำงานหนักมาก เพราะเราคิดว่าถ้ามะอยากกินอะไร มะต้องได้กิน มะอยากไปเที่ยวที่ไหน มะต้องได้ไป ซึ่งถ้าเราทำตรงนั้นจบแล้ว แล้วมีเงินเหลือเก็บ เราถึงคิดว่าที่เหลือเราก็ควรจะได้บ้าง แค่นั้นเลย มัน simple มาก

แต่ถ้าถึงจุดที่รู้ว่าตรงนี้ต้องใช้เงินว่ะ เราก็จะไม่กล้าเอาเงินไปใช้ แต่มะเขาก็จะรู้ว่า ไอ้นี่มันทำงานเยอะ เพราะฉะนั้นถ้าเราขออะไร เขาก็จะไม่ปฏิเสธ ซึ่งเราก็ไม่ขออะไรมาก แค่อยากกินอะไรต้องได้กิน อยากเที่ยวไหนต้องได้เที่ยว แค่นั้น

 

“โดยรวมแล้ว คอนเซ็ปต์มันคือลูกทำให้เราลดทอนอัตตาของตัวเองลง
เราไม่ได้เป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาลแล้ว
เพราะอยู่ดีๆ ลูกมันก็เข้ามาเป็นจุดศูนย์กลางแทน”

สามปีที่ผ่านมา (เท่าอายุของไทธรรม์) ช่วงไหนยากที่สุดสำหรับคนเป็นพ่อ

เรารู้สึกว่ามันยากกันคนละสเตจ แต่โดยรวมแล้ว คอนเซ็ปต์มันคือลูกทำให้เราลดทอนอัตตาของตัวเองลง เราไม่ได้เป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาลแล้ว เพราะอยู่ดีๆ ลูกมันก็เข้ามาเป็นจุดศูนย์กลางแทน

เอาง่ายๆ ว่า ปกติเราเคยจัดการทุกอย่างในชีวิตเราได้ เช่น ก๊อกน้ำเสียก็เปลี่ยนก๊อก คอมพ์เสียก็เปลี่ยนคอมพ์ แต่ลูกอะ แค่ร้องไห้ เราก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง ไม่รู้จะดีลกับปัญหานี้ยังไง เขาไม่ได้ต้องการการดูแลเหมือนที่เราดูแลอย่างอื่นมาทั้งชีวิต

เพราะฉะนั้น ช่วงครึ่งแรกมันคือเราต้องปรับทัศนคติที่ว่า มึงไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาลแล้วนะ ลูกมึงเป็นเว้ย เช่น พอเขาตื่น เราก็ต้องตื่น

เป็นเรื่องที่เคยเตรียมใจไว้ก่อนไหม

ไม่เลย เราเคยเขียนไว้ในหนังสือว่า ‘ไม่มีใครที่พร้อมจะเป็นพ่อแม่จริงๆ หรอก’ ทุกคนแม่งต้องมีความไม่พร้อมในทางใดทางหนึ่งเสมอ เช่น อาจมีเงินเยอะ แต่สภาพจิตใจไม่พร้อม มันต้องมีทางใดทางหนึ่งที่ไม่พร้อม และเราก็ไม่รู้ว่ามันจะหนักขนาดนั้น คือเราเคยอยู่ในฐานะที่ควบคุมทุกอย่างได้ ซ่อมทุกอย่างได้ แก้ไขได้ แต่ไอ้นี่ (ไทธรรม์) ควบคุมอะไรมันไม่ได้เลยเว้ย

แต่ทีนี้พอเราเริ่มลดทอนบางอย่างในตัวเราไปได้แล้ว โอเค ลูกคือจุดศูนย์กลางนะ เริ่มยอมรับได้แล้ว พอเริ่มเดินได้ เราก็รู้สึกว่าพื้นที่เรามันเล็กลงเรื่อยๆ เช่น เมื่อต้นปีนี้ ห้องทำงานคือเซฟโซนของเรา แต่ตอนนี้ไทธรรม์เปิดห้องได้แล้ว มันก็ไม่มีที่ไหนเซฟอีกแล้ว คือกูไม่มีที่ไหนที่สงบได้อีกแล้ว เพราะไอ้นี่ก็จะเปิดห้องเข้ามาก็จะเล่นนั่นเล่นนี่ พื้นที่ของเรา เวลาของเรามันก็หมดไปแล้ว

โอเค มันอาจจะเป็นเวลาเอ็นจอยที่ได้อยู่กับลูกนะ แต่บางทีเราก็ เฮ้ย กูต้องทำงานแป๊บนึง ยังเข้ามาไม่ได้นะ แต่ความจริงคือ ทุกอย่างของเราต้องให้เขามากขึ้นไปเรื่อยๆ

แปลว่ายิ่งโตยิ่งรู้สึกว่ายากขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งโตยิ่งยาก—ใช่ แต่มันก็ไม่ได้ยากมั้ง เรียกว่ายากคงไม่ได้ แต่มันเรียกว่าเงื่อนไขเขาเยอะขึ้น เราก็แค่ go along กับเงื่อนไขเขาให้ได้ แล้วทุกอย่างก็จะดีเอง

ถ้าในแง่นิสัยใจคอของตัวเอง พอเป็นพ่อเองแล้ว มีอะไรที่ไม่คิดว่าจะมาถึงจุดนี้ได้อีกไหม

เยอะมาก เช่น ทุกวันนี้เราเลือกที่จะไม่พูดอะไร เพราะบางอย่างก็ไม่รู้จะบ่นไปทำไม ก็ช่างแม่ง

หมายถึงไทธรรม์เหรอ

มันทุกๆ อย่างนะ เรารู้สึกชีวิตมันวนมาถึงสเตจที่… อะไรที่เราเคยว่าใครเขาไว้ แล้วมันวนกลับมา ในที่สุดกูก็ไปอยู่ในจุดที่กูเคยด่าคนอื่นเขาไว้

ที่เคยว่าคนอื่น หรือว่าลูกคนอื่นเอาไว้

ทั้งหมดเลย มันเหมือนเราวนไปถึงจุดที่ยืนอยู่ในรองเท้าคนอื่น เราถึงได้ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง มันคืออีกสเตจของชีวิตแล้วอะ เช่น เราเคยด่าว่าทำไมคนอื่นแม่งปล่อยให้ลูกร้องไห้อยู่ได้วะ พอตอนนี้ก็รู้ว่าทำไมเขาทำอย่างนั้น เออ คำถามคืออะไรนะ…

อะไรที่ไม่ได้เป็นพ่อเองแล้ว คงจะไม่มีทางเป็นคนแบบนี้

อ๋อ เรื่องความห่วงลูก คือมันก็เบสิกนะ ที่จริงมันก็เป็นคำที่ cliche นะ ที่บอกว่าถ้าไม่มีลูกก็ไม่รู้หรอก ยกตัวอย่างตอนที่ไทธรรม์ฟันบิ่น โอ๊ย กูโกรธมาก โกรธแบบไม่ได้อยากฟังเหตุผลแล้ว

เหตุการณ์มันคือยังไง

ไทธรรม์หกล้มที่โรงเรียนแล้วฟันหน้าบิ่น แต่ครูไม่ยอมบอกเราก่อนว่าลูกเราหกล้มฟันบิ่น ปล่อยให้เรามาเห็นเอง โอ้โห ตอนนั้นโมโหมากจนรู้เลยว่าครูทั้งโรงเรียนแม่งกลัวเราแน่นอน คือเราโกรธจริงๆ แต่เป็นการโกรธที่มีสตินะ ซึ่งเราว่า คนโมโหแล้วขาดสติมันน่ากลัว แต่คนโมโหที่มีสติมันยิ่งน่ากลัวว่ะ คือกูรู้หมดว่ากูจะทำอะไร คิดได้ขนาดว่าถ้าจะต่อยมึงอะ จะต่อยแบบไหน กูตั้งใจต่อยมึงนะ กูไม่ได้ขาดสติ แล้วคิดไปถึงว่า ถ้าต่อยเสร็จแล้ว จากนั้นกูจะกลับไปเขียนเฟซบุ๊กว่าอะไรบ้าง แล้วถ้ามีคนมาด่าในโซเชียลฯ กูจะตอบโต้ว่าอะไรบ้าง คือคิดไว้หมดแล้ว เออ มันคืออะไรแบบนี้ว่ะ มันมีความเป็นห่วงกลัวว่าลูกจะเป็นอะไรไป

เพิ่งมาเป็นห่วงมากตอนไทธรรม์ไปโรงเรียนหรือเปล่า

โอ๊ย วันสองวันแรกนะ เรานั่งดูนาฬิกาตลอดเลยว่าสามโมงหรือยัง สามโมงปุ๊บโทร.หามะเลยว่ารับลูกหรือยังๆๆ หรือถ้าวันไหนมะไปรับลูกแล้วไม่โทร.มาบอกก็โกรธ หรือถึงบ้านแล้วทำไมไม่ส่งรูปมาให้ดู เออ มันจะมีความอะไรแบบนี้ อยู่ดีๆ ก็นอยด์แดก

 

“ถ้าช่วงไหนที่เราอยู่กับเขามากหน่อย
มีเวลาตื่นเช้ามาเจอ เขาก็จะดีกับเรามาก
แต่มันก็จะมีโมเมนต์ที่รู้สึกว่าพลาดไปแล้ว
เช่น ทุกวันนี้เขาไม่ยอมให้เราใส่เสื้อผ้าให้ ทั้งที่เมื่อก่อนก็ใส่ให้ได้นะ”

เราเคยคุยกันก่อนหน้านี้ เรื่องน้อยใจที่ไม่มีเวลาจนลูกจำหน้าเราไม่ได้

อือ มันเป็นโมเมนต์ที่เราเห็นว่าลูกหันมามอง แล้วแววตาเขามันคือไม่รู้ว่าไอ้นี่เป็นใครอะ

สังเกตอาการนั้นได้ช่วงไหน

ช่วงเขาเริ่มคลานมั้ง แล้วเราก็รู้สึกว่าเราพลาดไปแล้วว่ะ เพราะว่าตอนนั้นเราแยกห้องนอน เพราะเราจะมีปัญหากับการตื่นเช้ามากๆ แล้วมันรวนกับการทำงาน เราก็เลยแยกห้องนอน แล้วเลยรู้สึกว่า เชี่ย กูทำพลาดมาก

พอเห็นว่าเขามองด้วยสายตาที่จำเราไม่ได้แล้ว…

ตกใจเว้ย แล้วก็นึกถึงที่คนเขาพูดว่า เอาแต่ทำงานจนลูกจำหน้าไม่ได้ เชี่ย แม่งมีจริงว่ะ เออ แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นเลยนะ คือเขาก็จะไม่เล่นด้วยเลย สมมติว่าเราตื่นสาย ไทธรรม์นั่งเล่นอยู่ข้างล่าง พอเราเดินลงมา เขาจะวิ่งไปหาแม่ แล้วต้องใช้เวลาสักครึ่งชั่วโมงถึงจะจูนกันได้ แล้วเราก็เลยรู้สึกว่าเราพลาดมาก น่าจะมีเวลาให้เขามากหน่อย

แต่ทุกวันนี้ดีขึ้นเยอะมาก คือสังเกตได้ว่า ถ้าช่วงไหนที่เราอยู่กับเขามากหน่อย มีเวลาตื่นเช้ามาเจอ เขาก็จะดีกับเรามาก แต่มันก็จะมีโมเมนต์ที่รู้สึกว่าพลาดไปแล้ว เช่น ทุกวันนี้เขาไม่ยอมให้เราใส่เสื้อผ้าให้ ทั้งที่เมื่อก่อนก็ใส่ให้ได้นะ อยู่ดีๆ ก็… มันเกิดขึ้นภายในวีกเดียวที่เราไม่ได้นอนด้วย รู้ตัวอีกทีคือเขาไม่ให้ทำแล้ว เออ อันนี้คือเรื่องที่เราพลาดมากเลยว่ะ แต่ทำไงได้วะ…

แล้วตอนนี้คือพยายามปรับตัว หรือคิดว่าเดี๋ยวก็จะดีขึ้นเอง

ทำใจว่ะ คือคิดว่าโตขึ้นเดี๋ยวเขาก็คงเก็ตเอง

พลาดเรื่องเวลาไป แล้วมีอะไรที่คิดว่าเริ่มต้นมาได้ดีบ้าง

เราสนับสนุนให้ลูกเราตัดสินใจอะไรเอง ทุกอย่างเราให้เขาเลือกเองหมด ถ้าไปซื้อด้วยกันก็ให้เขาเลือกว่าจะเอาชุดไหน หรือว่าไปซื้อขนม เขาอยากกินอันไหนเราก็ให้เขาเลือกเอง หรือถ้าเขาเริ่มอยากลองกินอะไรที่มันไร้สาระ เราก็จะบอกเขาว่าอันนี้ไม่ดีนะ อย่าเพิ่งกินได้ไหม ซึ่งเขาก็จะเก็ต คือเรารู้สึกว่าการที่เราให้ออปชั่นเขาตลอด พอถึงเวลาต้องคุยกันเขาจะรู้เรื่อง

อีกอย่างที่เราให้ความสำคัญคือ เรารักษาสัญญากับลูกมาก เช่น ถ้าบอกว่า เดี๋ยวกินข้าวเสร็จแล้วจะพาไปนั่งรถเล่น ก็ต้องไปจริงๆ หรือเรื่องเล็กน้อยปัญญาอ่อนเลย อย่างบอกเขาว่าอาบน้ำเสร็จแล้วจะเปิดเทเลทับบี้ให้ดู ก็ต้องทำ

มีอยู่วันนึงไทธรรม์ไปเล่นชิงช้าแล้วไม่ยอมกลับ แล้วเราบอกเขาว่า ตกลงกันนะว่าเล่นอีกสองครั้งแล้วจะกลับบ้าน เออ เขาก็ยอมว่ะ มันเหมือนพอบอกว่า ‘ตกลงกันแล้วนะ’ เขาจะซีเรียสกับสิ่งนี้ขึ้นมา แล้วถ้าเขาผิดสัญญา เราก็จะทวงเขาได้ว่าเราเคยตกลงกันแล้ว

ถ้าตกลงกันแล้ว แต่เราเป็นฝ่ายทำไม่ได้

โกรธเลย ไทธรรม์จะโกรธ ไม่คุยด้วย ทำตัวมีปัญหา ไม่เข้าบ้าน ซึ่งเราต้องมานั่ง เดี๋ยวก่อนนะ กูลืมอะไรไปหรือเปล่า อ๋อ กูลืม ก็ต้องไปขอโทษ คือเราก็ทรีตเขาเหมือนผู้ใหญ่ เฮ้ย ขอโทษนะ ลืมจริงๆ ทำตอนนี้ได้ไหม หรือพรุ่งนี้ได้ไหม เขาถึงจะโอเค คือไทธรรม์น่ะรู้เรื่องทุกอย่าง เหลือแค่ไม่พูดกลับมาเท่านั้นแหละ

พูดถึงเรื่องไม่ยอมพูด ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

ก็ไปหาหมอ (หมอด้านพัฒนาการเด็ก) แต่ตอนนี้ก็หยุดแล้ว เรารู้สึกว่าเขาเริ่มออกเสียง อ้า อู้ อี้ บ่อยขึ้น ซึ่งมันเป็นสัญญาณที่ดีแล้ว แต่อยู่ที่ว่ามันดื้อ มันจะไม่ยอมพูดตามที่เราบอกให้พูด

ทำไมถึงเลิกไปหาหมอแล้ว

มันจบคอร์สเขาด้วย แล้วเราก็รู้สึกว่า คือหมอให้ไทธรรม์ไปฝึกบาลานซ์ตัว ออกกำลังกล้ามเนื้อคออะไรแบบนี้ ทีนี้เราก็ เฮ้ย อยากให้ลูกพูดได้ ไม่ได้อยากให้มาเรียนยิมนาสติก (หัวเราะ) ซึ่งเข้าใจแหละว่ามันเป็นโพรเซสของเขานะ คุณหมอก็อธิบายให้เราเข้าใจแหละว่ามันต้องค่อยๆ นะ

แต่เรารีบอ่ะ! สกิ๊ปมาสอนให้ลูกพูดสิได้ ปีนป่ายอะไรไม่เอาได้มั้ย

ห่วงเรื่องการพูดแค่ไหน

ห่วงนะ เราห่วงว่าเขาจะพูดยาก คือกลัวว่าวันนึงเขาจะรู้สึกว่า ไอ้ที่ทำอยู่ตอนนี้ มันก็สื่อสารได้แล้วนี่หว่า กูไม่จำเป็นต้องพูดก็ได้ แต่เราให้ถึงปีหน้า หมายถึงสี่ขวบ ถ้าสี่ขวบแล้วยังไม่พูดอันนี้ซีเรียสแล้ว

แต่เอาจริง พอเราไปดูเด็กคนอื่น ก็รู้สึกว่าลูกเรามีปัญหาเยอะ แล้วเราไม่รู้ว่าปัญหานี้มาจากไหน เช่น ไทธรรม์ไม่เคยกระโดด รู้เลยว่าเขากระโดดไม่เป็น แล้วเราก็ไม่รู้ว่า การที่เด็กคนนึงจะกระโดดเป็นเนี่ย เขาเริ่มเรียนรู้จากอะไร ต้องไปเล่นกับเพื่อนเหรอ แต่ตอนนี้ไทธรรม์ก็เข้าโรงเรียนแล้วนะ หรือว่าการที่ไทธรรม์มีเซนส์เรื่องความปลอดภัยของตัวเองสูงมาก เช่น ลงจากเตียงหรือลงบันได เขาก็จะค่อยๆ เดินลง คืออะไรที่ดูแล้วจะเป็นอันตรายกับตัวเองได้ มันก็ไม่ทำเลย ซึ่งครูที่ฝึกพัฒนาการเขาก็จะมาบอกว่า ไทธรรม์ไม่ยอมเล่นของพวกนี้ๆ นะ เราก็อ๋อ มันเป็นของที่เขารู้สึกว่าอันตราย

ครูก็จะถามว่าเราเคยไปห้ามเขาเหรอ ซึ่งไม่เคยไง เราไม่เคยพูดว่า เฮ้ย อย่าทำ ห้ามทำ แต่เราจะบอกเสมอว่า ต้องระวังนะ แต่สุดท้ายเขาก็จะเลือกที่จะไม่ทำเอง

คิดว่าสาเหตุเป็นเพราะอะไร

มีครั้งเดียวเท่าที่นึกออก ว่ามันอาจมีผลต่อความคิดของไทธรรม์ก็คือ ตอนที่มะกลัวว่าลูกจะตกเตียง เพราะเตียงที่บ้านมันสูง ก็เลยสอนวิธีลงจากเตียงให้เขา เราก็ไม่รู้ว่ามันเกี่ยวหรือเปล่า แต่พอเจออะไรที่เป็นที่สูง เขาก็จะไม่เสี่ยง

 

“เราพยายามทำตัวไม่ให้ตัวเองมีช่องว่างเหมือนพ่อมีกับเรามากกว่า
คือลูกเรา ยังไงมันก็ต้องเหมือนเราอยู่แล้ว
เราแค่พยายามทำตัวเราไม่ให้เหมือนพ่อเรามากกว่า”

ในฐานะพ่อหรือผู้ชายด้วยกัน มีอะไรที่อยากให้ไทธรรม์เหมือนเรามากที่สุด

ไทธรรม์ต้องเหมือนเราอยู่แล้ว เพราะดูทรงตอนนี้มันมีความคล้ายๆ เราอยู่ แต่เราพยายามทำตัวไม่ให้ตัวเองมีช่องว่างเหมือนพ่อมีกับเรามากกว่า

คือเดี๋ยวต้องบอกก่อนว่า พ่อเราก็ดูแลเราดีที่สุดเท่าที่เขาจะดูแลได้ แต่บางอย่างตอนนั้น เราก็ไม่เก็ตความหวังดีที่เขาทำ มันมีช่องว่างเยอะมาก เรากลัวว่าเรากับลูกจะเป็นแบบนั้น ซึ่งมันก็คงจะเกิดแหละ เพราะวัยรุ่นมันก็ต้องมีการทะเลาะกับพ่อ แล้วไทธรรม์มันก็เหมือนเรามากในหลายๆ อย่าง

แล้วพี่เหมือนพ่อของตัวเองหรือเปล่า

เราอะเหมือนพ่อมาก คือพอได้ยินคำถามนี้แล้ว เรารู้สึกว่าไทธรรม์จะเหมือนใครอันนี้ก็เรื่องนึง แต่เราไม่อยากให้เราเหมือนพ่อเรา คือพ่อเราก็ดูแลเรามาดีนะ แต่ด้วยยุคสมัยที่มันไม่เหมือนกัน เราพยายามที่จะไม่ให้มันมีอะไรอย่างนั้น คงพยายามทำให้ลูกเข้าใจเรามากที่สุด

แต่ที่ไม่อยากให้เขาเหมือนเรา เช่น เราเก็บตัวมากเกินไปจนรู้สึกว่า เราอยากให้ลูกเข้ากับคนอื่นได้ดีขึ้น เพราะเราเข้ากับใครไม่ค่อยได้

แล้วก็มีอย่างนึงคือเราอยากให้ไทธรรม์รู้จักสะสมของ เพราะเรารู้สึกว่าการที่เขาชอบหรือเก็บอะไรสักอย่าง เราว่ามันดี แล้วตอนนี้ไทธรรม์ก็สะสมสมุดสะสมแสตมป์เซเว่น ไม่ใช่แสตมป์ด้วยนะ คือสะสมสมุดที่เอาไว้สะสมแสตมป์อีกที แล้วซีเรียสมาก วันก่อนเข้าเซเว่นแล้วสมุดเขาหมด ก็ร้องไห้ไม่ยอมกลับเว้ย จนต้องขอกล่องที่เขาเอาไว้ใส่สมุดกลับมา เอากล่องไปก่อนละกัน ก็เออ แฮปปี้

นึกถึงที่พี่เคยพูดว่า เด็กทุกคนมีความ asshole อยู่ในตัว

ใช่ คือเรารู้สึกว่าความ asshole ของเด็กมันมีไว้เพื่อสอนผู้ใหญ่ให้เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เช่น ได้รู้ว่าของทุกอย่างในบ้านมันไม่ใช่ของเรานะ และมันก็พร้อมจะพังได้ตลอดเวลา เหมือนวันก่อน เราซื้อคอมพ์มา แกะคอมพ์มาวาง 30 วินาทีต่อมา ไทธรรม์หยิบคีย์บอร์ดขึ้นมาแล้วทำตกพื้น… คือมึงอย่าคิดว่าจะควบคุมทุกอย่างได้ เพราะมึงมี asshole ที่พร้อมจะพังทุกอย่างเหมือนกัน

เราเลยรู้สึกว่าเราต้องปล่อยวางแล้วว่ะ อย่างตอนนี้ไทธรรม์เปิดเครื่องเกม Switch ได้แล้ว เราก็คิดว่าอันต่อไปที่จะพังต้องเป็นอิเครื่องนี้แน่เลยว่ะ

หรือเวลาจะไปเที่ยว หรือออกนอกสถานที่ ก็ต้องเตรียมใจไว้เลยว่า ทริปวันนี้จะไม่มีความสุข และเป็นไปได้ว่าจะพัง เราก็จะ… โอเค

นั่นแหละ อย่างที่เราบอกว่าเด็กมันเกิดมาเพื่อลดอัตตาเรา ทำให้รู้ว่ามึงไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้หรอก

แล้วไทธรรม์ในอีกสิบปีข้างหน้า

ทะเลาะกับกูแน่นอน สร้างปัญหาให้เราแน่นอน มีเรื่องที่ไม่เข้าใจกันแน่นอน เรามั่นใจเลยอะ แล้วก็เรื่องสังคมด้วย คือเราเองก็มีนิสัยต่อต้านทุกอย่างที่เราอยากต่อต้านอยู่แล้ว เราก็ไม่รู้ว่าอีกสิบปีข้างหน้าเราจะเป็นยังไง มันก็อยู่ที่เวลานั้นเราสามารถอธิบายให้เขาเข้าใจตรงกับเราหรือเปล่า แต่มั่นใจว่าต้องทะเลาะกันแน่นอน

เมื่อกี้เหมือนจะบอกว่าเป็นห่วงเรื่องสังคมของเขา

ห่วงสังคม ห่วงเพื่อน ดูทรงแล้วมันน่าจะเป็นคนติดเพื่อน เพราะเราเดาเอาเองว่าลูกคนเดียว พอได้มีเพื่อนแล้วมันก็อาจติดเพื่อน กลัวจะเป็นอย่างนั้น กลัวจะเสียคนไปกับเพื่อน เนี่ย กูพูดเหมือนพ่อกูอีกแล้ว (หัวเราะ)

แล้วเรากลัวเด็กแบบที่เราเห็นในอินเทอร์เน็ต คือทำอะไรโง่เง่า แต่คิดว่าตัวเองถูก กลัวจะเป็นคนที่ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีอะ กลัวที่สุด คือเรารู้สึกว่าลูกเราอาจจะทำผิดบ้างก็ได้นะ แต่ถ้าถูกจับได้ว่าผิด มันก็ต้องรู้ตัวว่ามึงผิดนะ ไม่ใช่มาเถียงว่ากูถูกๆๆ ยกตัวอย่าง เหมือนคนขายของบนทางเท้า เราเข้าใจว่าพี่ต้องทำมาหากิน แต่เวลามีคนบอกว่าพี่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน มันก็ต้องยอมรับหรือขอโทษดิ ไม่ใช่มาบอกว่า เฮ้ย ทำไมอะ รังแกคนจนนี่ มันไม่ใช่ไง คือมันผิดไง

ซึ่งสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงตอนนี้

บ้านเราพูดกันแบบผู้ใหญ่นะ เช่น เราจะตกลงกับมะว่า จะไม่มีการบอกลูกว่า อย่าดื้อนะ เดี๋ยวตุ๊กแกมากินตับ เพราะตุ๊กแกมันไม่ได้กินตับ หรือดื้อแล้วตำรวจจะมาจับเราก็ไม่พูดนะ เพราะฉะนั้น คนอื่นที่มาคุยกับลูกเราแล้วมันไม่จริง เราก็จะบอกนะว่ามันไม่ใช่ เวลาเขาจะหยิบอะไรของเรา เราก็จะบอกว่าอันนี้ของใคร อันไหนของเขา ถ้าผิด ก็บอกว่าไม่ถูก ไม่ดี ก็ไม่รู้ว่าจะเวิร์คมั้ย แต่ตอนนี้เอาแบบนี้ก่อน

เออ อันนี้เลยนึกได้ว่าพอมีลูกแล้ว เราจะไม่อยากไปยุ่งกับลูกคนอื่น
หมายถึงไม่อยากจะไปทักลูกใครว่า ลูกตัวอ้วนนะ ลูกตัวผอมนะ จะไม่ทำเลย สิ่งที่เราไม่ชอบเลยคือ พวกที่มาทักแบบ “เฮ้ย ทำไมลูกผอมจัง ให้กินอะไรบ้างมั้ยเนี่ย” หรือว่า “ชอบเล่นกับผู้ชาย จะเป็นตุ๊ดหรือเปล่าเนี่ย” เออ อะไรแบบนี้เราจะไม่พูด

คือพอเป็นพ่อแล้วเนี่ย เรารู้สึกว่าการเลี้ยงลูกมันเป็นศาสนาว่ะ มันคือบ้านใครบ้านมัน เพราะฉะนั้น ใครจะนับถือศาสนาไหนก็เรื่องของบ้านเขา


Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST