รวมข่าวเตือนภัยที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก ตลอดทั้งปี 2018
1. ระวังลูกโดนแกล้ง
ทำไมเราถึงเตือนแบบนี้ เพราะไทยติดอันดับ 2 ของโลกที่เด็กแกล้งกันภายในโรงเรียน และจากผลการสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัดเมื่อปี พ.ศ. 2560 พบว่า มีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคน
ทุกครั้งที่ลูกกลับมาจากโรงเรียน พ่อแม่ควรหาเวลาสักสองสามนาที พูดคุยกับลูกว่าไปโรงเรียนเป็นยังไงบ้าง เกิดอะไรขึ้นกับเขาในแต่ละวันบ้าง หากลูกโดนแกล้งหรือไปแกล้งคนอื่นจะได้หาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ไม่เกิดขึ้นอีก พ่อแม่เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ปัญหาเหล่านี้ลดลงได้
ที่มา: Matichon
2. ระวังลูกป่วยด้วยโรคคาวาซากิ
อาจจะฟังดูไม่เหมือนชื่อโรคเท่าไรนัก แต่โรคคาวาซากิ ก็ถูกค้นพบโดยกุมารแพทย์ … ชาวญี่ปุ่น มาตั้งแต่ ปี 1967
อาการของโรคคาวาซากิเกิดจากการอักเสบเฉียบพลันของหลอดเลือดแดง หลอดเลือดหัวใจโป่งพอง อุดตัน และนำไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจตาย มักเกิดขึ้นกับเด็กที่อายุน้อยกว่าห้าปี และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คุณพ่อผู้ใช้เฟซบุ๊ก Wasin K. Maddog ได้ทำการโพสต์เรื่องราวของลูกชายที่ป่วยด้วยโรคคาวาซากิ
เด็กที่เป็นโรคคาวาซากิ อาการเริ่มแรกจะคล้ายเป็นหวัดธรรมดา พ่อแม่ต้องแยกให้ออกว่าลูกเป็นหวัดหรือเป็นโรคคาวาซากิ โดยสังเกตจากผื่นที่ขึ้นตามแขน ขา และลำตัว เด็กจะมีอาการตาแดง ฝ่ามือฝ่าเท้าแดง ริมฝีปากแห้งแดง ลิ้นแดงเป็นตุ่มคล้ายผิวสตอร์เบอร์รี่ หากพบอาการแบบนี้แล้ว พ่อแม่ต้องส่งลูกแอดมิตเข้าโรงพยาบาลทันที
ที่มา
Dailynews
3. ระวังความน่ารักของลูก
ลูกน่ารักไม่ดีตรงไหน เรื่องนี้คงต้องยกตัวอย่างข่าวเด็กที่โด่งดังในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะความน่ารักของน้องเป่าเปา ทำให้เกิดเหตุการณ์แฟนคลับหมันเขี้ยว ถึงขั้นลงไม้ลงมือหยิกหรือขยำรุนแรง จนน้องร้องไห้จ้าออกมาท่ามกลางผู้คนที่เข้ามารุมชื่นชมความน่ารักของน้อง
อาการแบบนี้เรียกว่า Cute Aggression—อาการก้าวร้าวที่เกิดจากความน่ารัก เมื่อเห็นอะไรที่น่ารักน่าชัง สมองจะหลั่งสารโดพามีน สารเคมีแห่งความสุขออกมา ทำให้คนที่ได้เข้าไปจับ เข้าไปขยำ เข้าไปหยิกให้หายหมั่นเขี้ยว มีความสุขนั่นเอง
เหตุการณ์แบบนี้คงอาจเกิดขึ้นกับลูกของคุณ หรือเด็กคนไหนก็ได้ ดังนั้นจึงอยากให้พ่อแม่คอยระวัง คอยสังเกตพฤติกรรมคนรอบตัวลูก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกโดนหยิกหรือใช้ความรุนแรง ด้วยเหตุผลของความเอ็นดูเหมือนที่น้องเป่าเปาเจอมาแล้ว
ที่มา
Thairath.co.th
4. ระวังอย่าให้ลูกดื่มเบียร์
ภาพเด็กดื่มเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปรากฏให้เห็นบ่อยๆ ตามสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นภาพเด็ก 4 ขวบที่พ่อเป็นคนรินเบียร์ให้ลูกนั่งดื่มเบียร์ภายในร้านอาหาร หรือคลิปวิดีโอลูกลูกขอดื่มเบียร์ และคุณพ่อก็ยื่นกระป๋องเบียร์ให้ลูกดื่ม
แต่รู้หรือไม่ว่าจะให้เด็กดื่มเบียร์ด้วยเหตุผลอะไร หรือใครเป็นคนยื่นให้ดื่ม ก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตราที่ 26 จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อันตรายระยะสั้นจากการให้เด็กดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้สมองเด็กหยุดทำงาน ไม่สามารถควบคุมสัญญาณชีพต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ชีพจร การหายใจ และความดันโลหิต
ส่วนอันตรายระยะยาวที่เกิดขึ้นกับเด็ก คือ อวัยวะตับเสียหาย พัฒนาการของสมองถดถอย ความจำไม่ค่อยดี มีปัญหาเรื่องการตัดสินใจ ไม่ค่อยมีเหตุผล และการดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่เด็ก ทำให้มีแนวโน้มติดเหล้า เป็นโรคมะเร็ง เส้นเลือดแตก เป็นโรคหัวใจ และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ในอนาคต
ที่มา:
Bugaboo.Tv
Amarintv
5. ระวังลูกถูกลืมไว้ในรถ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีข่าวลืมเด็กไว้ในรถ จนเด็กขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตในที่สุด เมื่อเดือนมิถุนายน มีเหตุการณ์น้องแยม วัย 5 ขวบ ถูกครูพี่เลี้ยงลืมไว้ในรถ จนกระทั่งตอนเย็น มาพบน้องแยมนอนเสียชีวิตอยู่ในรถนั่นเอง
ข่าวเด็กถูกทิ้งไว้ในรถยังคงเป็นข่าวสะเทือนใจที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ และผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบการพาเด็กเล็กไปไหนมาไหน ควรช่วยกันดูแล ระมัดระวัง ตรวจสอบความเรียบร้อยทั้งก่อนและหลังจากเด็กขึ้นรถและลงรถทุกครั้ง
ที่มา
Khaosod
6. ระวังตัดเล็บลูกผิดวิธีเสี่ยงถึงชีวิต
ตัดเล็บลูกไม่ใช่เรื่องเล็ก เมื่อคุณหมอเจ้าของเพจ เรื่องเล่าจากโรงหมอ ออกมาเตือน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้ามวิธีการตัดเล็บลูกที่ถูกต้อง เพราะเรื่องเล็บไม่ใช่เรื่องเล็ก เมื่อมีเหตุการณ์คุณยายหวังดี ตัดเล็บให้หลานวัย 10 เดือน แต่หลังจากนั้นไม่นาน นิ้วโป้งเท้าของเด็กก็เริ่มบวม แดง อักเสบ และมีไข้สูง คุณหมอวินิจฉัยจากผลการตรวจเลือดพบว่าเด็กมีจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด คุณหมอต้องทำการผ่าตัดถอดเล็บบางส่วน เลาะเนื้อตาย กรีดระบายหนองและเลือดที่นิ้วออก
คุณหมอบอกว่า ช่วงเดือนแรกของชีวิต เล็บของทารกจะยังอ่อนนุ่มและบอบบางมาก หากทารกเล็บยาว คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ตะไบค่อยๆ ตะไบความยาวออก หรือใช้กรรไกรตัดเล็บแบบเฉพาะสำหรับทารก และถ้าเป็นเล็บมือให้ตัดตามความโค้งของเล็บ เฉลี่ย 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนเล็บเท้าให้ตัดเป็นเส้นตรงระหว่างจมูกเล็บทั้งสองข้าง ประมาณ 2-3 ครั้งต่อเดือน และตะไบมุมเพื่อลบคม ห้ามตัดชิดเข้ามาลึกเกินไป ควรเว้นขอบเล็บด้านนอกสีขาว ห่างจากเนื้อด้านใน 1-2 มิลลิเมตร
ที่มา
Thairath
7. ระวังไวรัส RSV คร่าชีวิตเด็ก
ฤดูฝนและฤดูหนาวมาทีไร คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังไวรัส RSV ที่มักจะแพร่ระบาดในช่วงเวลานี้ไว้ให้ดี สาเหตุของไข้ RSV เกิดจากการติดต่อผ่านการ ไอ จาม รดกัน หรือกินอาหารร่วมกัน ติดต่อเหมือนโรคหวัดทั่วไป แต่โรคนี้จะมีอาการรุนแรงได้ ก็ต่อเมื่อไวรัสลงไปที่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีจึงมีความเสี่ยงสูง เพราะมีระยะห่างตั้งแต่จมูกถึงปอดสั้นมาก เชื้อไวรัสจึงเดินทางได้อย่างรวดเร็ว
ที่มา
Thairath
8. ระวังให้ลูกกินนมแม่คนอื่นเสี่ยงติดโรค
นมแม่มีประโยชน์ต่อลูกเรา แต่อาจเป็นอันตรายต่อลูกคนอื่น หลังจาก น้ำหวาน-พัสวี พยัคฆบุตร ภรรยาของ ต้าร์-นาวิน เยาวพลกุล บริจาคน้ำนมให้เด็กผู้ยากไร้ทั่วประเทศ
นพ.ยง ภู่วรวรรณ ออกมาเตือนว่าการบริจาคนมให้ลูกคนอื่นรับประทานทำให้ทารกเสี่ยงติดโรค เพราะน้ำนมเป็นชีววัตถุ เทียบเท่ากับเลือด จึงเสี่ยงที่จะได้รับโรคเอดส์ (HIV) ไวรัส CMV (Cytomegalovirus), EBV (Epstein-Barr Virus), ไวรัสตับอักเสบบี, ไวรัสตับอักเสบซี หรือ HTLV1 (Human T-Lymphotropic Virus)
ที่มา
Thairath
9. ระวังรักลูกอย่าปล่อยลูกไว้กับหน้าจอ
ยุคที่โทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตคนเรา เท่านั้นยังไม่พอ เพราะทั้งโทรศัพท์มือถือและหน้าจอของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ยังกลายเป็นผู้ช่วยหรือพี่เลี้ยงเด็ก ในเวลาที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกอยู่ในความสงบ เพราะเพียงแค่เปิดยูทูบให้ลูกดูการ์ตูนไปเรื่อยๆ ลูกก็เหมือนจะอยู่ในโลกส่วนตัว และชั่วโมงต้องมนตร์ของพวกเขาไปได้อีกนาน และคุณหนุ่ย—เดชา ช่วยด้วง คุณพ่อของน้องณดา เด็กหญิงวัยสี่ขวบ ก็เคยเป็นหนึ่งในคุณพ่อที่ยอมให้โทรศัพท์มือถือเป็นพี่เลี้ยงให้ลูกสาว ทำให้น้องณดามีดวงตาและสายตาผิดปกติ จนต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาความผิดปกติในที่สุด
ที่มา
Aboutmom
10. ระวังโรค 4S เด็กร้องทรมานผิวหนังลอกทั่วตัว
เรื่องราวเตือนภัยจากคุณแม่ของทารกวัย 5 เดือน เล่าประสบการณ์ลูกมีอาการ เบ้าตาสองข้างและรอบปากแดงผิดปกติ ตาบวม ดิ้นทรมาน หนังแดงบวมเป่งทั้งตัว จากนั้นหนังจะค่อยๆ แตกและหลุดลอกออกมา ผ่านเฟซบุ๊ก ชื่อ คุณหญิง ฉัตรเพชรฯ
พญ.ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ กุมารแพทย์ผิวหนัง ได้อธิบายถึงอาการดังกล่าวว่าเป็นอาการของโรค 4S (Staphylococcal scalded skin syndrome) โดยโรคนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กได้ตั้งแต่วัยทารกไปจนถึง 5 ขวบ
สาเหตุมาจากผิวหนังติดเชื้อที่มาจากสารพิษของเชื้อแบคทีเรีย S.aureus phage group II phage type 71 หรือ 55 เชื้อจะปล่อยสารพิษเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้เกิดการอักเสบและแยกชั้นของผิวหนังบริเวณหนังกำพร้า
วิธีป้องกันก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องรักษาความสะอาดมือหรือผิวหนังที่จะต้องสัมผัสกับลูกโดยตรง ระมัดระวังไม่ให้ลูกถูกคนแปลกหน้าเข้ามาสัมผัสตัวหรือหอมแก้ม และหากลูกมีอาการผิดปกติทางผิวหนัง เช่น มีผื่น ผิวหนังบวมแดง ควรรีบพาไปพบแพทย์
COMMENTS ARE OFF THIS POST