READING

ลูกโกรธง่าย : ทำไมลูกวัย 2-5 ขวบถึงโกรธและโมโหง่าย...

ลูกโกรธง่าย : ทำไมลูกวัย 2-5 ขวบถึงโกรธและโมโหง่าย

ลูกโกรธง่าย

พอลูกเริ่มเข้าวัยอนุบาล หรือช่วงอายุ 2-5 ขวบ คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มเห็นว่าลูกเริ่มเป็นเด็กหัวร้อน ขี้โมโห โวยวาย เอาแต่ใจ ร้องไห้เสียงดัง ขว้างและปาข้าวของ

ปัญหา ลูกโกรธง่าย นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า แท้จริงแล้ว ทารกอายุตั้งแต่ 4 เดือนก็สามารถมีความรู้สึกโกรธได้ และปฏิกิริยาความโกรธจะเพิ่มขึ้นเมื่อลูกเติบโต และจะเห็นได้ชัดที่สุดเมื่อลูกอายุประมาณอายุ 1.5 – 2 ขวบ หรือช่วงวัยทองสองขวบ (terrible two) จากนั้นจะค่อยๆ คงที่ แต่ไม่ลดลง ยังคงความหัวร้อน โกรธง่ายต่อไปจนถึงวัยอนุบาลแม้ปัญหา ลูกโกรธง่าย จะเป็นเรื่องปกติทั่วไปของลูกวัยอนุบาล แต่เหนือสิ่งอื่นใด คุณพ่อคุณแม่ก็ควรทำความเข้าใจ เพื่อสอนให้ลูกสามารถจัดการกับความโกรธและเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์โกรธของตัวเองได้อย่างถูกต้อง

1. โกรธง่าย โกรธเยอะ เพราะเป็นวัยทอง 2–3 ขวบ

angrykids_web_1

คุณพ่อคุณแม่ทุกคนจะต้องเจอกับ มนุษย์จิ๋ววัยทองสองขวบ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่พร้อมจะฟาดฟันทุกอย่างเพื่อให้ได้ตามความต้องการของตัวเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพัฒนาการตามช่วงวัย เพราะความพร้อมที่จะเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็น ทำให้แสดงออกเป็นความกระตือรือร้นและใจร้อน จนกลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ

หากคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าในธรรมชาติของลูก แต่พลอยโกรธและใช้อารมณ์กับลูกไปด้วย ลูกจะยิ่งโกรธและไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ ดังนั้น #เมื่อลูกโกรธแม่ต้องอย่าโกรธตาม เพื่อให้ลูกค่อยๆ คลายความโกรธของตัวเองลง

Denis Sukhodolsky นักจิตวิทยาคลินิกจากศูนย์ศึกษาเด็ก Yale Medicine ระบุว่า เป็นเรื่องปกติของเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ จะมีอาการโมโหมากถึง 9 ครั้งต่อสัปดาห์ และอาจจะมีพฤติกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้องไห้ เตะ กระทืบเท้า ทุบตี หรือผลักคนอื่น และพฤติกรรมจะค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อเข้าสู่วัยอนุบาล

2. ลูกหัวร้อนไว อาจเพราะไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกยังไง

angrykids_web_2

Mark Greenberg ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านการพัฒนามนุษย์และจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลวาเนีย ระบุว่า ความโกรธ ความก้าวร้าว หรืออารมณ์ฉุนเฉียวของเด็กวัยอนุบาลเป็นเรื่องปกติ เช่น เด็กอยากให้เพื่อนสนใจหรือเล่นด้วย ก็จะปาของใส่ เมื่อเพื่อนไม่เล่นด้วยก็โมโหจึงโยนของใส่ของเพื่อนอีก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กแสดงความรู้สึกหรือความต้องการที่แท้จริงไม่เป็น หรืออาจจะไม่มีคำศัพท์ที่พอจะอธิบายเป็นคำพูดให้คนอื่นเข้าใจได้

คุณพ่อคุณแม่จึงต้องใช้ช่วงเวลานี้ฝึกฝนลูกให้สามารถอธิบายและเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง ด้วยการ ‘เติมคลังคำศัพท์’ โดยเฉพาะคำหรือประโยคคำพูดที่ใช้อธิบายความคับข้องใจของลูก แทนการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว

3. โกรธง่าย เพราะอยากได้อะไรบางอย่าง

angrykids_web_3

เป็นเรื่องปกติที่เด็กเล็กมักจะโกรธง่าย หรือ นั่นเป็นเพราะเขาอยากได้อะไรบางอย่าง แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร หรือบอกกับคุณพ่อคุณแม่ด้วยวิธีไหนถึงจะได้ในสิ่งที่ต้องการ นั่นส่งผลให้เด็กแสดงความโกรธ หรือหงุดหงิดออกมาทันที

Carolyn Webster-Stratton นักจิตวิทยาคลินิกแนะนำว่า ให้ใช้วิธี ‘จับมือกันไว้ แล้วหายใจลึกๆ ไปด้วยกัน’ เพื่อให้คุณแม่ไม่โมโหไปกับลูก และลูกก็ค่อยๆ สงบลง จากนั้นมาสะท้อนความรู้สึกของลูก ก่อนชวนลูกหาคำตอบว่า ทำไมถึงโกรธ และถ้าโกรธควรทำอย่างไร เพื่อให้ความโกรธหายไปได้วิธีที่สองคือ ใช้กิจกรรมเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นการอ่านนิทาน เล่นบทบาทสมมติ รวมไปถึงกิจกรรมศิลปะประดิษฐ์ ตัวอย่าง เทอร์โมนิเตอร์วัดอารมณ์ โดยใช้กระดาษแข็ง ตัดให้เป็นรูปทรงปรอทวัดไข้ ขีดเส้นแบ่งออกเป็นสี่ช่อง สี่สี ช่องล่างสุดคือ ‘สีเขียว’ เท่ากับอารมณ์ปกติ ช่องที่สองคือ ‘สีส้ม’ เริ่มโกรธมากขึ้น ช่องที่สามคือ สีแดง โกรธหนักมาก และช่องบนสุด ‘สีดำ’ โกรธจนทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น เวลาลูกโกรธ ลองให้ลูกเลือกบอกว่ากำลังโกรธอยู่ในระดับไหน เพื่อให้ลูกเห็นอารมณ์ของตัวเองได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

4. ลูกชอบระเบิดอารมณ์ อาจมาจากเหตุผลอื่นที่ซ่อนอยู่

angrykids_web_4

#ลูกอาจเป็นเด็กสมาธิสั้น Dr.Vasco Lopesนักจิตวิทยาคลินิก และเชี่ยวชาญด้านการรักษาเด็กที่มีความผิดปกติทางพฤติกรรมและอารมณ์ในนครนิวยอร์ก ระบุว่า เด็กมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นโรคสมาธิสั้นมักแสดงท่าทีต่อต้านและระเบิดอารมณ์ได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีอาการหุนหันพลันแล่น มีปัญหาในการควบคุมพฤติกรรมของตัวเอง เมื่อต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ หรือเปลี่ยนจากกิจกรรมหนึ่งไปเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งจะกระตุ้นความโกรธได้ง่าย

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เด็กที่ชอบโกรธ หรือมีพฤติกรรมดังกล่าวจะเป็นโรคสมาธิสั้นเสมอไป เด็กบางคนอาจมีปัญหาที่ใหญ่กว่าซ่อนอยู่ เช่น รู้สึกวิตกกังวล กลัว เป็นทุกข์ใจในบางเรื่องที่อธิบายไม่ได้ หรือพยายามปกปิดเอาไว้ จนวันที่ทนแรงกดดันไม่ไหว หรือจัดการความรู้สึกไม่ได้ สัญชาตญาณ ‘สู้หรือหนี’ จึงทำงาน นั่นทำให้ลูกระเบิดอารมณ์หรือปฏิเสธที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงความวิตกกังวล หรือหวาดกลัวที่ไม่พร้อมเผชิญ

#บอบช้ำทางจิตใจ Nancy Rappaport จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และรองศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ที่ Harvard Medical School ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพจิตในโรงเรียน ระบุว่า เด็กๆ ที่แสดงอารมณ์โกรธ หงุดหงิดง่ายขึ้น อาจเป็นสัญญาณของความเครียด อาจถูกครอบครัวละเลย เกิดความบอบช้ำทางจิตใจ เช่น ครอบครัวมีปัญหา รู้สึกว่าบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย จึงแสดงออกเป็นความก้าวร้าวและรุนแรงในโรงเรียนได้

Kenneth Dodge ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาศาสตร์จาก Duke University ผู้ศึกษาการพัฒนาและการป้องกันพฤติกรรมก้าวร้าว ระบุว่า หากปล่อยให้เด็กแสดงความโกรธและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมากจนเกินไป ความโกรธนั้นจะทำร้ายทั้งตัวเด็กเอง ครอบครัว และคนรอบข้าง รวมถึงยังเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะใช้สารเสพติดได้ในอนาคต

อ้างอิง
apa.org
yalemedicine.org
childmind.org
parentingforbrain.com

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST