READING

ลูกนอนดิ้น : ไขข้อข้องใจ ทำไมลูกชอบนอนเบียดพ่อแม่น...

ลูกนอนดิ้น : ไขข้อข้องใจ ทำไมลูกชอบนอนเบียดพ่อแม่นักนะ!

ลูกนอนดิ้น

ก่อนถึงวัยที่คุณพ่อคุณแม่จะแยกห้องนอนกับลูก คุณพ่อคุณแม่ย่อมอยากใช้เวลาได้นอนข้างๆ ลูก ได้กอดและให้ความอบอุ่นกับลูกให้ยาวนานที่สุด

แต่ชีวิตจริงอาจไม่เรียบง่ายอย่างนั้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่ต้องเจอปัญหา ลูกนอนดิ้น ลูกนอนเบียด เดี๋ยวก็เอาแขนมาพาด เอาขามาก่าย ทำเอาคุณพ่อคุณแม่ต้องสะดุ้งตื่นตลอดทั้งคืน

เราคงไม่สามารถหาวิธีที่จะเปลี่ยน ลูกนอนดิ้น ให้เป็นลูกนอนนิ่งเงียบเรียบร้อยตลอดทั้งคืน แต่เราจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจว่าทำไม ลูกถึงนอนดิ้น และมาเตรียมความพร้อมสำหรับการแยกห้องนอนกับลูกในเวลาต่อไปกันดีกว่าค่ะ

1. ลูกนอนดิ้น เพราะกำลังเติบโต

sleepstrug_web_1

Shelby Harris นักจิตวิทยาคลินิกและผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การนอนหลับในนครนิวยอร์ก อธิบายว่า “เด็กตั้งแต่ทารก วัยหัดเดิน ก่อนวัยเรียน และวัยอนุบาลชอบนอนดิ้นหรือมักเคลื่อนไหวระหว่างการนอนหลับในตอนกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นการตื่นขึ้นมานั่ง หาว ขยับแขนขา ขยี้ตา ขยับตัวไปมา แล้วกลับลงไปนอนอีกครั้ง ทั้งหมดถือว่าเป็นเรื่องปกติ เด็กบางคนที่นอนดิ้นหนักมาก ก็จะค่อยๆ ลดพฤติกรรมนี้ลงเมื่อเข้าสู่วัยประถม

2. การนอนดิ้นก็มีประโยชน์

sleepstrug_web_2

Shalini Paruthi ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การนอนหลับและอายุรศาสตร์และผู้อำนวยการร่วมของศูนย์วิจัยการนอนหลับ (Sleep Medicine and Research Center) ที่โรงพยาบาลเซนต์ลุคในรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา ระบุว่า การนอนดิ้นของลูกถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีและมีประโยชน์ เพราะการเปลี่ยนท่าทางและเปลี่ยนตำแหน่งการนอนนั้น ทำให้เส้นประสาทของลูกไม่ถูกกดทับไปตอนเผลอหลับ

3. เหตุผลที่ลูกชอบนอนดิ้นมาเบียดคุณแม่มากเป็นพิเศษ

sleepstrug_web_3

เพราะลูกกับคุณแม่มีความเชื่อมโยงทางสรีรวิทยาตามธรรมชาติเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นจังหวะการหายใจ สัมผัส หรือแม้แต่เสียงเต้นของหัวใจคุณแม่ ก็คือเสียงแห่งความอบอุ่นและปลอดภัยที่ลูกคุ้นเคย

ลูกที่นอนกับคุณพ่อคุณแม่ จึงมักเลือกนอนใกล้คุณแม่ เพราะอยากให้คุณแม่กอด อยากได้ยินจังหวะหายใจ และการเคลื่อนไหวร่างกายที่คุ้นเคยช่วยให้ลูกนอนหลับสบาย ลดความเครียด ส่งผลต่ออารมณ์ในเชิงบวก และยังเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาวระหว่างแม่กับลูกอีกด้วย

4. นอนเบียดคุณแม่ ‘ตอนเล็ก’ นอนแยกห้อง ‘ตอนโต’

sleepstrug_web_4

สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (AAP) ไม่แนะนำให้ทารกแรกเกิดนอนเตียงเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ เพราะมีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงต่อการหายใจไม่ออกของทารก ทำให้เสียชีวิตกะทันหัน (SIDS) และการเสียชีวิตอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับได้

แต่แนะนำให้พ่อแม่ลูกนอนในห้องเดียวกัน โดยให้ลูกนอนอยู่ในระยะเอื้อมถึงตลอดช่วงหนึ่งปีแรก เพื่อความสะดวกในการให้นมลูกและให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลความปลอดภัยของลูกได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเวลากลางคืน

Lynelle Schneeberg ผู้อำนวยการโครงการพฤติกรรมการนอนที่ Connecticut Children’s Medical Center ระบุว่า ข้อดีของการนอนแยกห้องเมื่อลูกอยู่ในวัยอนุบาล คือช่วยสร้างความมั่นใจให้ลูก ฝึกให้ลูกเผชิญหน้ากับความกลัว ส่งเสริมการพึ่งพาตัวเอง เรียนรู้การอยู่ตามลำพังได้อย่างเหมาะสม เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นเด็กประถมได้

เช่นเดียวกับงานวิจัยของ Chang-Kook Yang และ Hong-Moo Hahn ที่พบว่า คุณแม่ชาวเกาหลีจะให้เริ่มให้ลูกวัยอนุบาลอายุ 5 – 6 ปีเริ่มนอนแยกห้อง โดยให้เหตุผลว่า เด็กๆ จำเป็นต้องเรียนรู้ความเป็นอิสระ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่ระดับชั้นประถม ซึ่งเป็นวัยที่สามารถดูแลตัวเอง และเรียนรู้ความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเหมาะสมต่อไป

 

—อ่านบทความ: ลูกนอนสะดุ้ง: 4 สาเหตุอาการนอนผวาและตื่นบ่อยของเจ้าตัวเล็ก
อ้างอิง
ncbi.nlm.nih.gov
jensen-beds
ecosa.com.au
verywellfamily
parents

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST