READING

ทำความรู้จักกับโรคแอสเพอร์เกอร์ และกลุ่มโรค PDD (P...

ทำความรู้จักกับโรคแอสเพอร์เกอร์ และกลุ่มโรค PDD (Pervasive Developmental Disorders)

ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่คงได้ยินชื่อโรคหรืออาการที่ไม่ค่อยคุ้นหูอย่างโรค  แอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome) กันมาบ้าง เพราะหลังจากเกรต้า ธันเบิร์ก—นักเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน วัย 16 ปี ได้เปิดเผยว่าตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโรคแอสเพอร์เกอร์ แต่เธอมองว่ามันเป็นของขวัญที่ดีที่สุด ที่ทำให้เธอมองเห็นและอยากเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ทำให้ใครหลายคนเริ่มหันมาให้ความสนใจ และตื่นตัวกับโรคนี้มากขึ้น

แท้จริงแล้วนอกจากโรคแอสเพอร์เกอร์แล้วโรคหรืออาการอื่นๆ ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาการประเภทเดียวกัน ก็คือกลุ่มโรค PDD (Pervasive Developmental Disorders: PDD) หรือ ออทิสติก สเปกตรัม (Autistic Spectrum Disorder) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความบกพร่องทางพัฒนาการแบบรอบด้าน ทั้งพฤติกรรม ทักษะการใช้ภาษา ความสนใจ รวมไปถึงทักษะการเข้าสังคม ที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นไม่เป็นไปตามวัย

กลุ่มโรค PDD จะถูกแบ่งออกมาทั้งหมด 5 ประเภท ดังนี้ค่ะ

1. ออทิสติก (Autistic Disorder)

PDD_web_1

‘โรคออทิสติก’ ที่พ่อแม่หลายคนรู้จักและกังวลใจอันดับต้นๆ เพราะโรคนี้จะมีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก ทำให้เด็กชอบทำอะไรซ้ำๆ ไม่ยืดหยุ่น อีกทั้งไม่สามารถมีพัฒนาการในด้านทักษะการเข้าสังคมได้

ปัจจุบันโรคออทิสติกยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่แน่ๆ โรคออทิสติกไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูของครอบครัว หรือสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกับโรคจิตเวชประเภทอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า ฯลฯ

คุณพ่อคุณแม่จะสามารถเห็นความผิดปกติของเด็กว่าเข้าข่ายเป็นโรคออทิสติกหรือไม่ ตั้งแต่ลูกอายุ 3 ขวบขึ้นไป โดยจะเห็นได้จากพฤติกรรมที่ไม่ค่อยสบตา เล่นกับเด็กในวัยเดียวกันไม่เป็น ใช้จินตนาการไม่เป็น เช่น จินตนาการว่าก้อนหินเป็นขนมไม่ได้ ชอบจ่ดจ่อหมกหมุ่นกับของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มากเกินไป รวมถึงทักษะด้านภาษาที่มักพูดเป็นคำๆ ไม่สามารถพูดตอบ หรือเข้าใจความหมายได้

2. แอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome)

PDD_web_2

โรคแอสเพอร์เกอร์ เป็นโรคที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคออทิสติกมากแต่จะแตกต่างในแง่ของทักษะด้านภาษา คือเด็กสามารถสื่อสารเข้าใจ แต่จะไม่เข้าใจความหมายแฝง เช่น คำประชดประชันหรือมุกตลก ต่างจากโรคออทิสติกที่เด็กจะมีอาการพูดช้า พูดคุยไม่รู้เรื่อง

ในส่วนของด้านสติปัญญา เด็กที่มีอาการของโรคแอสเพอร์เกอร์จะมีระดับสติปัญญาเป็นปกติ รวมถึงในบางครั้งก็อาจดีมากเกินเด็กทั่วไปด้วยซ้ำ

คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตว่าลูกเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์หรือไม่ ได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบขึ้นไป และจะเห็นได้ชัดช่วงวัย 5-9 ขวบค่ะ ด้วยการดูจากลักษณะการเข้าสังคม เช่น เด็กจะไม่สบตาขณะคุยกับใคร จัดการอารมณ์ความรู้สึกไม่ได้ ไม่สามารถปรับตัวเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกันได้ จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป แต่หากเด็กรู้ลึกเข้าใจได้จริงเด็กจะมีความสามารถในเรื่องนั้นดีมากเลยทีเดียว

ในปัจจุบันแม้จะยังไม่มีวิธีการรักษาที่ทำให้โรคนี้หายขาดได้ แต่วิธีการช่วยสอนให้เด็กเรียนรู้ทักษะด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัว การช่วยให้เด็กเรียนรู้การเข้าสังคม ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้อาการดีขึ้นจนเด็กสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเช่นเดียวกับคนทั่วไป

3. เร็ตต์ (Rett’s Disorder)

PDD_web_3

โรคเร็ตต์ เป็นโรคที่เด็กไม่สามารถมีพัฒนาการด้านภาษา บกพร่องทางการรับรู้ภาษา รวมไปถึงการสื่อสารภาษาที่ไม่สามารถทำได้ แม้เด็กจะมีทักษะการสื่อสารที่ไม่ดี แต่เขายังต้องการสื่อสารอยู่นะคะ โดยมักจะใช้สายตา (eye pointing) เพื่อแสดงความสนใจ หรือความต้องการของตัวเขาเองเป็นหลัก

โดยหลังการคลอดจะยังไม่สามารถบอกได้ทันทีว่าเด็กเป็นโรคเร็ตต์หรือไม่ เพราะพัฒนาการทุกอย่างของเด็กจะเป็นปกติไปจนอายุ 5 เดือนขึ้นไปจึงจะเริ่มสามารถสังเกตเห็นความผิดปกติต่างๆ ขึ้น เช่น การเจริญเติบโตของขนาดศีรษะที่ผิดแปลกไป (จะเห็นได้ชัดในช่วง 5 เดือน – 4 ปี) ไม่สามารถควบคุมการใช้งานมือของตัวเองได้ การทำงานของระบบกล้ามเนื้อในการเดินไม่ดี เช่น เดินเซ หรือเดินได้ช้าและอาจเดินไม่ได้ในที่สุด

จากการวิจัยและทางการแพทย์พบว่าโรคเร็ตต์เป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรมที่ชัดมากที่สุดในกลุ่ม PDD เพราะสามารถระบุตำแหน่งยีนส์ที่เกี่ยวข้องได้ ไม่เหมือนกับโรคอื่นๆ ที่ยังคงไม่สามารถบอกได้ชัดว่าสาเหตุเกิดจากอะไรกันแน่

4. CDD (Childhood Disintegrative Disorder)

PDD_web_4

CDD หรือ Childhood Disintegrative Disorder เป็นโรคที่มีลักษณะอาการคล้ายกับโรคออทิสติก โดยหลักเกณฑ์วินิจฉัยโรคจะดูว่าเด็กมีการสูญเสียทักษะด้านอะไรไปบ้าง ได้แก่ ด้านการรับรู้ภาษา ด้านทักษะสังคมหรือพฤติกรรมการปรับตัว ด้านการควบคุมการขับถ่าย ด้านการเล่น และสุดท้ายคือด้านทักษะการใช้กล้ามเนื้อ หากเด็กสูญเสียทักษะที่กล่าวไปนั้นอย่างน้อยสองด้าน อาจเป็นไปได้ว่าเขาเข้าข่ายการป่วยโรค CDD อยู่ค่ะ

โรค CDD ไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติจากตัวเด็กได้ในช่วง 2 ขวบแรก แต่หากมีอาการจะเริ่มทันทีภายใน 2-3 เดือน และจะเกิดขึ้นก่อนเด็กอายุ 10 ปีค่ะ โดยเริ่มมีความผิดปกติด้านพัฒนาการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเห็นได้ชัด แม้แต่ตัวของเด็กเองก็สามารถรับรู้ได้ถึงความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น

โดยพฤติกรรมของคือเด็กจะหมกหมุ่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป สื่อสารพูดคุยไม่ได้ มีพฤติกรรมทำบางอย่างซ้ำๆ เคลื่อนไหวซ้ำๆ บกพร่องทางสติปัญญา รวมไปถึงอาจมีอาการชักเกร็งในบางครั้ง

5.  PDD, NOS (Pervasive Developmental Disorder, Not Otherwise Specified)

PDD_web_5

PDD, NOS เป็นอีกโรคที่ทำให้เด็กมีความบกพร่องในด้านต่างๆ เช่นเดียวกันกับโรคออทิสติก โดยความผิดปกติได้แก่ ด้านสังคมอารมณ์ ด้านการสื่อสาร และพฤติกรรมด้านความสนใจ

แท้จริงแล้วโรค PDD, NOS เป็นกลุ่มโรคที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน  แต่เป็นกลุ่มโรคที่แพทย์ใช้วินิจฉัยเด็กที่มีอาการคล้ายกับโรคทั้งสี่ข้างต้น ที่ไม่มีอาการที่ชัดเจนเฉพาะเจาะจงใดๆ เช่น เด็กเข้าข่ายที่จะเป็นโรคออทิสติก แต่ไม่ได้เริ่มมีอาการตอน 3 ขวบ และมีความรุนแรงที่น้อยกว่า แพทย์ก็จะรวมเด็กคนนี้เข้ามาอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยโรค PDD, NOS แทน เพื่อตรวจสอบ รักษาอย่างถูกต้องต่อไป

อ้างอิง
คลินิกพัฒนาการเด็ก Happy kids
honestdocs
happyhomeclinic
tddf
rajanukul
pdds

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST