READING

ฝึกลูกทำงานบ้าน: ได้ประโยชน์กับลูกมากกว่าที่คิด...

ฝึกลูกทำงานบ้าน: ได้ประโยชน์กับลูกมากกว่าที่คิด

ฝึกลูกทำงานบ้าน

การมอบหมายหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ให้ลูกรับผิดชอบ ถือเป็นหนึ่งความท้าทายของคนเป็นพ่อแม่ ที่ต้องคอยลุ้นว่าลูกจะทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายได้จริงไหม และจะยอมทำต่อเนื่องหรือว่าลองแค่ไม่กี่ครั้งก็ล้มเลิกภารกิจไปเองโดยปริยาย

แต่ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ก็รู้กันดีว่า การมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบให้ลูก รวมถึงการ ฝึกลูกทำงานบ้าน ตั้งแต่ยังเล็ก ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อให้ลูกช่วยแบ่งเบาภาระคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น แต่การ ฝึกลูกทำงานบ้าน ยังมีประโยชน์ต่อพัฒนาการ การเรียนรู้ และทักษะชีวิตหลายด้านของลูกอีกด้วย

Michaeleen Doucleff ผู้เขียนหนังสือการเลี้ยงลูกขายดีของ New York Times เรื่อง Hunt, Gather, Parent จึงแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เริ่มฝึกลูกวัย 1 ขวบ ถึง 6 ปี ให้ช่วยงานบ้านตามวัย ด้วยวิธีที่เรียกว่า ‘การจุดไฟ’ ให้เด็กๆ กระตือรือร้นที่จะช่วยงานบ้านด้วยตัวเอง โดยไม่ ‘ดับไฟ’ แห่งความกระตือรือร้นนั้นด้วยการยกเลิกภารกิจของลูก และลงมือทำเองเพื่อความรวดเร็ว หรือกลัวว่าลูกจะเหนื่อย ไม่ปฏิเสธลูกเมื่อลูกเอ่ยปากอยากช่วยทำงานบ้าน รวมถึงไม่บังคับลูกให้ทำงานที่ยากเกินไป และจูงใจลูกด้วยการติดสินบนมากเกินไป

เมื่องานบ้านสำคัญต่อเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ก็อยากเริ่มฝึกให้ลูกลองทำงานบ้านดูบ้าง แต่เพื่อให้การฝึกค่อยเป็นค่อยไป ไม่บีบบังคับ หรือฝืนใจ จนลูกไม่อยากทำต่อ เราจึงรวบรวมแนวทางฝึกลูกตั้งแต่วัยเตรียมอนุบาล ให้คุ้นเคยและเต็มใจที่จะลงมือทำงานบ้านด้วยตัวเองมาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ

1. ให้ลูกคอยสังเกตการณ์ใกล้ๆ

household_web_1

#จดจำก่อนลงมือทำ จากการศึกษาของ Lucia Alcalá นักจิตวิทยามหาวิทยาลัยของรัฐแคลิฟอร์เนีย ยกตัวอย่าง การเลี้ยงดูลูกของครอบครัวชนเผ่ามายา บนที่ราบสูงเชียปัส ประเทศเม็กซิโก พบว่า การให้ลูกๆ ได้เรียนรู้ทักษะชีวิตผ่านการทำงานบ้าน หรือกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัว จะทำให้แม่แต่ละคนรู้ดีที่สุดว่า ลูกสามารถทำภารกิจเหล่านั้นได้หรือไม่ และรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกๆ สนใจ ก่อนที่จะเริ่มมอบหมายหน้าที่นั้นให้ทีละเล็กละน้อย

นอกจากนั้น คุณแม่ชาวมายายังมักจะบอกให้ลูกวัยหัดเดินรู้จักการเฝ้าดูเพื่อเรียนรู้ เช่น ระหว่างที่แม่กำลังทอดแป้งตอร์ติญ่า ก็จะให้ลูกมาคอยสังเกตการณ์และเรียนรู้วิธีการทำอย่ใกล้ๆ หลังจากนั้นจึงหาวิธีให้ลูกได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมนั้นอย่าปลอดภัย และเมื่อรู้ว่าลูกทำได้ ก็ค่อยๆ สอนเพิ่มทักษะที่ลูกควรเรียนรู้ ก่อนจะเชื่อใจและมอบหมายให้ลูกทำภารกิจนั้นด้วยตัวเองต่อไป

2. เลือกงานบ้านที่เหมาะกับวัย (และลูกก็ชอบด้วย)

household_web_2

#ทำงานบ้านตามวัย ตามคำแนะนำของ Patricia Greenfield ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะกระตุ้นให้ลูกเรียนรู้ที่จะช่วยงานคุณพ่อคุณแม่หรือกระตือรือร้นอยากทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น ก็คือให้ลูกทำงานบ้านที่เหมาะสมตามวัยของเขา และจะให้ดียิ่งขึ้น งานนั้นควรเป็นสิ่งที่ลูกสนใจหรือเลือกเองด้วย

งานบ้านที่เหมาะสมกับวัยสำหรับเด็กวัยอนุบาล ได้แก่ เก็บของเล่นเข้าที่ ดึงผ้าปูที่นอนให้ตึงและจัดหมอนให้เป็นระเบียบ เก็บรองเท้าและกระเป๋านักเรียนเข้าที่ เก็บเสื้อผ้าไว้ในลิ้นชัก รดน้ำต้นไม้ แยกผ้าใส่แล้วลงตะกร้า เก็บจานที่กินแล้ว ช่วยตากเสื้อผ้า ช่วยเป็นลูกมือทำกับข้าว ช่วยกวาดใบไม้หน้าบ้าน ที่สำคัญคือ ให้ลูกทำอยากมีความสุขและสนุกเหมือนงานบ้านนั้นคือการเล่นอย่างหนึ่งก็ได้

#ข้อห้าม เมื่อลูกช่วยงานบ้านแล้ว ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแนะนำ สามารถเอ่ยชื่นชมความสามารถและความพยายามของลูกได้ แต่ห้ามให้รางวัล เช่น ให้เงิน หรือให้ของมีค่าเพื่อผูกมัดการทำงานบ้านหรือสิ่งที่ได้รับมอบหมาย เพราะลูกจะไม่ได้เรียนรู้ว่า การช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำงานบ้านเป็นเรื่องที่ดีและควรทำเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป

3. ให้กำลังใจ แต่ไม่กดดัน

household_web_3

#หนูทำได้ ถ้าลูกเห็นคุณพ่อคุณแม่ทำงานบ้าน แล้วเอ่ยปากขอลองเป็นผู้ช่วย หากเป็นงานที่คุณพ่อคุณแม่ประเมินแล้วว่าจะไม่เกิดอันตรายกับลูก ก็ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองทำ อย่ารีบปฏิเสธเพียงเพราะกลัวลูกทำเลอะเทอะ อย่าเพิ่งรีบสอน เพราะกลัวว่าจะทำผิด แต่ควรให้ลูกได้ลองทำด้วยวิธีที่เห็นและเรียนรู้จากการเฝ้ามองคุณพ่อคุณแม่ แล้วค่อยๆ อธิบายขั้นตอนที่ถูกต้องให้อีกครั้ง

หลังจากนั้น หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ก็คือการส่งกำลังใจ ให้ความเชื่อมั่น โดยไม่กดดันลูกมากเกินไป และหากเกิดความผิดพลาด ก็ไม่ควรดุหรือทำพฤติกรรมเชิงลบกับลูก เพราะจะทำให้ลูกไม่กล้าลงมือทำอีกต่อไป

4. พวกเราคือทีมเดียวกัน  

household_web_4

#ทีมพ่อแม่ลูก เพื่อให้ลูกเห็นว่า งานบ้านจะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จะต้องช่วยแบ่งเบาซึ่งกันและกันทั้งครอบครัว

 David Lancy ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยรัฐยูทาห์ และผู้เขียนหนังสือ The Anthropology of Childhood: Cherubs, Chattel, Changelings แนะนำวิธีที่เรียกว่า ‘หลักสูตรรวมพลัง’ ด้วยการทำงานร่วมกันทั้งครอบครัว เพื่อให้เด็กๆ ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวมากจนเกินไป

ในระหว่างทำงานบ้าน คุณพ่อคุณแม่ต้องสร้างบรรยากาศให้คึกคักด้วยการทำให้ลูกเห็นว่างานบ้านเป็นเรื่องสนุก และไม่ใช่ภาระของคนใดคนหนึ่งเสมอไป คุณแม่อาจจะแต่งเพลงที่เกี่ยวข้อง คุณพ่ออาจจะเปลี่ยนงานบ้าน ให้เป็นเกมหรือสนามแข่งขัน เช่น ใครทำเสร็จก่อน หรือใครทำได้สะอาดกว่ากัน และเมื่อทำแบบนี้บ่อยๆ ลูกก็จะรู้สึกสนุกกับการทำงานบ้านต่อไป

 

—อ่านบทความ: 5 เทคนิคที่จะช่วยให้ลูกสนุกกับการทำงานบ้าน โดยที่คุณแม่ไม่ต้องบ่น

 

อ้างอิง
sleepingshouldbeeasy
parents
parents

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST